เต้-จักรพันธ์ ศรีวิชัย ผู้เคลื่อนไหวด้วยศาสตร์ภาพยนตร์ และ Performance Art เพื่อเรื่องเมืองและความเท่าเทียม

เต้-จักรพันธ์ ศรีวิชัย ผู้เคลื่อนไหวด้วยศาสตร์ภาพยนตร์ และ Performance Art เพื่อเรื่องเมืองและความเท่าเทียม

| | Share

เต้-จักรพันธ์ ศรีวิชัย คือนักทำหนังอิสระ

หนังส่วนมากวนเวียนกับภูติ ผี วิญญาณ ความเชื่อ และหนังเหล่านั้นทำงานในระดับที่เขาผลักดันตัวเองไปจนถึงเวทีเทศกาลหนังสั้นทั้งในเกาหลี และสวิสเซอร์แลนด์ จนใครหลายคนในวงการนี้เริ่มจับตามองเขาในฐานะคนทำหนังที่มีลีลาที่น่าตื่นตา และน่าติดตาม

ดูงานของเขาเผินๆ อาจเป็นเพียงภาพยนตร์สั้นของผู้กำกับที่มีเทคนิคในการเล่าเรื่องที่ชวนค้นหา แต่หลายๆ งานของเขาแฝงไปด้วยการสะท้อนประเด็นทางสังคมออกมาโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว บางเรื่องว่าด้วยเรื่องแรงงานพลัดถิ่น หรือบางเรื่องก็จิกกัดสิ่งที่เรียกว่าเกษตรพันธสัญญา ที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างเป็นวงกว้างในทุกมิติได้อย่างเจ็บแสบ

นอกจากการเป็นคนทำหนังแล้ว เต้ยังลองกระโจนสู่สนามใหม่ๆ อย่างการทำงานด้วยศิลปะการแสดงหรือ Performance Art ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ข้าวโพด หรือรถไฟล่องหน ต่างสร้างการรับรู้ให้โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการแสดงของเขาอย่างเป็นวงกว้าง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราเพิ่งมาร่วม “งานศพ” ของเขา

ไม่ใช่แบบนั้นหรอก เราหมายถึงงานศพที่เขาฌาปณกิจตัวเองจากการเป็นคนทำหนังต่างหาก 

ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยากเล่าเรื่องด้วยภาพยนตร์ แต่การนั่งทบทวนงานของเขาทั้ง 15 เรื่องในคืนหนึ่งที่ดาดฟ้าตึกมีเดียฯ​ อย่างที่นักศึกษา​​สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียกขาน ทำให้เราได้เห็นว่าเขาใช้เครื่องมือภาพยนตร์ และวิธีการสื่อสารอื่นๆ ได้อย่างแหลมคม

หลังงานฌาปณกิจจบลง เต้เชิญเรามาเก็บเถ้ากระดูกแห่งการถอดบทเรียนที่เขาได้รับจากการทำงานที่สื่อสารประเด็นสังคมผ่านหลายเครื่องมือ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องมือหนึ่ง ไปถึงเครื่องมือหนึ่งที่ได้ผลเหมือนกันคือ การสะท้อนสังคม

