ซันโว: ทศวรรษของการนำศาสตร์การละครสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ซันโว: ทศวรรษของการนำศาสตร์การละครสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

| | Share

นี่คือดาวอีกดวงที่กำลังฉายแสงในวงวารการเคลื่อนไหว และวงนักการละครเชียงใหม่

ซันโว-ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์ คือนักการละครอิสระ ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะนักศึกษาการละครรุ่นแรก จนมาถึงการเดินกว่า 10 ปีในโลกการละคร การเป็นคนละครคนหนึ่งที่ยังคงทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเบื้องหน้าผ่านการแสดง โปรดิวซ์ ทำงานเบื้องหลังไม่ว่าจะเสื้อผ้า หน้า ผม พร๊อพ หรือการบริหารจัดการอะไร เธอก็เอาอยู่

เธอมีโอกาสร่วมงานกับเพื่อนไร้พรมแดนผ่านงานละครเรื่อง The Ordinary ละครที่สื่อสารการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญที่ไม่สบยยอมต่อความอยุติธรรม เธอเรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่ สนทนากับพี่น้องที่กำลังเผชิญความยากลำบากบางประการ ละครเรื่องนี้คือการเปล่งเสียงของซัลโวเพื่อพี่น้องและ “เพื่อนไร้พรมแดน” ทุกคน ให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นกว่าเดิม

วันนี้ซัลโวเพิ่งเสร็จสิ้นการทำงานเบื้องหลังหลายๆ ส่วนของ Hello/Goodbye งานละครของมีน-ฉัตรชัย สุขอนันต์ จึงใช้เวลามาสวัสดีทักทาย และเล่าเส้นทางการเป็นนักการละคร ที่ไม่ได้แค่เรียนรู้ศาสตร์การเล่าเรื่อง แต่ยังมีเรื่องที่เธอปรับใช้จากสัมมาชีพที่เธอยึดถือ เพื่อเอามาสื่อสารประเด็นสังคม และการเคลื่อนไหวเพื่อเพื่อนไร้พรมแดนของเรา

องก์ที่ 1
นักศึกษาการละครรุ่นที่ 1

“ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราเลือกเอกการละคร แล้วก็โชคดีเป็นการละครรุ่น 1 เขาจะมีวิชาให้เราเรียนเกี่ยวกับละครที่มันหลายแขนง เรารู้สึกโชคดีเพราะได้อาจารย์ดี อาจารย์เขามีละครการเมือง ละครสำหรับเด็ก ละครสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ละครที่ออกไปลงชุมชน ไปศึกษาชุมชนแล้วก็ทำละครเกี่ยวกับชุมชน เรามีโอกาสได้เห็นละครในหลายมิติ ซึ่งเรารู้สึกว่าเรามีตัวเลือกให้เลือกเยอะมาก

“เราเป็นนักการละคร เราเชื่อว่าละครมันคือเครื่องมือที่เราจะสามารถสื่อสารเรื่องราวของกลุ่มคนที่เขามีเรื่องราวอยากจะเล่าออกไปได้ และเราเองก็รู้สึกว่าเรามีเรื่องที่สนใจและอยากเล่าเยอะมาก ทั้งจากตัวเราเองและจากชุมชนที่เราไปศึกษา

“การละครเป็นศาสตร์ที่เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มาก ทีแรกเราคิดว่ามันเป็นแค่การแสดงแต่พอจริงๆ แล้วการทำละครมันคือการที่เรารวมศาสตร์ศิลปะทุกแขนงไว้ในงานเดียว อย่างเราไปดูละครเรื่องนึงแล้วก็จะเห็นฉากสวยๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีแค่เสียงเงียบๆ มันมีเสียงดนตรี มันรวมแขนงของศิลปะทุกแขนงเลย ทั้งร่ายรำ ร้องเพลง ดนตรี ฉาก ประติมากรรม จิตรกรรมต่างๆ แล้วพอเราได้ทำละครเรื่องหนึ่ง มันมีผู้คน มีศิลปะ ที่เราได้เชื่อมโยงมันน่าสนใจ”

