การสื่อสารเรื่องโลกร้อนและความเท่าเทียมทางเพศผ่านสารคดีของนัน-นันทชัย ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวเป็นเนื้อหนังในชีวิต

การสื่อสารเรื่องโลกร้อนและความเท่าเทียมทางเพศผ่านสารคดีของนัน-นันทชัย ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวเป็นเนื้อหนังในชีวิต

| | Share

คนธรรมดาวันนี้ เราจะได้นั่งคุยกับนัน-นันทชัย ภู่โพธิ์เกตุ ศิษย์เก่าของสำนักเพื่อนไร้พรมแดนที่ผ่านงานกับเราในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดนตั้งแต่ยุคนิตยสารเพื่อนไร้พรมแดน มาจนถึงวันที่เธอออกไปทำงานในโลกภาคประชาสังคมเต็มตัวในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ มาจนถึงวันนี้ที่เธอยังคงอยู่ในร่มเงาเดิม 

แต่เพิ่มเติมคือ เธอสื่อสารผ่านภาพยนตร์

“งานเชิงสังคมมันคือชีวิตของเรา” เธอย้ำตลอดบทสนทนา

จากคนทำงานนิตยสารธุรกิจที่เบนสายมาทำงานภาคประชาสังคมผ่านการผลิตสื่อ นันคนนี้ได้เรียนรู้โลกอีกหนึ่งใบที่มีผู้คนหลากหลายซึ่งอุทิศตนให้กับสังคม ทำงานกับผู้ที่เจอความยากลำบาก และมันค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณของเธอ นันจึงยังเลือกเส้นทาเดิมผ่านการทำงานภาคสังคมในประเด็นเรื่องเพศวิถี และไปต่อด้วยการเล่าเรื่องของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ทั้งปัญหาที่เขาเจอ วิถีชีวิตของคนเหล่านั้น ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนั้นผ่านเครื่องมือต่างๆ 

ความพยายามของนันมีผลผลิตคือ สารคดีสองชิ้นที่ทำงานทั้งในแง่การส่งสารและเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน ทั้งหนองน้ำพุในความทรงจำ ที่หลอมรวมเอาความเชื่อด้านจิตวิญญาณ และความเปลี่ยนแปลงของหนองน้ำพุตอนล่างจากนโยบายการพัฒนาทัศนียภาพมารวมกัน และฝ้ายริมโขง กับชีวิตคนเพศหลากหลายในการทอผ้า ที่คว้ารางวัลชมเชยจากเวที Thailand International LGBTQ+ Film & TV Festival มาได้อย่างสง่างาม รวมถึงเข้าชิงรางวัลดุ๊ก ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 28 ที่กำลังจะประกาศผลในช่วงสิ้นเดือนธันวาคมนี้

ถ้าเทียบเรื่องราวต่อไปนี้ของนันเป็นสารคดีสักเรื่อง มันคงว่าด้วยการตามหาตัวเองของคนๆ หนึ่งที่ย้ายจากวงการหนึ่ง ไปอีกวงการหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งเส้นทางตลอดการค้นหาตัวเองของเธอคือ การผจญภัยที่หลากหลาย เข้มข้นไปด้วยอุปสรรคที่พบเจอ ขนาดของปัญหาที่ทั้งเล็กใหญ่ และการสำรวจจิตใจจนสามารถเลือกเส้นทางเดินของตัวเอง หยัดยืน และเชื่อมั่นในมันได้อย่างเต็มที่

เราลืมบอกไปนิดนึงว่า นันมี “หมอดู” เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทั้งสองอย่างที่เธอทำควบคู่กัน เหมือนจะดูไปด้วยกันไม่ได้ ดังนั้น มาดูกันว่า ความแตกต่างระหว่างอาชีพที่เธอยึดถือ และอุดมการณ์ที่เธอเชื่อมั่น จะถูกเชื่อมโยงจนเป็นเรื่องเดียวกันได้มั้ย

ซีนหนึ่ง เทคหนึ่ง แอ๊กชั่น!