ภาพยนตร์

คุณไม่ได้เรียนภาพยนตร์มาตั้งแต่แรก แต่ในวันที่คุณอยากทำหนัง คุณเริ่มจากอะไร

จุดเริ่มต้นของการทำหนัง ถ้าย้อนมันย้อนไกลมากๆ คือ มันย้อนไปตั้งแต่เป็นเด็กเลย เราเป็นคนที่ชอบวาดรูป ในเวลาวาดรูปเราไม่ได้วาดเฉยๆ เราจะชอบวาดแล้วก็สร้างเส้นเรื่องของมัน แบบไอ้คนนี้มาสู้กับคนนี้ แล้วมันก็ขยับไปเรื่อยๆ ขยับจากวาดเฉยๆ มาเป็นเขียนเป็นเรื่องสั้น เขียนเป็นพล็อตเรื่องอยู่ในสมุดเรียนปกหลัง เขียนประมาณ 4-5 เล่ม เราก็รู้สึกว่าวันหนึ่งอยากให้มีใครสักคนมาเจอสมุดเหล่านี้แล้วเอามาทำเป็นหนัง รวมกับเราชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอเข้ามัธยมมันเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนอะไรใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองแล้วก็เห็นอะไรมากขึ้น แล้วก็ไปค้นพบคำว่าหนังสั้น ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักคำว่าหนังสั้น รู้แค่ว่าหนังก็คือหนังยาวๆ เป็นชั่วโมง แล้วมันก็ดูเป็นอะไรที่เป็นไปได้ยากมากในการที่จะทำหนังเรื่องนึง แต่พอเจอคำว่าหนังสั้น แล้วก็เห็นคนที่ทำหนังสั้นอายุไล่เลี่ยกับเรา ก็เป็นวัยรุ่น เขาทำได้ ก็แปลว่าเราทำได้สิ ก็เลยย้อนไปนึกถึงตัวสมุดตอนนั้นว่าเราก็เอาเรื่องเหล่านั้นมาทำได้เหมือนกันนี่หว่า ไม่ต้องรอให้ใครเอามาทำ 

ตอนนั้นอยู่ ม.2  ก็เลยเริ่มหาโอกาสในการทำ ไม่มีอะไรสักอย่างเลย คอมพิวเตอร์ก็ไม่มี กล้องก็ไม่มี ไม่มีอุปกรณ์อะไรในการทำหนังเลย แต่พยายามหาโอกาสเวลาที่อาจารย์สั่งงานเป็นเชิงการแสดง เราก็สบโอกาสถามเพื่อนว่ามึงมีกล้องไหม มาแสดงให้หน่อย ยืมคอมตัดต่อ แล้วก็ทำอย่างนี้มาจนจบ ม.6  ก็ทำมาปีละเรื่อง 2 เรื่องแล้วแต่โอกาส แล้วพอเข้ามหาลัย ก็มาเจอชมรมที่เขาทำหนังที่คณะมนุษย์ แล้วเขาก็ทำหนังประกวดหาเงินรางวัลกัน พวกองค์กรที่เขาชอบจัดงานประกวด เราก็กระโดดลงไปเล่นสนามนั้น ก็ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้รางวัลบ้าง เราก็ค่อยๆ ขยับตัวเองออกมา

ในวันที่คุณไม่ใช่นักเรียนทำหนัง คุณเริ่มกระบวนการของตัวเองยังไง

เริ่มจากการหาไอเดียก่อน ถ้าเป็นสายประกวดมันก็คือว่า เขามีหัวข้ออะไรมาให้ มันจะมีโจทย์อยู่ เช่น ต้านโกง คุณธรรม เราก็เอาโจทย์มาตีแล้วก็ใส่เรื่องเข้าไป แล้วพอใส่เรื่องเข้าไปเราก็เขียนเป็นบท เสร็จสรรพแล้วเราก็ต้องหาทีมงาน ก็เป็นเพื่อนๆ กันนี่แหละ ก็ไม่มีใครเรียนหนังกันสักคน มึงว่างไหม มาช่วยหน่อย พอจะแสดงได้ไหม มีกล้องไหม ขอยืมกล้องหน่อย พอมาเจอกันเราก็ถ่ายงูๆ ปลาๆ  ไม่ได้มีหลักการหรือไม่ได้มีองค์ความรู้อะไรเกี่ยวกับหนังเลย ก็แค่จำมา เคยดูหนังอะไรมาก็จำ จำแล้วก็มาใช้ มุมกล้องแบบนี้ การพูดการแสดงแบบนี้ ก็ทำแบบนี้มาอยู่ 2-3 ปีกว่าจะจับทางได้ว่ามันต้องทำประมาณนี้ แต่ทุกครั้งที่ทำหนังมันก็เหมือนเริ่มใหม่หมด หรือเอาคนใหม่ๆ มาช่วยเรื่อยๆ 

