ปฏิสัมพันธ์ว่าด้วยบทสัมภาษณ์ “ผู้แทนพิเศษ” ไทย-เมียนมา

ปฏิสัมพันธ์ว่าด้วยบทสัมภาษณ์ “ผู้แทนพิเศษ” ไทย-เมียนมา

| | Share

ปฏิสัมพันธ์ว่าด้วยบทสัมภาษณ์ “ผู้แทนพิเศษ” ไทย-เมียนมา

บทสัมภาษณ์คุณพรพิมล กาญจนลักษณ์ ผู้แทนพิเศษของรมต.กต. ด้านเมียนมา หลังจากวันที่คณะทหารพม่า (SAC) ท้าทายสังคมโลกและเย้ยหยันฉันทามติอาเซียนด้วยการสั่งประหารนักกิจกรรมประชาธิปไตยสี่คน (มติชน 2/08/65) ย้ำให้เห็นถึงทัศนะแบบโลกเก่า และนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มองไม่เห็นทิศทางอื่นใดนอกจากการช่วยพยุงกันไว้อย่างเห็นอกเห็นใจ

ข้อกล่าวอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ปฏิสัมพันธ์” กับเผด็จการทหารเพื่อจะได้ “คงอิทธิพลต่อความคิดหรือการกระทำ” นั้นถูกหยิบยกมาใช้เสมอมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทั้งที่จริงก็ไม่ยากเกินเข้าใจว่า ทางเลือกการดำเนินความสัมพันธ์ย่อมไม่ได้มีเพียงสองทาง คือถ้าไม่สนิทสนมกลมเกลียวก็ต้องตัดขาดกันไปเลย หากยังมีทางปลีกย่อยในรายละเอียดได้มากมาย

แน่นอนว่า คำสัมภาษณ์ที่ว่า “การที่เรามีปฏิสัมพันธ์ (engage) กับเขา ไม่ได้หมายความว่าเราให้การรับรองความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย (legitimacy)” ก็ย่อมถูกต้อง ทว่า “ปฏิสัมพันธ์” ชนิดที่ผู้นำรัฐบาล-กองทัพไทยกำลังมีกับ SAC – กองทัพพม่า กลับรวมการสนับสนุนหลายช่องทางนับไม่ถ้วน (แม้จะไม่นับเรื่องข้าว 700 กระสอบปริศนา) กระทั่งถึงแก้ตัวแทนในกรณีเครื่องบินรบเข้ามาใช้พื้นที่เขตแดนไทยเพื่อความสะดวกในการทิ้งระเบิดลงชุมชนพลเรือนตนเองนั้น เรียกได้ว่ามีความหมายมากมายเหนือกว่าการแค่รับรองความถูกต้องชอบธรรมเสียด้วยซ้ำ

ที่สำคัญ คำกล่าวของผู้แทนพิเศษฯที่ว่า “เมียนมาเป็นประเทศที่มีการก่อการร้ายภายในประเทศยาวนานที่สุดในโลก” ชี้ชัดถึงทัศนคติที่มองการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นผู้ร้าย สอดคล้องกับเหตุผลเบื้องหลัง “ปฏิสัมพันธ์” แบบไทย ๆ ซึ่งได้รับการเปิดเผยไว้ในบทสัมภาษณ์หลายช่วงหลายตอน เช่น

“… การที่มีชนกลุ่มน้อยกว่า 150 กลุ่ม หลายกลุ่มจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล พยายามมีอะไรเป็นของตัวเอง มีอำนาจเป็นของตัวเอง กองทัพจึงเห็นว่าหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาคือทำให้ศูนย์กลางมีความเข้มแข็งเพื่อคุมไม่ให้ทุกอย่างแตกเป็นเสี่ยง ๆ”

“ตอนซูจีขึ้นมาเป็นรัฐบาล กองทัพก็ยินดีจะร่วมมือ เป็นการแบ่งปันอำนาจกัน…” 

หรือ “… ทหารเห็นว่าการปฎิวัติยึดอำนาจของเขาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็ระบุว่าหลังจากนั้น เขาต้องจัดเลือกตั้งใหม่ให้ได้ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด” 

ด้วยความเข้าอกเข้าใจ และความเห็นพ้องต้องกันเป็นปีเป็นขลุ่ยต่อคำว่า “ประชาธิปไตย” ปฏิสัมพันธ์รัฐไทย-พม่าที่เกิดขึ้น จึงไม่อาจคาดหวังให้นำไปสู่เพื่อนบ้านที่สงบสันติ เพราะนั่นอาจไม่ใช่เป้าหมาย

3 สิงหาคม 2565
ภาพประกอบ : บ้านของฉันถูกเผา งานศิลปะโดย Art-Atun

Related