วัวข้ามแดน

วัวข้ามแดน

| | Share

“ทำไร่ ทำนา มันไม่พอกิน เลยลองต้อนวัวมาขายเหมือนกับเพื่อน ๆ ดูบ้าง” ลุงวัยสี่สิบต้น ๆ บอกเหตุผลของการเข้าสู่อาชีพพ่อค้าวัวข้ามแดนให้ผมฟังในวันที่ได้พบเจอกับเขาเป็นครั้งแรก เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาลุงและเพื่อน 32 คน ต้อนวัว 32 คู่ ข้ามแม่น้ำสาละวินในเขตประเทศพม่า แล้วลัดเลาะอ้อมป่าเขามายังชายแดนไทยที่ริมลำน้ำเมยในเขตจังหวัดตาก

 “เจอทหารกลุ่มไหน เขาก็อ้างตัวเองว่าเป็นระดับหัวหน้า แล้วเราก็ต้องจ่ายเงินให้กับเขา” น้ำเสียงของลุงบ่งบอกถึงความเหนื่อยหน่ายกับประสบการณ์การเดินทางจากพม่ามายังประเทศไทย  แม้จะพยายามหลบเลี่ยงทหารอย่างสุดความสามารถ แต่ลุงก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะกว่าจะนำวัวข้ามมายังฝั่งไทยได้ต้องใช้เวลาในการเดินเท้านานถึง 5 วัน 5 คืน ถึงจะเดินทางเวลากลางคืนเป็นหลักเพื่อเลี่ยงกับการพบเจอกับทหาร แต่ลุงก็ยังต้องเจอทั้งด่านของทหารพม่าและกองกำลังชนเผ่าต่าง ๆ  ราว 12 – 13 ด่าน ครั้งนี้ลุงได้ซื้อวัวจากหมู่บ้านโนะหล่อปลอในจังหวัด ดูเสอะทุ  รัฐกะเหรี่ยง ในราคาคู่ละ 650,000 จั๊ต(ประมาณ 16,250 บาท) แต่กลับขายได้เพียงคู่ละ  550,000 จั๊ต(ประมาณ 13,750 บาท)  และยังต้องจ่ายค่าต้อนวัวทั้งฝูงให้กับพวกทหารรวมถึง 4 ล้านกว่าจั๊ต(ประมาณ100,000 บาท) ผมถามลุงว่าถ้าอย่างนั้นต้อนวัวมาขายเยอะขึ้นเพื่อให้ได้กำไรเยอะขึ้นได้ไหม ลุงบอกว่าผู้ที่ต้อนวัวคนหนึ่งสามารถต้อนวัวได้เพียงแค่ 2 ตัวต่อการเดินทางหนึ่งครั้งเท่านั้น เพราะวัวแต่ละตัวมาจากต่างที่จึงไม่คุ้นกันมากนัก นอกจากเป็นแม่วัวที่มีลูกติดมาด้วยจึงจะสามารถต้อนมาพร้อม กันได้ 4-5 ตัวต่อคน

ไม่เพียงแต่ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางพ่อค้าวัวยังต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากระหว่างเดินทาง บางคนต้อนวัวมาไกลจากชายแดนอินเดีย-พม่า บ้างต้อนมาจากมณฑลอิระวดีของพม่า  ระยะทางอันยาวไกลทำให้วัวบางตัวต้องตายระหว่างทาง พ่อค้าวัวบางคนมาถึงชายแดนไทยก็เป็นไข้ป่าต้องเสียเวลารักษาอยู่ที่นี่ บางครั้งในพื้นที่เกิดสงครามก็ต้องรอให้เหตุการณ์นั้นสงบลง ครอบครัวข้างหลังจึงต้องคอยท่าหัวหน้าครอบครัวกลับบ้านนานเป็นเดือนๆ   

ด่านนำเข้าสัตว์สะพานขาว หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โต่วา” คือจุดหมายหลักของลุงและพ่อค้าวัวควายจากประเทศพม่า ที่นี่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับค้าขายสัตว์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับให้พ่อค้าวัวข้ามแดนได้ค้าขายกับพ่อค้าชาวไทย ลักษณะการค้าที่นี่จะใช้สกุลเงินจั๊ตของพม่าเป็นหลัก มีคนปกาเกอะญอไทยเป็นผู้ติดต่อประสานงานการค้าขายระหว่างพ่อค้าจากประเทศพม่ากับพ่อค้าชาวไทย นายหน้าจะมีรายได้จากการประสานงานขายวัวตัวละ 450 บาท แต่จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับอาหารของวัวควายทั้งหมดจนกว่าจะขายได้ ในแต่ละเดือนตลาดแห่งนี้จะมีวัวจากประเทศพม่าเข้ามามากกว่า 200 ตัว ช่วงหน้าร้อนจะมีการต้อนวัวเข้ามามากกว่าช่วงอื่นๆ

ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อราคาของวัวคือ อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน หากค่าเงินบาทอ่อนลง พ่อค้าจากพม่าก็จะมีกำไร แต่หากค่าเงินแข็งขึ้นก็เสี่ยงที่จะขาดทุนสูงเช่นกัน ส่วนปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็คือผลผลิตทางธรรมชาติ ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนมีผลผลิตทางธรรมชาติเยอะขึ้นพ่อค้าชาวไทยที่เคยรับซื้อวัวก็จะเปลี่ยนไปทำการค้าด้านอื่น เช่นค้าเห็ด หน่อไม้แทน

ปัจจุบันมีพ่อค้าคนไทยอยู่ 4 คน ซึ่งมาจาก อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด  และ จ.เชียงใหม่ และมีนายหน้าในพื้นที่ประมาณ 8 คน  เมื่อวัวถูกต้อนมาถึงที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์อำเภอเข้ามาตรวจสอบ ฉีดวัคซีน พร้อมติดหมายเลขวัวในวันพฤหัสบดี โดยคิดค่าบริการทั้งสิ้น 900 บาท ต่อวัว 1 ตัว  เมื่อวัวผ่านกระบวนนำเข้าสัตว์ที่ถูกกฎหมายแล้ว พ่อค้าคนไทยก็จะทำเครื่องหมายสีแดงไว้ที่เขาวัวในตัวที่เขาเลือกซื้อ จากนั้นก็จะต้อนวัวขึ้นบนรถสิบล้อมุ่งหน้าไปยังตลาดค้าวัวควายในอำเภอแม่สอด สำหรับตัวที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายนั้นก็ต้องรอเสนอขายให้กับพ่อค้าคนอื่นๆต่อไป

ผมไม่อาจรู้ว่าว่าวัวเหล่านี้จะผ่านมือพ่อค้าอีกกี่คน จะแปรรูปเป็นสินค้าออกมากี่อย่าง ส่งออกไปอีกกี่ประเทศ  สร้างความร่ำรวยให้กับใคร หรือให้ความอิ่มหนำสำราญอีกกี่ครอบครัว แต่สิ่งที่ผมรับรู้ได้ก็คือก้าวแต่ละก้าวของวัวที่เดินข้ามแดนคือความหวังของพ่อค้าที่ก้าวไปพร้อม ๆ กัน

Related