นอกจากหนังประกวดแล้ว คุณมีหนังที่สื่อสารบางประเด็นซึ่งยึดโยงกับสังคมด้วย วิธีการของมันต่างกันมากน้อยขนาดไหน

ขึ้นอยู่กับคำถาม What if จะเกิดอะไรขึ้น หนังทุกเรื่องเราจะเริ่มต้นด้วยแบบนี้หมด แม้กระทั่งย้ายมาทำงานศิลปะ มีคำถามนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้กระทั่งถ้าเป็นงานที่พูดเชิงประเด็นสังคมหน่อยๆ เราก็จะสร้าง What if ขึ้นมาก่อน แต่ค่อนข้างที่จะแฟนตาซี 

อย่างเรื่องเกษตรพันธสัญญาที่เกษตรกรเขาโดนล็อคว่าต้องซื้ออาหารที่นี่เท่านั้น ขายปลาให้กับที่นี่เท่านั้น พันธุ์ปลาก็ต้องเอาจากที่นี่เท่านั้น มันเหมือนกับการติดอยู่ในบ่วงอะไรบางอย่าง แล้วคือเราอยู่กับมันมากๆ เราก็เลยเปรียบเปรยมันเข้าไปว่า ถ้าเกิดเราเลี้ยงปลาเยอะๆ แล้วปลาไม่ได้ช่วยให้เราชีวิตดีขึ้น สุดท้ายแล้วเราก็ต้องกินปลาที่เราเลี้ยง พวกนั้นก็จะมีสารเคมีแฝง ฉากหลังในเรื่องนั้นตอนนั้นมันอยู่ที่อีสาน ที่หนองบัวลำภู เราไปลงพื้นที่แล้วมันมีปัญหาในเรื่องสารเคมีในนา แล้วเขาไปสัมผัสหรือว่าไปกิน มันเป็นสารตกค้าง กินมากๆมันก็จะเกิดผลกับสุขภาพ เราก็เอาไอเดียตรงนั้นมาทำว่า ถ้าเรากินปลาที่เราเลี้ยง ที่เป็นปลาพันธะสัญญา เราก็จะกลายเป็นปลาแล้วก็จะตาย คือทำให้มันแฟนตาซีก่อน จริงๆ แล้วไอเดียก็ง่ายๆ

คุณพบเจออะไรบ้างเมื่อลงพื้นที่

ตอนไปคุยกับชาวบ้านที่หนองบัวลำภู ทุกคนรู้เรื่องสารพาราควอทที่มันอยู่ในยาฆ่าหญ้า แต่ทุกคนก็ยังใช้ ทุกคนรู้ว่ามันเสี่ยงแล้วมันจะต้องตกค้างอยู่ในนาของใครสักคน หรือไหลลงหนองบึงใครสักคน แต่ทุกคนก็ยังทำอยู่เพราะอะไร เราก็สงสัย แล้วพอไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของหลายๆ บ้าน เราก็พบว่ามันเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ เพราะว่าเขาไม่มีตัวเลือก ถ้าเขาไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า มันก็ต้องใช้แรง แล้วในเมื่อเรามีเครื่องทุ่นแรง เราจะไปเสียโอกาสตรงนั้นทำไม เราก็เคยทำงานสวนทำงานไร่มา ก็พอจะรู้ว่าการทุ่นแรงมันเป็นอะไรที่ดีที่สุด แต่อันนี้ก็มีผลกระทบกับตัวเขาเอง 