องก์ที่ 2
ทำละครเพื่อไม่สยบยอม

“ตัวเราเกิดที่อีสานเหนือติดชายแดนไทย-ลาว พอมันเป็นเมืองชายแดน มันเป็นเมืองชายขอบมันก็จะมีเรื่องราว เหตุการณ์มหัศจรรย์แต่เราไม่เคยรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ เช่น มีลูกของผู้มีอิทธิพลมายิงคนสักคนนึงตาย แล้วพอเขาตายไปเสร็จก็กลายเป็นว่า ลูกผู้มีอำนาจไม่ถูกดำเนินคดีอะไรเลย เสร็จแล้วก็ลอยหน้าลอยตาใช้ชีวิตปกติ แล้วเราเป็นเด็กเราก็ อ๋อ มันเป็นปกติ หรืออย่างมีคนขนของข้ามชายแดนมาขาย ซึ่งเป็นของถูกกฎหมาย แต่ก็มีผู้มีอำนาจทางกฎหมาย เข้าไปชาร์จ ไปจับกุม เพื่อขูดรีด เหตุการณ์มันดูปกติ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ

“แต่พอเรามาเรียนละคร เราเริ่มโตขึ้นด้วย เราก็เข้าใจว่า มันไม่ปกตินี่ เหตุการณ์ที่เราเจอทุกวันมันไม่ปกติ แล้วเราก็ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมมันเกิดขึ้น ทำไมผู้ใหญ่ไม่ทำอะไร เขาถูกทำให้สยบยอมด้วยบริบททางสังคมตรงนั้น ถ้าสมมุติวันหนึ่งเขาลุกขึ้นมา แล้วเขามาต่อสู้กับผู้มีอำนาจ มันก็หมายความว่าชีวิตเขาเองไม่ปลอดภัย หรือชีวิตเราในฐานะที่เป็นลูกก็ไม่ปลอดภัย หรือคนในชุมชนที่เขาดูแลอยู่ก็ไม่ปลอดภัย เขาเลยเลือกที่จะสยบยอม 

“พอเรามาเรียนแล้ว เราออกมาข้างนอกพื้นที่ตรงนั้นแล้ว เรามีโอกาสได้พูดแล้ว เราเลยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนตรงนี้ เราอยากเล่า อยากเผยแพร่ออกมาว่า มันไม่ใช่เรื่องปกตินะ หรือว่าบางเรื่องที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ชายขอบตรงนั้นที่มี จริงๆ มันมีอยู่ทั่วไปที่ทุกคนรู้สึกว่ามันปกติ มันไม่มีอะไรที่แปลก แต่ว่าบางทีมันไม่ได้ปกตินะ เราเห็น เราเริ่มตั้งคำถามกับสังคม ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเจอมากขึ้น เราก็เริ่มมาเรียนรู้แล้วก็อยากจะเล่าออกไป บางเหตุการณ์ที่มีคนยอม มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถยอม ที่ควรจะยอม เราสามารถต่อสู้ได้ เราสามารถเรียกร้องได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

องก์ที่ 3
วามยิ่งใหญ่ของผู้ยิ่งใหญ่

“ตอนนั้นเราทำธีสิสเรื่องผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องสั้นของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่เราเอาตัวเรื่องสั้นมาทำงาน ตัวเรื่องสั้น ที่เขาเขียนมา มันมีโครงสร้างบทที่แข็งแรงอยู่แล้ว เราก็ตัดสินใจว่า ต้องทำเรื่องนี้แหละ ต้องเอามาเล่า แล้วมันมีมุมมองของเราในวัยเด็ก ในวัยปัจจุบัน แล้วมันเอามาเทียบเคียงได้ เอามาเล่าได้ เราก็เลยสามารถทำมันออกมาได้ แล้วตัวเรื่องก็แข็งแรง มันเป็นเรื่องของคนอยู่ในเกาะแล้วก็ถูกผู้มีอำนาจของเกาะดูแล เป็นเรื่องของการถ่ายทอดอำนาจจากคน สู่คน เป็นระบบอุปถัมภ์ แล้วพอเราไปศึกษา มันก็ใกล้กับชีวิตของเรา เราก็เทียบเคียง ถูกใจแล้วก็เอามาเล่า