ทำงานในพรมแดนของเพื่อนไร้พรมแดน

เรื่องเล่าบนเส้นทางนี้ของนันเริ่มตั้งแต่ที่เธอสนใจประเด็นทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่ได้อินในระดับซึมลึก มากที่สุดก็แค่เข้าค่ายอาสาของมหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นก็คือการเคลื่อนไหวทางสังคมเท่าที่เธอพอจะทำได้ จนถึงวันที่เธอจบการศึกษาและเข้าทำงานในนิตยสารธุรกิจหัวหนึ่ง เธอทำงานอยู่ที่นั่น 3 ปีก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลง

ถึงนิตยสารฉบับนั้นปิดลง แต่นิตยสารฉบับใหม่ก็เปิดขึ้น วันหนึ่งนันได้อ่านนิตยสารฉบับนั้นที่มันทำให้เธอตัดสินใจสมัครเข้าไปทำงานที่นั่น ซึ่งนิตยสารฉบับนั้นคือ นิตยสารเพื่อนไร้พรมแดน ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางอุดมการณ์และเส้นทางชีวิตในสายวิชาชีพของเธอ

“เราเจอนิตยสารฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เราก็ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากหรอก แต่เรามีความสนใจทางด้านนี้อยู่บ้าง เราก็เลยลองสมัครงานที่นั่นดู ก็เลยเข้ามาทำงานที่เพื่อนไร้พรมแดน”

ยุคหนึ่งที่นิตยสารเฟื่องฟูอย่างถึงขีดสุดในประเทศไทย เพื่อนไร้พรมแดนใช้นิตยสารเป็นเครื่องมือในการสื่อสารประเด็นผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งแจกจ่ายแบบฟรีๆ ในหลายพื้นที่ทั้งในและนอกจังหวัดเชียงใหม่ การนำเสนอประเด็นเหล่านี้บนหน้ากระดาษมีทั้งเสน่ห์ ความสวยงาม และความท้าทายที่นันได้เรียนรู้จากมันเป็นอย่างมาก

“นิตยสารของเราในตอนนั้นจับประเด็นหลักๆ อยู่ 3 อย่างคือ ผู้ลี้ภัย, แรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งเราทำอยู่สองอย่างคือ สัมภาษณ์เพื่อนำมาททำบทความลงนิตยสาร แหล่งข้อมูลของคนที่เพื่อนไร้พรมแดนสัมภาษณ์ก็เป็นภาคีร่วมงานในองค์กรใหญ่หลายๆ องค์กร กับอีกส่วนหนึ่งคือ เราก็จะรับเอาข้อมูลจากผู้ลี้ภัย จากคนข้ามชาติ ข้ามแดน ที่เขาเขียนเป็นงานของอาสาสมัคร เอามาเรียบเรียง เพื่อที่จะเผยแพร่ในเว็บไซต์ 

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้ เราเรียนรู้เรื่องการเขียนและเรียบเรียงคอนเทนต์ มีพี่ๆ ในทีม ช่วยสอนเราในเรื่องของการเขียน ในเรื่องของการบรรณาธิกรต่างๆ ทำให้เราได้วิธีการคิดประเด็นที่เฉียบคมขึ้น แล้วการสัมภาษณ์เอง ก็มันไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ลี้ภัยหรือแรงงานข้ามชาติ แต่ว่ามันเห็นความเป็นมนุษย์ในทุกสิ่ง เวลาทำงานตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะโฟกัสแค่กลุ่มของเรา แต่เวลาที่เราไปเจอกลุ่มอื่นเช่น พนักงานบริการ หรือว่ากลุ่มเพศหลากหลาย ซึ่งสมัยนั้นเราอาจจะยังไม่ได้ไปแตะ แต่เราก็เข้าใจเขา เราก็จะมีความเข้าอกเข้าใจเขา มีความอยากที่จะพูดคุยหรือเข้าใจเขามากกว่า 