มีประเด็นอื่นๆ ที่คุณหยิบจับอีกมั้ย

ยกตัวอย่างเรื่องแสง ที่อันนั้นเป็นเค้าโครงจากเรื่องจริงที่สมัยนั้นแม่เราเขาขายข้าวสารตามตลาดนัด แล้วเขาก็จะมีลูกจ้างคนหนึ่งเป็นพี่ไทใหญ่คนนึง คือเราสนิทกับเขามาก แม่เลี้ยงเขาเหมือนเป็นลูกชายอีกคน เวลาเรากลับบ้านเราก็จะไปนั่งกินเบียร์ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน แล้วทีนี้มันก็จะมีช่วงที่เราห่างๆ ออกมา ไม่ค่อยได้กลับบ้าน แล้วก็พอกลับบ้านอีกทีก็มาพบว่าพี่เขาติดเหล้า แล้วเราก็รู้สึกเป็นห่วงแม่ แต่มันมีอารมณ์อีกอารมณ์นึงคือ เรารู้สึกว่าเรามีอำนาจ ณ ขณะนั้น ก็คือเรามีอำนาจในการจัดการอะไรแทนแม่ได้ เรารู้สึกว่าเราเริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราไม่ใช่เด็กแล้ว แล้วพอเจอสถานการณ์นี้ เราก็ตัดสินใจแล้วว่าจะไล่พี่ไทใหญ่คนนี้ออก แต่เราก็พยายามไม่เป็นนายจ้างใจร้าย เราก็มีเหตุผล แล้วก็ไปเรียกเขามาคุยก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วมันก็โดนแรงกดดันจากน้าที่อยู่บ้านข้างๆ เราก็เลยขอให้เขาออก เขาก็ยินดีจะออก จากนั้นเราก็เริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งที่เราทำไปมันเหมือนการด่วนตัดสินใจ ซึ่งวันนี้ก็ติดต่อกันไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกผิดในใจเล็กๆ พอมีโอกาสเราก็เอาเรื่องของเขามาทำ

จากประเด็นที่หลากหลายที่คุณสะท้อนออกมา จริงๆ คุณคาดหวังอะไรจากการทำภาพยนตร์

มันก็จะมีความคิดอยู่ตลอดว่า เราคิดเห็นแบบนี้กับประเด็นนี้ เรามีวิธีคิดแบบนี้ เราจะใช้หนังเป็นเหมือนหน้าต่างของสมองเราคือ เรามีความเห็นอะไร แทนที่เราจะโพสต์ลง Facebook หรือไปนั่งแลกเปลี่ยนกับใคร เราแปลงร่างมันให้กลายเป็นเรื่องเล่าในหนัง แล้วเราก็เอาหนังไปพูดแทนเรา เวลาคนมาดูก็จะได้คิดต่อกันไปได้ว่า ทำไมคนทำถึงทำเรื่องนี้ออกมา แล้วเขาจะสื่อสารเรื่องอะไรก็ไปคุยต่อกันได้ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมมันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็จะไม่ค่อยไปอธิบายหรือชี้แจงอะไรกับคนดูมาก เพราะว่าหนังพูดแทนไปหมดแล้ว หรือถ้าคุณสงสัยแล้วคุณรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมา สิ่งที่ผมคิดมันไม่ถูก เราก็จะทดไว้แล้วก็จะเก็บไปคิด ไปทบทวนตัวเองในเรื่องต่อไปว่า รอบที่แล้วเราทำแบบนี้แล้วสังคมเขาบอกว่ามันไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เราก็มาดูว่ามันมีคนอื่นที่คิดเหมือนเราไหม เราก็ให้น้ำหนักทั้ง 2 ฝั่ง