“แต่การเล่ามันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ในการทำงานทุกเรื่อง ก็ต้องถามว่า เรายอมรับความเสี่ยงได้ไหม การประเมินความเสี่ยง ขั้นตอนพวกนี้มันมีอยู่แล้ว แต่พอเราพูดถึงศาสตร์ละคร มันมีชั้นเชิงและวิธีการเล่าให้มันปลอดภัย ทั้งตัวเราเองในฐานะผู้กำกับ หรือในฐานะนักแสดงเอง เพราะว่ามันคือหน้าของนักแสดงที่เขาไปเล่น การเล่าโต้งๆ ให้มันชัดไปเลย มัน ก็อาจจะเป็นวิธีการนึงที่มีคนเลือกใช้ ซึ่งเราเลือกใช้วิธีที่มันอ้อมหน่อย แต่มันสื่อสารได้ตรงประเด็น

“วิธีพวกนี้จริงๆ แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับการดีความของคน เราก็สามารถทำให้ตัวเองปลอดภัยได้ด้วยการที่ว่ามันไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้นะ แต่จริงๆ มันคือพูดถึงเรื่องนี้แหละ ชั้นเชิงในการเล่าเนื้อหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ความหมายใต้คำพูด บางอย่าง มันไม่ต้องโต้งๆ ทั้งหมด แต่เราสามารถสื่อสารได้ คนดูเข้าใจได้ ในฐานะที่เราเป็นคนทำละคร ทำสื่อ เราต้องทำให้ทีมงานของเราปลอดภัยที่สุดอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสามารถทำให้ประเด็นของเราไปถึงเป้าหมายได้ คือสามารถสื่อสารได้ ถ้าละครไม่สื่อสาร ละครเรื่องนั้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไร

“จริงๆ แล้วตัวเรื่องผู้ยิ่งใหญ่ มันพูดถึงเรื่องของการส่งต่ออำนาจ ระบบอุปถัมภ์ ณ ตอนนั้นเล่าเรื่องนี้ แต่พอโตมาเราก็รู้สึกความหมายมันเปลี่ยนไปทุกๆ ช่วงวัย เหมือนพอเราถามว่าทำละคร ละครคืออะไร ศาสตร์การละครมันกำลังพูดถึงเรื่องอะไร นิยามมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอถามว่าวันนี้เรามองกลับไปแล้วพูดเรื่องนั้น ถ้าเป็นมุมมองตอนนั้นก็พูดเรื่องอำนาจ การถ่ายทอดอำนาจต่อกัน มันส่งผลยังไงกับคนที่อยู่ใต้การปกครอง อันนั้นคือ ณ วันนั้น แต่ ณ วันนี้มันก็ไปไกลอยู่”

องก์ที่ 4
เจอเพื่อน (ต่างพรมแดน) เพื่อทำละครให้เพื่อน (ไร้พรมแดน)

“พอเรามาอยู่พื้นที่เชียงใหม่ เราอยู่ตรงนี้มันมีความหลากหลายมาก มีคนจีน ฝรั่ง คนไทย เพื่อนจากต่างแดนทั้งมาจากพม่าด้วย รู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้มาเจอ แล้วก็ได้มาทำงานด้วยกัน จริงๆ แล้วตอนนั้นที่ทำงานกับเพื่อนไร้พรมแดนครั้งแรกเลยคือ เด็กดอย ซึ่งเราทำกับโรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว (ปัจจุบันไม่มีความเคลื่อนไหวในส่วนโรงเรียนการแสดงแล้ว)เพื่อนไร้พรมแดนมาช่วยด้านข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ ทำให้เราสามารถ ถ่ายทอดแล้วก็เล่าเรื่องราวนี้ออกไปได้อย่างเห็นในมิติของเขาจริงๆ