“ตอนนั้นเราได้เรียนหลักสูตรอะไรบางอย่างที่ทำให้เราได้เรียนรู้โลก ได้เรียนรู้การทำงานด้วย ได้เรียนรู้ชีวิตของคนด้วย มันดีมากสำหรับเราในเวลานั้น” นันสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในพรมแดนของเพื่อนพรมแดน

ออกนอกพรมแดนไปทำประเด็นที่หลากหลาย

หลังจากนั้น นันออกจากเพื่อนไร้พรมแดนออกมาทำงานกับโครงการสตรีนานาชาติพันธุ์ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำงานด้านประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสุขภาพของคนชายขอบ และประเด็นสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชนในชุมชน 

คราวนี้นันไม่ได้แค่เขียนหนังสืออย่างเดียวแล้ว แต่นันได้จับงานมัลติมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ มีทั้งทำกราฟิก ถ่ายวิดีโอ ถ่ายภาพ ซึ่งด้วยการทำงานที่หลากหลายแต่ยังไม่คุ้นชิน ย่อมเกิดความผิดพลาดอยู่แล้ว สิ่งที่นันมองเห็นว่าเป็นประโยชน์มากๆ คือ การได้รับฟีดแบคอย่างตรงไปตรงมา และการเปิดโอกาสขององค์กรให้ได้ “ลอง” ทำอะไรทำอะไรใหม่ๆ ที่นันไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งจากตรงนี้ทำให้นันได้ใกล้ชิดชุมชนคนทำงานเคลื่อนไหวทั้งผู้หญิง เด็ก เยาวชน และเพศหลากหลาย

“นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้มีสัมพันธ์กับคนที่ทำงานในประเด็นเรื่องเพศ แต่ด้วยความที่เป้าหมายหลักของมันคือการทำงานกับผู้หญิงและเยาวชน เราก็เลยยังไม่ได้ทำงานเรื่อง LGBTQ+ แบบเต็มตัว เพียงแต่ว่าก็มีการทำงานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) มูลนิธิเอ็มพลัส ก็ทำงานร่วมกัน” นันขยายความ

จนถึงวันที่นันลาออก นันก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ภาคประชาสังคมในการผลิตสื่อเพื่อรณรงค์ในโอกาสต่างๆ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เธอได้สำรวจตัวเอง ถึงเส้นทางที่เธอจะเลือกเดินต่อไป

เข้าสู่พรมแดนสารคดีเพราะคนตัวเล็กๆ

นอกจากการรับจ้างผลิตสื่อแล้ว อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่นันเห็นคือ การเป็น “นักเล่าเรื่อง” ที่ขับเคลื่อนในประเด็นที่เธอเชื่อมั่น ซึ่งจากการที่เธอทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนต่างๆ เธอมองเห็นว่า เรื่องของ “คนตัวเล็กตัวน้อย” ที่เปลี่ยนสังคมทั้งการทำงานในเชิงนโยบาย การลงมือทำด้วยตัวเอง หรือคนตัวเล็กๆ ที่ตัวเล็กกว่าเดิมเพราะการถูกกดทับและกดดันจากสังคม มัน “โดนใจ” เธอมาก

ซึ่งเราอยากเข้าใจว่าทำไม

“ด้วยความที่เราเติบโตมากับหนังสือ นิตยสาร เรื่องสั้น นิยาย การที่เราได้เรียนรู้ชีวิตคนมันทำให้เราได้เรียนรู้โลก เราไม่ได้มีโอกาสที่จะมีประสบการณ์แบบนั้นหรอก ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือเป็นประสบการณ์ที่ร้าย แต่ว่าการที่ได้อ่านหรือได้เสพสื่ออะไรบางอย่าง มันทำให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆ แล้วถ้าเราได้เรียนรู้ เราได้รู้จักคนมากขึ้น ได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น มันจะทำให้เราเข้าอกเข้าใจกัน ความขัดแย้งหรือว่าเรื่องที่มันมีปัญหากันมันก็จะลดลง 

“เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่า ยังไงซะงานสื่อสารก็เป็นงานที่ต้องทำ คนไม่รู้จักกะเทย คนรู้สึกว่ากะเทยก็ใช้ชีวิตพอแล้วนี่ ดีแล้วนี่ สังคมก็ยอมรับแล้วนี่ แต่จริงๆ แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยมีความเจ็บปวดมากมาย มีเรื่องที่ถูกกระทำอยู่มากมาย โดยที่เขาไม่มีช่องทางที่เขาจะพูดออกมา ถ้าสังคมได้รับรู้ว่าเขาต้องเผชิญหน้ากับอะไร อะไรที่ยังเป็นสิ่งที่เป็นช่องว่าง อะไรที่เราช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ มันก็น่าจะดีต่อกัน” นันเล่า

ถึงอย่างนั้นแล้ว นันเลือกเล่าประเด็นเพศหลากหลายก่อน เพราะด้วยความที่นันก็เป็นสาวข้ามเพศแล้ว การเล่าเรื่องตัวเอง ก็น่าจะเป็นเรื่องที่สารออกมาได้ดีมากที่สุด โดยต้องเลือกเพื่อนในชุมชนที่มีปัญหา ชุดประสบการณ์ หรือประเด็นที่ต้องการสื่อสารคล้ายๆ กัน

ส่วนเรื่องเงินๆ ทองๆ นันต้องใช้ความพยายามหน่อยในการหาแหล่งทุนสำหรับทำสารคดีหรือทำสื่อซึ่งน้อยมากอยู่แล้วในประเทศไทย แต่อย่างที่เราบอกว่า นันยังมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ว่าจ้างนันไปถ่ายสื่อเคลื่อนไหวอยู่แล้ว นันจึงใช้โอกาสในการถ่ายงานนั้นแหละ แนบประเด็นที่ต้องการสื่อสารเข้าไปด้วย

ภาวะโลกรวนไม่มีพรมแดน

ไม่ว่าจะฝ้ายริมโขง และหนองน้ำพุในความทรงจำ สารคดีทั้งสองชิ้นนี้มีประเด็นร่วมกันที่สำคัญมากคือ ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change 

อย่างฝ้ายริมโขง สารคดีว่าด้วยอุปสรรคของชาวบ้านริมโขงที่ปลูกฝ้ายได้น้อยลง และส่งผลต่อชีวิตของ “กะเทย” ริมโขงที่ทอผ้าฝ้ายเป็นอาชีพ ทั้งสองเรื่องสะท้อนผลกระทบจากภาวะโลกรวนได้อย่างชัดเจน ซึ่งฝ้ายริมโขง นันได้เงินทุนสำหรับสารคดีจากแหล่งทุนแห่งหนึ่ง 

ซึ่งการทำสารคดีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เธอคิดแค่ว่า สารคดีนี้ กะเทยจะอยู่ตรงไหนในนั้น

“ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ กะเทยอยู่ตรงไหน เราจะใช้วิธีนี้ก็คือว่าเอาหัวข้อมาวางก่อนแล้วเราก็จะเชื่อมโยงว่าว่ากะเทยอยู่ตรงไหนของประเด็นนี้ มันก็ทำให้เราพบว่าจริงๆแล้วเวลาที่เราพูดเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ มันดูห่างไกลกับกะเทยมากเลย จริงๆ คนในพื้นที่เขาเดือดร้อนนะ กะเทยใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตก็มีอยู่ เช่นกะเทยที่ริมโขงเขาก็ทอผ้า โอเคแหละว่า การที่ประเทศมหาอำนาจปล่อยน้ำมาไม่เป็นเวลา มันทำให้ต้นฝ้ายตาย คนที่ได้รับผลกระทบมันก็มีทุกคนแหละทั้งชาย ทั้งหญิง ทั้งกะเทย

