ด้วยมือประชาชนชายแดน
ปรากฏการณ์ “ประชาชนช่วยเหลือกันเอง” มีให้เห็นอยู่ในทุก ๆ วิกฤตการอพยพลี้ภัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ว่าการช่วยเหลือคุ้มครองกันและกันนั้น จะได้รับการให้คุณค่า หรือถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรรม
ทุกครั้งที่ชาวบ้านจากชายแดนรัฐกะเหรี่ยงหลบหนีสงครามข้ามแดน ไม่ว่าจะเป็นการข้ามแม่น้ำสาละวินด้านจ.แม่ฮ่องสอน ข้ามแม่น้ำเมยในเขต อ.แม่ระมาด-แม่สอด-พบพระ หรือข้ามพรมแดนป่าเขาอย่าง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย ก็คือประชาชนท้องถิ่น ทั้งที่เป็นชาวบ้านชาติพันธุ์เดียวกันกับผู้ที่หนีมา และชาวเมืองที่พูดได้แต่ภาษาไทย
ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นซ้ำซากตลอดมา คือการที่หน่วยงานความมั่นคงรวบอำนาจการจัดการไว้ในมือ (กระทั่งว่านายอำเภอ/ฝ่ายมหาดไทยยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่)ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น จนการส่งมอบความช่วยเหลือต้องทำกันอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ราวกับเป็นอาชญากรรม ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงเองก็ไม่มีงบประมาณ กำลังคน ทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด โดยทั้งหมดเป็นไปด้วยความหวั่นเกรงว่าผู้ลี้ภัยจะ “อยู่สบายเกินไปเดี๋ยวไม่ยอมกลับ” และ “ภาพผู้ลี้ภัยจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะแล้วควบคุมยาก” ซึ่งก็ล้วนเป็นความกลัวที่ตั้งอยู่บนฐานคิดกับข้อมูลเก่าแก่ ขณะที่สถานการณ์ชายแดนและโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมากแล้ว
ปรากฏการณ์ในการอพยพล่าสุดนับจากวันที่ 5 เม.ย. 2566 คือ ผู้ประกอบการเจ้าของท่าทรายริมแม่น้ำเมยในอ.แม่สอด จ.ตากบางราย ลุกขึ้นมาจัดการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยด้วยตนเอง โดยประสานขอความช่วยเหลือไปยังเครือข่ายเอกชนที่ตนรู้จัก และประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชนของผู้ลี้ภัยที่มาจากหลากหลายชุมชน
รถแม็คโครของท่าทรายถูกนำมาใช้ขุดส้วมเร่งด่วน ผู้ลี้ภัยช่วยกันสร้างห้องส้วมและบ่อน้ำใช้ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่เจ้าของท่าฯประสานหามาได้ การจัดการด้านอาหารและน้ำค่อย ๆ เป็นระบบมากขึ้นในแต่ละวัน โดยผู้นำผู้ลี้ภัยได้ตกลงแบ่งหน้าที่รับผิดชอบด้านเสบียง ฟืน อาหาร ฯลฯ ภายในกลุ่มชุมชนที่มีรวมกว่าสองพันคน ขณะที่เจ้าของท่าฯยังเปิดรับบริจาคถังเก็บน้ำ สุขาเคลื่อนที่ และข้าวกล่อง เนื่องจากมีผู้คนหนีมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหุงหาอาหารกันอย่างไรก็ไม่ทัน
ในการนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเพียงแค่ “อำนวยความสะดวก” ให้มากที่สุดโดยไม่เข้าไปควบคุม ทุกอย่างก็ลื่นไหลกันไปได้ ทั้ง ง่าย และมีประสิทธิภาพกว่าการรวบอำนาจการจัดการเป็นไหน ๆ
ประชาชนชายแดนมีพลังใจ กาย สมอง และความสามารถมากกว่าที่รัฐส่วนกลางมองเห็น เราไม่ได้ต้องการรัฐในฐานะผู้ปกครองที่ได้แต่ออกคำสั่งด้วยวิธีคิดว่าประชาชนคิดและทำอะไรไม่เป็น เราไม่ต้องการรัฐที่อยากควบคุมทุกอำนาจการจัดการด้วยกลัวตนจะหมดความสำคัญ แต่ เราต้องการรัฐที่เคารพ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้จัดการความมั่นคงของตนเอง ได้ด้วยมือตนเอง
เมื่อนั้น รัฐจะมีความสำคัญ
8 เมษายน 2566
ภาพประกอบ : ความพยายามในการจัดการดูแลผู้ลี้ภัยของประชาชนชายแดนที่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐแทนการควบคุม โดย ชาวบ้านริมเมย เม.ย. 2566