“เราไปลงพื้นที่ชายแดน แล้วก็ไปเจอผู้คนทั้งที่เขาย้ายมาจากฝั่งพม่าแล้วก็ฝั่งไทย เพื่อนๆ ที่อยู่ฝั่งไทยอยู่แล้วก็ได้เจอเขา ได้เรียนรู้ชีวิตเขา ซึ่งถ้าไม่ได้มีโอกาสไปคุยกับเขา เราก็จะไม่รู้ว่าหลังบ้านเขาเป็นยังไง เห็นเขาเล่าชีวิตเขาในมุมมองของเขา เห็นแววตาที่เขาเล่าออกมาว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งคนนอกอย่างเรารู้แค่เสี้ยวเดียว แล้วเราก็ได้ไปเห็นอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด

“เราก็ไปศึกษาต่อทั้งหมด ก็ได้ไปเห็นฉากหลังของเขา เห็นอารมณ์นอกจากเรื่องที่จะเล่า ซึ่งการเล่าเรื่องด้วยศาสตร์ละครมันดีตรงนี้นะ สมมติว่าเราอ่านนวนิยาย แล้วเราอ่านจนเราร้องไห้ได้ มันจะมีสักกี่เรื่องกันเชียวที่เขาบรรยายจนเรา อ่านแล้วเราร้องไห้ได้ หรือว่าเราอ่านบทความแล้วสามารถสื่อสารในเนื้อความได้ แต่เรามีความรู้สึกว่าละครมันมากกว่า นั้น คือมันสามารถสื่อสารได้ทั้งเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก

“พอเราได้มารู้จัก ได้มาเล่าเรื่องของพวกเขา ได้เข้าไปเรียนรู้กับเพื่อนไร้พรมแดน ไปเจอเพื่อนจากต่างแดน แล้วเราเห็นมุมมอง เราเห็นชีวิตเขาจริงๆ ข้างในมันฟูมาก ก่อนหน้านี้มันจะมีช่วงที่ไม่อยากเล่าอะไรเลย มันไม่เชิงหมดไฟนะแต่มันไม่มีเรื่องจะเล่า บางทีเรารู้สึกว่าไม่อยากเล่า หรือว่ามีคนเล่าไปเยอะแล้ว แล้วฉันจะเล่าทำไมอีก ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากเล่าอะไรเลย แต่พอได้มาเจอกับเพื่อนไร้พรมแดน ได้มาลงพื้นที่ได้ไปเจอกับเหตุการณ์ ข้างในมันฟูมาก มันเจอคนจริงๆ เจอชีวิตจริงๆ แล้วเรื่องของเพื่อนจากต่างแดน จากฝั่งพม่าเองมีเรื่องเล่าเยอะมาก แล้วเขาเจออะไรขนาดนี้ใจข้างในมันรู้สึกไปกับเขา ไฟมันลุก”

องก์ที่ 5
ความธรรมดาสามัญของเพื่อน (ไร้พรมแดน)

“พูดถึงคำว่าเพื่อนของเรา แล้วเพื่อนน่ะ พอเพื่อนมาเล่า กับคนอื่นมาเล่า เหมือนเราดูข่าว เราเห็นข่าวมันรุนแรงแค่ไหน ก็ช่าง บางทีเรารู้สึกร่วมในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่อันนี้เรารู้สึกร่วมในฐานะเพื่อน เพื่อนที่นั่งกินข้าวด้วยกัน นอนใกล้ๆ กันแล้วเขามาเล่าเรื่องพวกนี้ให้เราฟัง มันอิมแพคกว่ามากนะ