“แต่เราต้องอย่าลืมว่าคนที่เป็นกะเทยไม่ได้เข้าถึงอาชีพได้อย่างหลากหลายเท่ากับเพศอื่น ดังนั้นเขาจึงยึดเอาอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผ้าทอพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก กะเทยที่ริมโขงทำอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักและเป็นความภาคภูมิใจของเขาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นในเมื่อทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเปลี่ยนแปลง ดอกฝ้ายหายไป คนที่เป็นกะเทยมันได้รับผลกระทบมากกว่าเพศอื่น 

“เรารู้สึกว่าในประเด็นของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ คนทุกคนได้รับผลกระทบเท่ากันแหละ คนในเมืองคนนอกเมือง แต่คนที่เป็นคนชายขอบจริงๆ อย่างคนที่เป็นกะเทย เขาอาจจะมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรหรือว่าโอกาสบางอย่างน้อยกว่าคนทั่วไป ดังนั้นไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร เขาก็จะได้รับผลกระทบที่แรงกว่า เราก็เลยเลือกเล่าเรื่องของคนกลุ่มนี้” นันขยายความ

สำหรับหนองน้ำพุในความทรงจำ สารคดีที่นันพาไปสำรวจหนองน้ำพุ แหล่งน้ำขนาดเล็กในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เคยสร้างความมหัศจรรย์เพียงแค่ปรบมือ น้ำในแหล่งจะพวยพุ่งขึ้นมาเหมือนน้ำพุ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศ หนองน้ำพุก็ไม่ใช่แหล่งน้ำมหัศจรรย์อีกต่อไป

“สำหรับเรา มันเป็นสารคดีที่ส่วนตัวมากๆ นะ” นันว่า

ต้นเรื่องมาจากที่นันทำงานในโครงการสตรีนานาชาติพันธุ์ ทำให้เธอสนิทสนมกับชุมชนบ้านจ้องแทบจะทุกครัวเรือน ซึ่งทุกคนมีหนองน้ำพุเป็นจุดร่วมในการทั้งใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากแหล่งนั้น รวมถึงความผูกพันส่วนตัว ด้วยความที่นันศึกษาด้านจิตวิญญาณหรือ Spiritual อยู่แล้ว เธอจึงลองเอาเครื่องมือนี้มาใช้เป็นวิธีการเล่าเรื่อง ผ่านการให้ชาวบ้านเสี่ยงเซียมซี ก่อนจะเล่าเรื่องจากคำที่เสี่ยงทายได้ โดยยึดโยงกับเรื่องของหนองน้ำพุ

“มันเป็นสารคดีที่เรียกว่าสารคดีสั้นเชิงงมงาย แล้วเราก็รู้สึกว่ามันก็ประสบความสำเร็จในมุมของมันนะ มันอาจจะไม่ได้ไปฉายที่ไหน แต่เรารู้สึกแฮปปี้ แล้วเอามาฉายดูกันในชุมชน เวลาเราดูกันเองก็มีความสุข ก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในเรื่องราวของมัน” นันเล่า

ผลลัพธ์สู่การไปต่อที่ไม่มีพรมแดน

ถึงแม้ว่าหนองน้ำพุในความทรงจำ จะยังได้ฉายแค่กลุ่มเล็กๆ ในชุมชนบ้านจ้อง แต่กับฝ้ายริมโขงเอง มันค่อยๆ เดินทางออกไปให้ผู้คนได้เห็นมันมากขึ้น ทั้งการออกฉายในระดับพื้นที่ และการถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสารคดีที่ถูกฉายในงาน Thailand International LGBTQ+ Film & TV Festival

“ตอนแรกที่เราทำฝ้ายริมโขง เราคาดหวังแค่ฉายในชุมชนจริงๆ นะ เพราะว่าเราไม่ใช่คนที่ถ่ายหนังเก่ง ไม่ใช่คนที่เป็นผู้กำกับที่ดีหรือมีเทคนิคที่ดี เราแค่มั่นใจในประเด็นของตัวเองเฉยๆ แต่ว่าในส่วนอื่นๆ เราก็ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่คาดหวังว่าหนังเราจะเป็นหนังประกวดหรือหนังรางวัลอะไร 

