จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ ถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ ถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

| | Share

จดหมายเปิดผนึก
จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ ถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
(แปลจากภาษาอังกฤษ)

เรียน  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีไทย
เรื่อง  คำร้องเรียนเร่งด่วนว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือและสิทธิผู้ลี้ภัย
วันที่  20 มิถุนายน 2566

เรียน คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ก่อนอื่น พวกเราขอแสดงความยินดีด้วยใจจริงต่อท่าน และต่อผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุดของประเทศไทย  พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะได้รับจดหมายฉบับนี้ด้วยสุขภาพกายและกำลังใจอันดีเยี่ยม

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ (Karen Peace Support Network) คือเครือข่ายขององค์กรชุมชนชาวกะเหรี่ยงบนชายแดนไทย-เมียนมา  พวกเราเขียนจดหมายนี้ขึ้นเพื่อขอให้ท่านช่วยพิจารณาถึงปัญหาอันรุนแรงที่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทยกำลังเผชิญ และเผชิญอยู่เสมอมา  โดยเรามีความหวังอย่างแท้จริงว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่าน จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาท้าทายอันเร่งด่วน อีกทั้งจะได้ปรับปรุงนโยบายผู้ลี้ภัยของไทยต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของรัฐไทยต่อสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมดเจ็ดฉบับที่รัฐไทยเป็นภาคี และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (international customary law) ว่าด้วยหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement)

ในการนี้ เราขอเน้นย้ำประเด็นปัญหาและความต้องการจำเป็นของผู้ลี้ภัยโดยหลักในท่านพิจารณา

ในปัจจุบัน ไทยรองรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเป็นจำนวนกว่า 9 หมื่นคนในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย  ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ดำรงอยู่มาร่วม 40 ปีแล้ว ซึ่งเราก็ต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ผ่านมาทั้งหมด ที่ได้อนุญาตให้เราได้มาพักอาศัยลี้ภัยบนผืนแผ่นดินไทยเสมอมา แม้รัฐไทยจะไม่ได้เป็นภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสารทางเลือกต่อท้ายก็ตาม  

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ยังมีปัญหาเร่งด่วนและปัญหาสะสมที่ผู้ลี้ภัยได้เผชิญมาตลอดหลายทศวรรษ กล่าวคือ

ประการแรก ท่านอาจทราบดีแล้วถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ลี้ภัยกว่า 9 หมื่นคนนี้ ได้ถูกกักเก็บไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยมาเป็นระยะเวลายาวนาน บางคนใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมาแล้วร่วม 40 ปี  ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่มีเสรีภาพที่จะก้าวออกจากขอบเขตรั้วลวดหนาม  เราไม่สามารถออกมานอกค่ายลี้ภัยเพื่อหาอาหาร งาน และโอกาสใด ๆ สำหรับชีวิตเรา เว้นแต่ว่าจะได้รับการอนุญาตมาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งก็เป็นไปอย่างจำกัดยิ่ง และมักเป็นคำอนุญาตอย่างไม่เป็นทางการ ปราศจากข้อกฎหมายเป็นหลักประกันความปลอดภัย

นอกจากนี้ ในขณะที่ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาทำงานเลี้ยงชีพภายนอก ความช่วยด้านอาหารและความช่วยเหลืออื่น ๆ ได้ลดลงเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี  ทุกวันนี้พวกเราได้รับอาหารปันส่วนมูลค่าเพียง 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น  อีกทั้งยังเชื่อได้ว่า ด้วยวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลกในขณะนี้ ความช่วยเหลือด้านอาหารจากผู้บริจาคนานาชาติย่อมไม่อาจเพิ่มขึ้นได้อีก 

สิ่งสำคัญที่พวกเราอยากชี้แจงให้เป็นที่พึงระลึกก็คือ ผู้ลี้ภัยล้วนคือมนุษย์ผู้ไม่ปรารถนาจะมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่เพียงอย่างเดียว  เราต่างปรารถนาที่จะยืนหยัดด้วยลำแข้งของเรา และค้นหาโอกาสให้แก่ชีวิตของเราด้วยตัวของเราเองเพื่อที่เราจะได้สามารถเลี้ยงตนและครอบครัวเราเองได้  ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอให้ท่านพิจารณาถึงประเด็นสิทธิต่อการทำงานและได้รับการจ้างงานตามกฎหมายของผู้ลี้ภัย แม้จะเป็นเพียงการจำกัดในพื้นที่ชายแดนก็ตามที  

ผู้ลี้ภัยนั้นปรารถนาที่จะได้รับอนุญาตให้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ที่ซึ่งพวกเราอยู่อาศัยมาแสนนาน และถือว่าเป็นบ้านของเรา เช่นเดียวกัน

ประการที่สองสำหรับผู้ลี้ภัยในค่าย ก็คือข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาที่ได้การยอมรับ และการเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง  ระบบการศึกษาของเรานั้นได้รับการพัฒนามาอย่างดี ทว่า ระบบดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการทั้งโดยรัฐเมียนมาและไทย  ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยในค่ายเคยมีโอกาสเข้าถึงหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ของไทย  ทว่าโครงการดังกล่าวถูกระงับไปนานหลายปีแล้ว  ดังนั้น เราจึงอยากขอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้พิจารณานำโอกาสในการเข้าถึงหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)​ในค่ายผู้ลี้ภัยกลับมา พิจารณาหนทางที่จะบูรณาการหลักสูตรการศึกษาไทยเข้ากับหลักสูตรการศึกษาของผู้ลี้ภัยให้เป็นทางเลือกของเด็กและเยาวชน อีกทั้งอนุญาตให้ลูกหลานของเราได้เข้าถึงสถาบันการศึกษาขั้นสูงของไทยเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น  