“ช่วงที่เราทำประเด็นคือ เรื่องเล่าเยอะมาก ตอนที่เราไปลงพื้นที่มันมีหลายเหตุการณ์มากที่มันสะเทือนอารมณ์และสามารถนำมาพัฒนาเป็นเรื่องสั้น หรือนำมาทำละครได้ เลยเป็น The Ordinary ที่เราใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบมีหลายเหตุการณ์ หลายตัวละครที่เกิดขึ้นในเรื่องๆ เดียว ตัวละครหรือว่านักแสดงเขาก็จะเปลี่ยนคาแรคเตอร์ไป เราอยากจะเล่าเรื่องของเพื่อนต่างพรมแดนของเราว่า เขาเจอปัญหาอะไรบ้าง รวมถึงเพื่อนของฝั่งไทยด้วยว่า เจอเหตุการณ์อะไรบ้างเราอยากส่งต่อเหตุการณ์พวกนี้ไป อยากให้คนที่ตัวใหญ่ขึ้นหน่อย คนในสังคมที่กว้างขึ้น หรือผู้คนธรรมดาต่างๆ ได้มา รับรู้เรื่องนี้หน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเอาไปทำอะไรต่อได้บ้างจากเรื่องที่เราเล่าออกไป เราอยากเล่า เราก็เล่าหลายๆ เรื่องในหนึ่งเรื่องนี้เลย

“การเล่าเรื่องมันยากในหลายๆ มิติ ถ้าอย่างตัวเนื้อเรื่อง ตอนที่เราเลือกมาก็ยาก เพราะว่าเรื่องที่อยากเล่ามันเยอะ แล้วเรื่อง Performance มันคือเรื่องของเวลา แล้วก็เรื่องของบุคคลคือ จังหวะนี้มันควรจะเล่าเรื่องนี้ แล้วก็เลือกเรื่องที่มันเหมาะกับเวลาที่จะเล่า กับผู้คนที่จะเล่า กับเหตุการณ์ที่เล่าเรื่องนี้ใครๆ ก็รู้สึก เราก็เลือกเรื่องมา มันก็มีความยาก เลือกจากหลายเรื่องมา

“การคัดเลือกนักแสดงของเรื่องนี้ มีความจำเป็นที่ต้องหานักแสดงที่ฟังก์ชันครบคือ เล่นละครได้ ร้องเพลงได้ เต้นได้เล่าแบบบรรยาย หรือว่าทำสมาธิได้ คือต้องครบองค์ประกอบประมาณนึงเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ได้ครบมิติที่สุด ขั้นตอนการทำงานค่อนข้างละเอียดแล้วก็ยาก

“รวมไปถึงเรื่องที่เราเล่าบางที เราไม่ได้เซ็นเซอร์งานตัวเอง แต่เพื่อความปลอดภัยของทีมเราต้องพยายามหามุมมองบางอย่าง วิธีการเล่าบางอย่างเพื่อให้ทั้งทีมปลอดภัย และสามารถสื่อสารงานได้ตรงๆ แบบไม่เซ็นเซอร์”

องก์ที่ 6
ในวันที่เล่นละครของเพื่อน

“ละครวันนั้นเล่นที่ Some Space มันเป็นตึกแถว 2 ห้องแถว แล้วก็มีหลายๆ ชั้นเป็นตัวตึก ข้างล่างมีร้านอาหาร ข้างบนมีพื้นที่จัดแสดงงาน มีแกเลอรี่ บรรยากาศทั้งหมดทั้งมวลมันอบอวลไปด้วยบรรยากาศแบบนี้ ตั้งแต่ทางขึ้นมาเลย ของเราจะอยู่ชั้นบนสุด ดาดฟ้าเลย

“องค์ประกอบหลักของละคร มี 3 อย่าง คือ เรื่องที่จะเล่า คนที่สื่อสารเรื่องราว และผู้ชมที่รับสาร ในฐานะผู้กำกับ เรามีเรื่องจะเล่าแล้ว นักแสดงกำลังเล่าอยู่ กำลังสื่อสาร แต่องค์ประกอบของงานละครเวทีจะครบองค์ประกอบได้คือมีคนดูแล้วพอเปิดรอบการแสดงมันมีคนเข้ามาดูจริงๆ มีคนเข้ามาเห็นงานเราจริงๆ รวมไปถึงเพื่อนที่สนใจในประเด็นเดียวกันหรือเพื่อนเราที่เจอสภาวะนี้อยู่แล้วมาดู อิมแพคที่มันเกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่เขาได้มานั่งดู รวมไปถึงนักแสดง มันส่งต่อ กัน ถ้าเป็นหนังมันเล่นจบไปแล้ว นักแสดงเขาอาจจะไม่ได้มามีปฏิสัมพันธ์กับคนดู แต่อันนี้คนดูร้องไห้หรือรู้สึกไปด้วย มันส่งผลต่อนักแสดงให้การแสดงมันขึ้นไปอีก