คุณคิดว่าสารที่คุณจะสื่อผ่านเครื่องมือนี้ ส่งไปถึงผู้รับสารแล้วหรือยัง

พอเราทำเรื่องประเด็นสังคมหรือประเด็นในพื้นที่ต่างๆ ไป แต่คนที่ได้ดูไม่ใช่คนในพื้นที่ คนที่ได้ดูมันก็ต้องเป็นคนที่สนใจหนัง คนที่ชอบดูหนัง วิจารณ์คนทำหนังด้วยกันเองดู ฉายที่กรุงเทพฯ ฉายที่เชียงใหม่ คนที่นั่นเขาไม่เคยดู เราก็ไม่มีโอกาสเอาหนังเราไปให้เขาดู มันมีอยู่ช่วงนึงที่เราอยากเอาหนังให้ชาวบ้านดูมากๆ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนังมันก็เลยลงไปไม่ถึงชาวบ้านสักที แล้วพอเราทำมาเรื่อยๆ เราก็พบว่าหนังแรงมันน้อยมากๆ เวลาเราทำอะไรต่อให้ประเด็นมันจะหนักหนาแค่ไหน มันก็แค่ทำให้คนที่เขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นได้รู้ แต่การได้รู้แล้วมันเกิดอะไรต่อ เราก็ไม่เคยเห็นว่ามันจะเป็นมีอะไรตามมาหลังจากนั้น เวลาที่มีหนังที่มีประเด็นหนักมากๆ ไม่เคยเห็นว่าจะมีหน่วยงานลงพื้นที่ หรือมีใครที่คิดว่า ไม่ได้แล้ว มีประเด็นนี้เกิดขึ้นเราจะต้องลงพื้นที่ไปทำนั่นทำนี่ เราไม่เคยเห็น

Performance Art

แล้วการเคลื่อนไหวด้วยเครื่องมือการแสดงมาจากอะไร

มันเป็นคอมมูนิตี้เดียวกันกับกอล์ฟ ลานยิ้ม (นลธวัช มะชัย) เลย ตอนนั้นก็กำลังจะเรียนจบ เราทำตัวจบเป็นหนังที่ผสม Performance  เราก็ชวนกอล์ฟมาเล่น ชวนมาเล่นปุ๊บก็เริ่มรู้จักลานยิ้มมากขึ้น พอเรียนจบกอล์ฟก็ชวนมาทำกำลับเวที แต่เราไม่มีทักษะนั้น เรามีแต่ทักษะวีดีโอ ก็กลายเป็นว่าเอาวีดีโอเข้าไปผสมโรงกับมัน ก็สนุก เราก็ชวนกอล์ฟมาเล่นงานเรา ก็เอาเราไปทดลองนั่นทดลองนี่ จนเรารู้สึกว่ามันเกิดมิติใหม่ๆ เรารู้สึกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่สนุกมากกับการได้ทดลองเอาหนังมาผสมกับศาสตร์หลายๆ อย่าง เกิดเป็นอะไรใหม่ๆ ที่มันทำให้เห็นภาพมากขึ้นมากกว่าหนัง แต่ทีนี้มันต้องแยกย้าย สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมหนัง พอไปลุยตรงนั้นปุ๊บ มันก็เริ่มเห็นช่องเพราะว่าเราเริ่มเจอคนทำหนังจริงๆ ที่จะชักชวนเราไปทำงานด้วย แต่งานส่วนมากมันอยู่กรุงเทพฯ ความสำคัญของเราก็ค่อยเลยๆ หายไป นั่นแหละคือที่มาว่าทำไมเคยเห็นเราทำ Performance มาก่อน 

มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณมั้ย

มันไม่ใหม่ เพราะว่าตอนเราเรียนสหศาสตร์เราก็ต้องได้เรียน Performance เราก็เข้าใจอย่างหนึ่งว่ามันคือการใช้ร่างกายในการทำอะไรบางอย่าง แต่แค่มันไม่มีบท หนังมันต้องแสดง หนังมันต้องจำบทที่เขาเขียนมา แต่ Performance มันไม่มีบทแบบนั้น ถ้าเราอยากจะถ่ายทอดความเศร้า เราก็ต้องเศร้าจริงๆ ไม่ใช่การแสดง พอเราได้กลับมาทำ เราพยายามหาจุดที่ Performance Artist คนอื่นไม่มีคือ ความเป็นคนทำหนัง ความเป็นคนที่เขียนบทเป็น คิดพล็อตเป็น นั่นแหละคือสิ่งที่เราคิดว่า Performance Artist คนอื่นเขาไม่มีตรงนี้ แล้วเราทำมาเยอะด้วย เรารู้ว่าการจะทำให้คอนเซปต์บางอย่างมันเกิดขึ้นมา มันทำยังไง แต่รอบนี้มันไม่ใช่การทำผ่านจอ ผ่านการแสดง ผ่านฉาก ผ่านการเอาคนมาเยอะๆ แล้วก็รุมกันถ่าย แต่มันเป็นแค่เราคนแค่เดียว