“สิ่งหนึ่งที่เราบอกกับผู้ชมก็คือว่า หนังเรื่องนี้เราจะทำเพื่อที่จะเล่าให้คนที่เป็นกะเทยหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศฟังว่า สิ่งแวดล้อมมันส่งผลกระทบต่อคุณนะ คุณอาจจะต้องกลับมาใส่ใจกับเรื่องนี้ แล้วก็เล่าให้คนในพื้นที่ฟังว่าไม่ว่าจะเพศอะไร ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็จะได้รับผลกระทบจากเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เพราะเป้าหมายเรามีแค่นี้เอง เราแค่อยากจะเล่าให้คนสองกลุ่มนี้ฟัง พอหนังมันฉายในพื้นที่ เราก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว โดยที่หนังเรื่องนี้เราไม่ได้เป็นคนหยิบไปฉายเอง แต่มันมีเพื่อนๆ มีองค์กรในพื้นที่ที่เขาหยิบเอาหนัง ขอเอาหนังเรื่องนี้ไปฉาย เรายังรู้สึกว่ามันมีคนเห็นคุณค่า

“ส่วนที่หนังเข้าเทศกาลฯ เราดีใจที่หนังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลใหญ่แบบนั้น ซึ่งเราไม่เคยคิดฝันมาก่อน ด้วยเราก็เห็นช่องว่าง แผลเป็นเยอะ แต่เราก็ดีใจที่ว่าเขาเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็มีความหมายกับเรานะ เวลาได้รางวัลหรือว่าได้รับการชื่นชม คนทำงานมันก็ดีใจ มันก็ภูมิใจเป็นเรื่องปกติ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เราได้เล่าเรื่องของเราออกไปให้มันกว้างขึ้น แล้วเรามองว่าการที่เราได้ไปอยู่ในเทศกาลหรือการที่เราได้ถูกพูดถึง มันก็สามารถที่จะทำให้เราเข้าถึงทุนต่อไปในอนาคตได้” นันถอดบทเรียนให้เราฟัง

“เป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะออกจากพรมแดนของการทำงานเคลื่อนไหว”

“การทำงานเคลื่อนไหวสำคัญกับคุณ และสำคัญกับชุมชนยังไงบ้าง” เราถาม

“ได้ตอบสนองคุณค่าในตัวเอง” นันตอบเราทันที

“มนุษย์ถ้าไม่ได้ทำงานมันจะไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้น งานคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การได้ทำหนังแล้วได้บอกเล่าเรื่องราวแล้วมีคนเข้าใจมัน เราก็รู้สึกว่ามันเป็นคุณค่าของเรา เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำออกไป บางทีมันอาจจะเป็นการทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าอยู่ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราทำออกไปมันอาจจะไปสร้างคุณค่ากับคนอื่น ที่เราก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 

“ส่วนของชุมชนเอง ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะมีส่วนอะไรมากมาย เพราะว่าเราเป็นแค่จุดเล็กๆ ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่ว่าก็โอเค เราก็แฮปปี้ที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวของผู้คน แล้วก็รู้สึกว่ามันก็เหมือนกับงานเดิมๆ ที่ทำ คือถ้ามันได้ไปถึงคนในระดับนโยบายหรือคนที่ทำงาน มันก็ดี แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เราก็รู้สึกว่าฉันได้เล่าแล้ว หน้าที่ของเราคือเล่า ส่วนอื่นๆ จักรวาลก็จะจัดสรรเอง” นันตอบเรา

“แล้วถ้าวันนี้คุณไม่ได้อยู่ในวงจรของการเคลื่อนไหว คุณคิดว่าตัวเองจะเป็นยังไง” เราถามต่อ