การที่ผู้ลี้ภัยจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพนั้น ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการส่วนบุคคล  หากยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย เมียนมา ภูมิภาค และโลกอีกด้วย

ประการที่สามที่เราขอให้ท่านช่วยพิจารณา คือ ทางออกที่ยั่งยืน (durable solutions) ของพวกเรา  ซึ่งสหประชาชาติระบุไว้สามแนวทาง คือ การกลับคืนถิ่นฐานอย่างสมัครใจ การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม และการผสมกลมกลืนกับประเทศผู้แรกรับ  เมื่อการกลับคืนมาตุภูมิของเรายังไม่อาจเป็นไปได้เนื่องจากความขัดแย้งอันยืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่หลังรัฐประหารเมียนมาล่าสุดที่มีการโจมตีพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ  เราจึงหวังว่า ทางเลือกอีกสองทางจะยังคงเปิดอยู่สำหรับเรา นั่นคือ การไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม และการผสมกลมกลืนกับสังคมไทย  ทั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้คนที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้วหลายทศวรรษและเด็กที่เกิดและเติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยนั้น ประเทศไทยเป็นบ้านเดียวที่พวกเขารู้จัก  ในการนี้  การบูรณาการหลักสูตรการศึกษาไทยเข้าในระบบการศึกษาของผู้ลี้ภัย จะนำมาซึ่งการผสมกลมกลืนทางสังคมในพื้นที่ชายแดนได้อย่างสันติ

ประเด็นที่สี่ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่เร่งด่วนที่สุด ก็คือ สิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ลี้ภัยนับพันหมื่น ที่หลบหนีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน การสุ่มยิงปืนใหญ่ปืนใหญ่เข้าชุมชน และการสู้รบหลังรัฐประหารเมียนมา 2564 เข้ามาในหลาย ๆ อำเภอชายแดนไทย ในหลาย ๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา  นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบันนั้น เกิดเหตุการณ์การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย การกดดันผู้ลี้ภัยให้ต้องยินยอมกลับถิ่นฐาน และการปฏิเสธมิให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเหมาะสมอยู่บ่อยครั้ง  การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ชายแดน เนื่องจากขาดนโยบายและมาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจน  ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงความช่วยเหลือใด ๆ เลย และส่วนใหญ่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ลี้ภัยใหม่ ซึ่งมีกลุ่มคนเปราะบาง กล่าวคือ ผู้ป่วย ผู้พิการ ทารก เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ และคนชรา อยู่ร่วมด้วยนั้น มักได้รับการจัดให้อยู่พื้นที่ที่ปราศจากสาธารณูปโภคพื้นฐาน ดังเช่นในคอกวัว หรือริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งไม่มีระบบสุขาภิบาลพื้นฐานใด ๆ อันส่งผลต่อทั้งความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ลี้ภัย  

หากที่น่ากังวลที่สุดก็คือ การกดดันให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังเมียนมาแม้การโจมตีปะทะจะยังดำเนินอยู่ไม่ห่าง  การผลักดันหรือกดดันให้ผู้คนต้องข้ามพรมแดนกลับไปในขณะที่พวกเขายังคงมีความหวาดกลัวที่มีมูล (well-founded fear) อยู่  และสภาพอันไม่พึงประสงค์ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้งหลาย ทำให้ผู้ลี้ภัยเข้าใจว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการต้อนรับในประเทศไทย และจะไม่มีหนทางเลือกอื่นใด นอกจากหลบซ่อนเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ริมชายแดนภายในประเทศเมียนมาในสภาพเสี่ยงอันตรายและเสี่ยงภัยด้านสุขอนามัย  ทั้งนี้ เด็ก ๆ จำนวนมากมายที่ถูกปฏิเสธการเข้าถึงการลี้ภัยในประเทศไทย ได้กลายเป็นผู้ตกหล่นออกจากระบบการศึกษา และจากระบบการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วย

เนื่องด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมา พวกเรา จึงปรารถนาที่จะขอให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของท่าน ได้อนุญาตให้ผู้หนีภัยสงครามได้เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยและเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามความเหมาะสม  ผู้ลี้ภัยใหม่เหล่านี้ไม่มีความประสงค์จะพักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน และจะเลือกเดินทางกลับประเทศทันทีเมื่อพวกเขาประเมินว่าปลอดภัยเพียงพอ 

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ ขอกล่าวคำขอบคุณอย่างจริงใจ ที่ท่านได้ให้ความสนใจและแสดงจุดยืนในความยึดมั่นต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม  เราปรารถนาที่จะขอให้ท่านได้ให้ความสนใจและนำรัฐบาลของท่านแก้ไขประเด็นปัญหาอันรุนแรงยิ่งดังที่ได้กล่าวมาในจดหมายฉบับนี้  

พวกเราหวังอย่างแท้จริงว่า ภายใต้การนำของท่าน ประเทศไทย จะได้สร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชีวิตของผู้ลี้ภัย ซึ่งได้ประสบพบเจอกับการประหัตประหารและความทุกข์ยากอย่างสาหัสเกินกว่าที่ผู้อื่นใดจะจินตนาการได้เหล่านี้

ด้วยศรัทธา
นอ ตามะลา ซอ
ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ

** จดหมายดังกล่าว ได้รับการอ่านและส่งมอบให้แก่คุณธิษะณา ชุณหะวัณ ตัวแทนพรรคก้าวไกล ส.ส. เขตราชเทวี ปทุมวัน สาทร ในกิจกรรมวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน 2566 ที่ SEA Junction หอศิลป์กทม. ร่วมจัดโดย Karen Peace Support Network, SEA-Junction, Altsean-Burma, Progressive Voice, Amnesty International Thailand และมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ภาพประกอบ : KPSN , SEA Junction

Related