อย่างรถไฟล่องหน เราจะทำให้มันออกมาได้ยังไงว่า ถ้าวันหนึ่งเชียงใหม่มีรถไฟฟ้า หน้าตาเป็นยังไง มันก็ต้องทำงานกับตัวเอง มันก็กลับมาทำงานคล้ายเดิมคือ มานั่งเหงาๆ กับตัวเอง แต่มันสนุกกว่าตรงที่มันผิดแผนได้ เพราะมันเป็นมิติงานศิลปะ แล้วพอมันผิดแผน มันมีเซอร์ไพรส์ อาจจะเป็นเซอร์ไพรส์ในทางบวก ทางลบก็มีแต่มันก็ยอมรับได้ มันไม่ได้แบบถ้าพูดผิดจากบทนี้ไปแล้วหนังจะเปลี่ยนเรื่อง

ลองเล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยว่ารถไฟล่องหนของคุณ มันมายังไง

เรามีโอกาสไปคุยกับพี่ภู (จิรันธนิน กิติกา) เราก็คุยกันเรื่องรถไฟฟ้านี่แหละ แกก็ทำงานด้านเมืองมาตลอด ก็มาขอทัศนะแกว่าคิดเห็นยังไง มันก็มีความสงสัยมาเรื่อยๆแต่ว่าเราก็ไม่เก็บความสงสัยไว้คนเดียว เราก็เลยพัฒนามาเป็นรถไฟล่องหนนี่แหละ ลงไปเดินเลย ไปให้เห็น ให้รู้ว่าเส้นทางมันเป็นยังไง เก็บทุกอย่าง เก็บข้อมูลมาสร้างเป็นงาน

คุณบอกว่ามันเป็นชิ้นงานส่งอาจารย์ คุณคาดหวังอะไรจากมันบ้าง

เล่นใหญ่มาก เสียเงินไปเยอะ เสียแรงด้วยซ้ำ แต่เราได้ค้นพบตัวเองว่า ตอนคาดหวังก็คาดหวังแค่ว่าจะเอาส่งงานอาจารย์ เป็นงานหนึ่ง แต่ทีนี้พอไปทำจริงๆ มันค้นพบว่า ฉันทำแบบนี้ได้ด้วยฉันเดิน 16 กิโลเมตรต่อเนื่องภายใน 4 ชั่วโมงได้ด้วยเหรอวะ เราเดินด้วยราวตากผ้าอย่างนั้น แล้วขัดหูขัดขวางคน จะโดนรถเฉี่ยว เราทำได้ด้วยหรอวะ ทีนี้ก็สนุกเลย ท้าทายตัวเองเอาใหญ่เลย จากเดิมเดินแค่วันเดียว ขยับลองเดิน 7 วันติดกัน แล้วไปทุกที่เลยนะ แต่เอา Concept เข้ามาจับ Challenge ตัวเองด้วยแต่ก็มี Concept ด้วย มันจะไปได้ไหม สมมติว่าถ้ามันมีรถบัสที่ไปได้ทุกที่ภายใน 7 วัน ไปไหนก็ต้องไป ห้ามอิดออด เขาบอกให้ไปคุยงานที่ประตูหายยาก็ต้องไป เดินไปจากนิมมานเหมินทร์ก็ค้นพบว่าตัวเองทำได้อีกแล้ว แล้วเราก็เห็นอะไรมากขึ้น เห็นเมืองตัวเองมากขึ้น แล้วก็อยากเห็นกว่าเดิม เล่นใหญ่ต่อเลย กลับบ้านกัน ก็เอารถไฟกลับบ้านที่ดอยหล่อ 41.2 กิโลเมตร มีแค่เรากับเพื่อนอีก 2 คน สุดท้ายก็ไม่ถึง แต่ก็ได้เห็นว่า เราก็อยู่ไกลเหมือนกันนะ เด็กที่อยู่รอบนอกมัน กว่าจะเดินทางเข้ามาเรียนในเมืองได้ มันเสียอะไรไปเยอะเหมือนกัน

