ไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ?

ไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ?

| | Share

ไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ?

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน (22 ส.ค.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปสาระสำคัญของการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้นคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับทูตพม่าที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ในส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ไว้ว่า นอกจากด้านเศรษฐกิจ พลังงาน แรงงาน การค้าชายแดน และ “การรักษาความสงบชายแดน” แล้ว ยังมีเรื่องความพร้อมในการ “สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” และการช่วยเหลือทางสาธารณสุขด้วยการบริจาควัคซีนโควิด 19 ให้อีกด้วย

ถ้าไม่ต้องคิดอะไรมาก การให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมรวมถึงการบริจาควัคซีนโควิดให้เพื่อนบ้านที่ขาดแคลนย่อมเป็นเรื่องที่ดี ทั้งด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมล้วน ๆ กับเหตุผลในแง่ผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือความมั่นคงของชาติ  เพราะหากเพื่อนบ้านล่มสลาย ไทยก็ย่อมง่อนแง่นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ กรณีนี้ไม่ใช่กรณีโดยทั่ว ๆ ไป เพราะก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า วิกฤตมนุษยธรรมของพม่ามีต้นตอมาการที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จนเกิดการต่อต้าน ปราบปราม สู้รบกันทุกหัวระแหง จนมีผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) รวมนับล้าน และจนก่อเกิดความอดอยากยากแค้น ความป่วยไข้ ตลอดจนการเสียชีวิตจากโรคที่ปกติรักษาได้ เนื่องจากการไม่สามารถเข้าถึงยาและการบริการสาธารณสุข

ตัวอย่างเช่น รัฐกะเรนนีติดชายแดนไทย IDPs เพิ่มสูงจนมีสัดส่วนเกินครึ่งของประชากร  (197,115 คน, KCSN, May 2022)  กำลังประสบปัญหาความเจ็บป่วยทั้งไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด ท้องร่วง ลำไส้อักเสบ โรคกระเพาะ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ฯลฯ อันเนื่องจากสภาพการพลัดถิ่นฐานอันตึงเครียดและแร้นแค้น ที่สำคัญ ในค่ายพักคนพลัดถิ่นไม่มีทั้งยารักษาโรคและบรรเทาอาการเพียงพอ หรือไม่มีเลย คนที่เคยใช้ยาประจำตัวที่เกี่ยวกับความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ไทรอยด์ ฯลฯ ก็ต้องหยุดยาด้วยความทรมาน อาการทรุด และเสียชีวิต

พม่ากำลังขาดแคลนยาอย่างหนัก ร้อยละ90ของยาที่ใช้ประเทศมาจากการนำเข้า หากด้วยค่าเงินจั๊ตที่ตกต่ำถึงที่สุด ระเบียบใหม่ที่เข้มงวดในการนำเข้ายา และการจำกัดการขนส่งยาภายในประเทศ ทำให้ยาเป็นของหายากและราคาแพงลิบลิ่ว  เมื่อบวกเข้ากับการที่ต้องสูญเสียบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากไปกับการถูกคุมขัง (564 คน กับนักศึกษาแพทย์อีกมากกว่า 200 คน) ถูกสังหาร (36 คน) ต้องหลบซ่อนตัวเนื่องจากถูกออกหมายจับ (กว่า 600 คน)  กับลี้ภัยออกนอกประเทศอีกเป็นจำนวนมาก วิกฤตสาธารณสุขก็แผ่ขยาย

กล่าวโดยสรุป  รัฐบาลพม่า = กองทัพพม่า = คู่กรณีในความขัดแย้งอันใช้อาวุธ = ผู้ประหัตประหาร = ผู้ก่อเหตุการพลัดถิ่นฐาน = ต้นเหตุวิกฤตมนุษยธรรม การคิดจะส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้พลเรือนโดยผ่านมือผู้ก่อวิกฤตซึ่งปฏิบัติกับประชาชนชาติพันธุ์และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตนดังศัตรู จึงไม่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านมนุษยธรรม ไม่สามารถเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคงเพราะไม่ช่วยบรรเทาวิกฤต อีกทั้งไม่ได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่ง = ประชาชนได้

ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอันจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้นได้จริงในยามนี้ จึงคือการเปิดทางให้ผู้ลี้ภัยได้เข้ามาหลบภัยตามความจำเป็น การเปิดทางให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ลี้ภัยอย่างโปร่งใส และการเปิดทางให้แก่การส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนโดยอาศัยกลไกภาคประชาชนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ  การตรวจสอบว่าความช่วยเหลือมนุษยธรรมจะไม่ถูกดึงไปสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธเป็นสิ่งที่พึงกระทำและอยู่ในฐานะที่จะทำได้ง่ายกว่าการส่งผ่านรัฐบาลพม่า ซึ่งก็กองกำลังติดอาวุธ (กองทัพ) หนึ่งมากนัก

2 กันยายน 2565

วิดีโอประกอบ : ค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งหนึ่งในรัฐกะเรนนี

Related