“เป็นไปไม่ได้หรอก” นันตอบเราทันที

นันเล่าให้เราฟังประกอบคำตอบว่า หลังจากที่เธอแยกจากเพื่อนไร้พรมแดนไป เธอไปทำงานอยู่ที่บริษัททัวร์แห่งหนึ่งอยู่ครึ่งปี ต่อให้เงินเดือนเยอะแค่ไหน เธอกลับพบว่าเธอไม่เจอคุณค่าในตัวเองเลย นันจึงค้นพบว่า คุณค่าของเธอคือการทำงานเคลื่อนไหวจริงๆ

ซึ่งเธอบอกว่า อาชีพดูดวงของเธอ ก็นับเป็นการเคลื่อนสังคมอย่างหนึ่งด้วย

“การดูดวงของเรามันไม่ใช่แค่การเปิดมาแล้วทำนายว่าพรุ่งนี้คุณจะรถชน แต่ว่ามันคือการบอกว่าคุณจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาทนะ เรารู้สึกว่ามันก็คือการทำงานขับเคลื่อน และมันก็อยู่ในเนื้อในตัวเราตลอด เพราะฉะนั้นก็คิดไม่ออกว่าถ้าตัวเองไม่ได้ทำตรงนี้จะเป็นยังไง เพราะว่าทุกวันนี้มันก็ทำอยู่ตลอด”

ก่อนเราจากกัน นันเล่าถึงเป้าหมายในชีวิตที่เธออยาก “สยบยอม” ต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในโลก ที่เรามองว่ามันคือแง่คิดที่เธอถอดออกมาได้จากการทำสารคดีว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศว่า มนุษย์เรามีเจตจำนงเสรีในการใช้ชีวิตก็จริง แต่เราต้อง “สยบยอม” ต่อธรรมชาติบ้าง 

“เรารู้สึกว่ามนุษย์ควรที่จะสยบยอมต่อธรรมชาติ ทุกคนมีเจตจำนงเสรี ทุกคนสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าจะทำอะไร เพียงแต่ว่าจริงๆ แล้ว สิ่งๆ นี้ที่เรามีมันเป็นแค่โดมที่มันล้อมเราไว้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเป้าหมายในชีวิตของเราคือการสยบยอมต่อสิ่งที่มันยิ่งใหญ่ ต่อธรรมชาติ ต่อความเชื่อบางอย่าง 

“ยิ่งคนเราตัวเล็กลง ยิ่งขัดแย้งกันน้อยลง ยิ่งอ่อนโยนมากขึ้น ยิ่งปล่อยวางได้มากขึ้น ก็รู้สึกว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความยึดติดว่าฉันจะต้องนั่นนี่ แล้วก็รู้สึกว่าถ้าทุกคนตัวเล็กเท่ากัน เราสัมพันธ์กันแบบเราเท่ากัน ไม่ต้องแข่งกันใหญ่ มันก็น่าจะดีต่อกัน เพราะว่าตอนนี้ทุกคนคือมันมีอัตตาข้างใน มันทำให้ทุกคนตัวใหญ่หมดเลย 

“อย่างเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเรื่องน้ำท่วมที่ผ่านมา มันก็มาจากการที่คนแข่งกันตัวโต แข่งกันหาผลประโยชน์ เราไม่เคารพต่อทรัพยากรธรรมชาติ เราไม่เคารพต่อพลังที่มันยิ่งใหญ่กว่าเราเลย วันนึงถ้าสมมุติฝนตกลงมา ใครจะไปรู้ว่า 2 วันที่แล้วมันยังตกเบาๆ อยู่เลย แต่อีก 2 วันต่อมาโคลนท่วมแม่สาย นี่มันคือเรื่องของการที่เราบางทีมันไม่ได้ยอมสยบต่อธรรมชาติ

“แล้วเมื่อถึงเวลาที่เขาเอาคืน มันเจ็บปวดมากๆ” นันส่งท้าย

เรื่อง: อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์
ภาพ: นันทชัย ภู่โพธิ์เกตุ

Related