เราจำได้ว่างานของคุณขึ้นไปอยู่บนหอศิลป์ด้วย แล้วมันก็เป็นไวรัลที่คุณโดนโจมตีอยู่พอสมควรเลย

เราไม่เชิงเฉยๆ แต่เราเข้าใจ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าคนที่คอมเมนต์บางส่วนเป็นคนยังไง เพราะเราก็ไปมาหาสู่กรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 10 ปี เราก็รู้อยู่แล้วว่าคนที่นั่นเป็นคนยังไง สภาพชีวิตความเป็นอยู่ คนในแต่ละระดับเขาคิดเห็นยังไง แต่พอมันเกิดปรากฏการณ์นี้ เรารู้สึกว่ามันเหมือนเปิดฝาท่อระบายน้ำ เปิดมาปุ๊บแล้วก็ อยู่ทุกซอกทุกมุมเลย แค่อ่านแล้วก็พอจะเดาได้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน มันก็ตรงกับเป้าประสงค์ของงานเราด้วยที่เราอยากให้งานมันเกิดคำถาม คือตอนที่เราเดิมมันก็เป็นคำถามอยู่แล้วว่า มึงมาทำอะไร เวลาเราไปนั่นไปนี่เขาก็ถามว่า อะไรอ่ะ แล้วก็จะบอกชุดคำตอบเดิมๆ ของเรา รถไฟล่องหนคือรถไฟฟ้าที่เชียงใหม่จะมีรถไฟฟ้า พอมันเป็นคำถามแบบนั้นที่คนข้างนอกมองเข้ามา เราก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จเพราะว่าเราทำให้คนได้เกิดคำถาม เพราะโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่มันเกิดมาแล้วก็หายไปพักใหญ่ๆแล้ว ถ้าเราไม่เป็นคนไปหยิบมันมาพูด มันก็ไม่มีใครพูด

ส่วนงานข้าวโพดมนุษย์ล่ะ อันนี้ก็เป็นไวรัลมากเหมือนกัน

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยไปลงพื้นที่ที่อีสานแล้วก็เจอเรื่องสารพาราควอท มันก็คือเรื่องเกษตรพันธสัญญานี่แหละที่อยากจะเล่าในตอนแรก ตอนที่เราลงพื้นที่หนองบัวลำภู มันโดนโจทย์บังคับว่าต้องเล่าเรื่องในอีสาน แต่ที่อีสานมันมีแต่อ้อย เขาไม่ได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันมีมาเป็น 10 กว่าปีแล้วที่เรารับรู้มา ทีนี้ก็ได้ประสบกับโอกาสที่เราไปเวิร์กช็อปสารคดีที่เชียงราย แล้วเขาก็พูดเรื่องฝุ่นควันกันพอดี เราช่วยน้องๆ แต่ไอเดียของน้องเขาก็ตัน คือมันไม่จำเป็นต้องทำเป็นสารคดีก็ได้ เราเลยเสนอว่า มีงานอันนึงอยู่ที่อยากจะเป็นข้าวโพด เราจะเป็นคนที่ประสบภัยฝุ่นควันแล้วก็จู่ๆ ก็มีตุ่มมีผื่นที่มันคล้ายจะเป็นข้าวโพด เพื่อจะสื่อถึงต้นตอของมันโดยตรง แล้วเราก็นัดแนะน้องว่าเราจะไปแสดงตรงนี้นะ ตรงแม่สาย แล้วเราก็จะเขียนไปเรื่อยๆ จนมันเต็มตัว แล้วทุกคนก็ถ่ายไป ก็เลยเกิดมาเป็นงานที่คนดูแล้วหยึย มันก็กลับมาสู่ไอเดียแรกในการทำหนังผีก็คือสร้างความน่ากลัวก่อน ก็เลยเอามาเล่นต่อที่ท่าแพ ก็พูดเรื่องเดิมคือ เรื่องฝุ่นควัน ทีนี้ก็ชวนแฟนมาทำด้วยกัน แล้วแฟนเป็นโรคกลัวรู เราก็ถามว่าอยากทำไหม ก็อยากทำ ก็อยากท้าทายตัวเองดูว่าทำแล้วมันจะเป็นยังไง ก็ลองหาวิธีการให้มันขยับได้ เราเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันพูดต่อได้เรื่อยๆ