“บรรยากาศตอนนั้นมันดีมาก ทุกคนโอบกอดกัน แล้วประเด็นที่เล่ามันก็ส่องแสงสว่างขึ้นมาเลยแล้วพอมาเล่าออกไปแล้วมันเหมือนเราได้เล่าให้เพื่อนฟัง ได้เล่าให้คนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมันใกล้กับพื้นที่ชายแดนได้มาดู ได้มาฟังเขาฟังฉันแล้ว แล้วเขารู้สึกไปด้วย ในใจเรามันสำเร็จมากเลยนะ เรารู้สึกว่าพอละครมันสื่อสารออกไปแล้ว แล้วคนดูตั้งคำถามกับประเด็น แต่พอเล่าไปแล้วเขารับสารที่เราต้องการจะสื่อสารได้ แล้วคุยกันต่อเป็นเรื่องเป็นราวจากสารที่เรา สื่อสารได้ มันเหมือนเราสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว เราสามารถส่งเรื่องนี้ต่อไปได้แล้ว แล้วเราคุยกันต่อ แตกประเด็นต่อไปแล้ว มันทำอะไรได้อีกเยอะมาก เพราะว่าอย่างน้อยๆ คนที่เข้ามาดู ความคิดเขามันไปต่อไปไกลแล้วว่ามันสามารถทำอะไรเพื่อช่วยเหลือตรงนี้ได้หรือเพื่อมีส่วนร่วมตรงนี้ หรือเราก็จะมองเห็นเพื่อนไร้พรมแดนของเรา หรือตัวเราเองหรือเพื่อนๆ รอบตัวเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”

องก์ที่ 7
ถอดรหัสนักการละคร

“เราเติบโตขึ้นอยู่แล้วด้วยทุกๆ อย่าง ระหว่างการทำงานละคร เนื้อหาที่เราไปเรียนรู้มามากขึ้น มันเติบโตแล้ว มิติของการเติบโต มิติทางจิตวิญญาณของเรา เราก็รู้สึกว่าเราโตขึ้นทางจิตวิญญาณด้วย แล้วในแง่เชิงความคิด ก็เติบโตขึ้น ด้วย หรือแม้กระทั่งการมองโลกทุกๆ อย่างของเรา มันก็เติบโตขึ้น

“เรากล้าพูดว่างานละครมันคือทั้งชีวิตของเรา เราเป็นนักการละครตอนนี้ คนอื่นจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ เราคือนักการละคร ทั้งชีวิตของเรามันคือละคร เราเอาจิตของเราบวงสรวงเพื่อละครไปแล้ว เราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ไปเลย วิถีของละคร มันคือการเรียนรู้มนุษย์ แล้วเอาเรื่องของมนุษย์มาสื่อสาร มันคือเรื่องของเรา เราทุกคนคือมนุษย์อยู่แล้ว แล้ววิธีการที่เราเรียนรู้เพื่อนมนุษย์เหมือนเราเห็นปูมหลังของแต่ละคน วิธีการมองมันเปลี่ยนไปเลย เนี่ยมันคือสิ่งที่ละครมันทำงาน กับเรา ละครทำให้เราพยายามเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น แล้วก็มองโลกให้มันกลมมากขึ้นเรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดแล้ว จะให้เรากลับมามองอะไรเหมือนเดิม ก็คงมองไม่ได้อีก”

เรื่อง: อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์
ภาพ: ภูมิพัฒน์ ปกเกตุ และเพื่อนไร้พรมแดน

Related