วิกฤตมนุษยธรรมอันเงียบเชียบ
เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ นับจาก 30 มกราคม ที่พื้นที่จ.ดูปลายา (กอเกอะเร็ก) รัฐกะเหรี่ยงทั่วทั้งบริเวณที่เรียกกันตามรูปลักษณะที่ปรากฎในแผนที่ว่า “หูช้าง” ถูกโจมตีอย่างหนัก
การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ดำเนินอยู่ในบริเวณชายแดนด้าน อ.พบพระและอุ้มผางนี้มาเกินครึ่งปีแล้ว การระดมยิงปืนใหญ่ ทิ้งระเบิด และกราดยิงจากทางอากาศของกองทัพพม่าคือยุทธวิธีโหดเหี้ยม ที่ไม่แยกแยะระหว่างพลเรือนไร้อาวุธกับคู่ต่อสู้ที่ถืออาวุธ
เมื่อชุมชนถูกทิ้งร้าง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ว่าชีวิตจะถูกพรากไปด้วยกระสุน แต่คือการพรากสิทธิที่จะ “มีชีวิตดังเช่นที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี” ไปจากผู้คน ที่ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ใช้วันเวลากับการหนี หนี และหนีไม่รู้จบ และไม่รู้ว่าจะหนีไปที่ไหน
ล่าสุด ก่อนรุ่งเช้าวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ปืนใหญ่ถูกระดมยิงเข้าชุมชนต่าง ๆ ไม่หยุดยั้งกว่า 20 นัด ภาคประชาสังคมชาวกะเหรี่ยงรายงานจำนวนคนพลัดถิ่นจาก 12 จุดในบริเวณขอบแดนด้าน ต.หนองหลวง แม่จัน และโมโกร อ.อุ้มผาง ไว้กว่า 3,000 คน และ 11 จุดด้านขอบ ต. พบพระและวาเลย์ อ.พบพระ อีกกว่า 4,000 รวมคนพลัดถิ่นรอบกรอบหูช้างเล็ก ๆ นี้ทั้งหมดถึงกว่า 7,000 คน
ทารก เด็กเล็ก เด็กโต หญิงมีครรภ์ แม่ พ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย เหล่านี้ ไม่สามารถเข้ามาขอพึ่งพาความคุ้มครองทั้งจากรัฐไทย และความคุ้มครองระหว่างประเทศได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พวกเขารู้ว่าการหลั่งไหลข้ามแดนมาพร้อมกัน ย่อมหมายถึงการถูกจัดให้อยู่รวมกันในสถานที่ไม่ห่างจากอันตรายมากนัก, การถูกปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแม้จะมีคนเต็มใจช่วยเหลือมากมาย และการกดดันให้กลับไปทันทีที่เสียงระเบิด-ปืนเงียบ แม้ภัยคุกคามชีวิตจะยืนรออยู่ตรงหน้า
สถานการณ์การอพยพพลัดถิ่นฐานบนชายแดนอุ้มผางต่อพบพระล่าสุด แม้จะได้รับการรายงานโดยสื่อมวลชนชาติพันธุ์ท้องถิ่น ก็ไม่ปรากฏเป็นข่าวในความรับรู้ของสังคมทั่วไป เมื่อผู้ลี้ภัยไม่ปรากฏตัวให้เห็นตามจำนวนจริง วิกฤตก็ถูกแอบซ่อนไว้อย่างเงียบเชียบ ผู้คนถูกปล่อยให้ดิ้นรนกันไปตามยะถากรรม ความต้องการพื้นฐานอันเร่งด่วนมหาศาลต่อข้าวสาร อาหาร ผ้าห่ม ผ้าบังแดดบังฝน ฯลฯ เป็นที่รู้กันจากเพียงเสียงกระซิบ
ถึงวันนี้ เส้นทางชายแดนบางเส้นถูกปิด ชาวบ้านที่เคยให้ความช่วยเหลือคนลี้ภัยถูกจับตามองและตรวจสอบ การส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกลายเป็นอาชญากรรมที่ต้องหลบๆซ่อนๆเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่แม่สะเรียงและสบเมย กับการอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนมี.ค.-พ.ค. 2564
รัฐไทยสามารถเลือกที่จะบรรเทาความสูญเสียโดยเปิดให้ผู้ลี้ภัยได้รู้ว่า พวกเขาจะสามารถหนีมาอยู่ในความคุ้มครองของเพื่อนบ้านเพื่อจะ “ใช้ชีวิตดังเช่นมนุษย์คนหนึ่ง” ได้
ความมั่นคงชายแดนไม่ได้มาจากกำแพงพรมแดนที่แข็งแกร่ง แต่มาจากความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนบนพื้นที่ชายแดนทั้งสองฟากฝั่ง การไม่จัดการอาจสบายกว่าการจัดการ แต่การจัดการนั้นง่ายกับอนาคตมากกว่าการไม่จัดการเสมอ
ความเงียบเชียบของวิกฤตมนุษยธรรมไม่ใช่ชัยชนะ หากคือสัญญาณบ่งบอกถึงความหายนะของอนาคต
รัฐไทยยังมีโอกาสเลือกที่จะได้ยินเสียงอันเงียบเชียบนี้
15 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพประกอบจากชาวบ้านชายแดน และแผนที่อ.อุ้มผางกับบริเวณ “หูช้าง”