เครื่องมือสองอย่างระหว่าง Performance Art กับภาพยนตร์มันทำงานเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน เพราะสุดท้ายคุณก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้สื่อสารประเด็นสังคมอย่างที่คุณหวังไว้

มันคือความไม่เป็นไปตามแผนที่เรารู้สึกว่างาน Performance พอมันผิดแผน มันแก้ผ้าเอาหน้ารอดแล้วสวยกว่า แต่พอเป็นหนัง การแก้ผ้าเอาหน้ารอดมันคือแผล เพราะว่ามันเล่าซ้ำซ้อน เล่ารอบแรกมันเล่าในบท เล่ารอบสองก็คือตอนถ่าย เล่ารอบที่สามก็คือตัดต่อ สามเวอร์ชั่นอันนี้มันไม่เหมือนกันสักอัน แต่ผลลัพธ์มันจะต้องมาจากการตัดต่อ แล้วมันเป็นอะไรที่เราย้อนกระบวนการไม่ได้ เช่น นักแสดงพูดบทผิด แต่ตอนถ่ายเราลืม เราไม่รู้ว่าพูดผิด แล้วก็ต้องมานั่งเรียบเรียงใหม่ว่าตรงไหม ตรงสารที่เราจะสื่อไหม แต่พอเป็น Performance ปุ๊บ มันกั๊กไว้อยู่แล้ว สารมันไม่ได้สื่อหมด มันไม่ได้เล่าชัดเจน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเหมือนตัวฟรีๆให้เราทำยังไงก็ได้ให้คนมันเก็ทแล้วไปคิดต่อ โดยที่ไม่ต้องยิงสารไปตรงๆ 

สุดท้ายแล้ว ทำไมคุณถึงเลือกขับเคลื่อนสังคมด้วยวิธีการใช้สื่อ

เรารู้สึกว่าการพูดเฉยๆ คนไม่ฟัง หมายถึงเรามองแบบชาวบ้านชาวช่องเลยนะ ประเด็นอะไรพวกนี้เราแค่เอาวิจัยมานั่งอ่าน เราก็จะรู้เรื่องแล้ว หรือเอาบทความ งานวิจัยอะไรมานั่งอ่าน หรือดูข่าว แต่ข่าวก็อย่างที่เรารู้ว่ามันจริงบ้างไม่จริงบ้าง เรามองว่าชาวบ้านเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่มันชัดเจน ถามว่าเขาเข้าถึงได้ไหม เข้าได้ แต่ว่าเขามีแรงในการอ่านไหม เขามีเวลาในการอ่านไหม เขาต้องทำงาน เขาต้องทำมาหากิน ฉะนั้น เราที่ทำอะไรอย่างนี้ได้ เราต้องแปลงร่างสิ่งเหล่านั้นให้ย่อยง่ายและ ไม่เชิงว่าสนุกแต่ดูแปลกตาไปจากชีวิตปกติประจำวัน 


ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเต้ผ่านการซื้อเสื้อที่ระลึก “ข้าวโพดมนุษย์” โดยดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้โดยตรงที่นี่ และติดตามการแสดงข้าวโพดมนุษย์ได้ทุกวันที่ 6-11 ของทุกเดือน บนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของเต้

เรื่อง: อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์
ภาพ: จักรพันธ์ ศรีวิชัย

Related