อาวุธในนามของมนุษยธรรม
ผลประชุมหารือของอาเซียนว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อพม่า (6 พ.ค. 2565) นั้น ไม่ได้มุ่งหมายช่วยเหลือประชาชนที่กำลังทุกข์ยาก แต่คือเกมการเมืองซึ่งในที่สุดก็คือการมอบอาวุธชั้นดีให้แก่รัฐบาลทหารพม่า (SAC)
ไม่ว่าจะมีถ้อยแถลง ร้องเรียน หรือข่าวสารข้อมูลทั้งในสื่อกระแสหลักนานาชาติตลอดจนสื่อทางเลือกท้องถิ่นถึงการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนของกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่องโหดร้ายเพียงไร อาเซียนก็ยังตกลงร่วมกันว่า ช่องทางการส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนพม่า ก็จะคือ ศูนย์ AHA (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance) และรัฐบาล SAC
ศูนย์ AHA ได้รับการจัดตั้งเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาค การส่งความช่วยเหลือให้แก่ IDPs จากภัยธรรมชาติกระทำผ่านรัฐบาลเป็นปกติ แต่สำหรับ IDPs ที่เกิดจากการสู้รบและการโจมตีพลเรือนของรัฐบาลเองนั้น เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง
ผ่านไปกว่าปีหลังรัฐประหาร จำนวนผู้พลัดถิ่นในประเทศ (Internally Displaced Persons – IDPs) พม่า เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 590,100 คน ซึ่งรวมจากที่พลัดถิ่นอยู่ก่อนหน้า ก็รวมจำนวนสูงเกือบล้าน หรือ 936,700 คน (OCHA, 4/05/22)
การส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมผ่านรัฐบาลที่เป็นผู้ก่อวิกฤตมนุษยธรรม นับแต่การยิงปืนใหญ่-ทิ้งระเบิดลงชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์ วัด ยกกำลังเข้ากวาดล้างผู้ประท้วงต่อต้านอย่างเหี้ยมโหด ตั้งด่านสกัดกั้นอาหารของ IDPs ที่ส่งมาจากรัฐฉาน สังหารคนทำงานมนุษยธรรมซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ Save the Children 2 คนและอาสาสมัครช่วยเหลือ IDPs ในรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนี ฯลฯ ถือเป็นเรื่องตลกร้ายเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยอำนาจในการระบุพื้นที่ เลือกภาคีท้องถิ่น และประสานงานการส่งมอบความช่วยเหลือ รัฐบาล SAC สามารถใช้ “มนุษยธรรม” เป็นตัวประกัน หรือเป็นอำนาจต่อรอง ข่มขู่คุกคาม บบังคับให้ประชาชนต้องจำยอม ที่สำคัญ ด้วยเหตุที่ SAC ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในประเทศได้ทั้งหมด (ส่วนหนึ่งที่เข้าไม่ได้คือ “พื้นที่ปลอดภัย” ในสายตาประชาชน!) การส่งความช่วยเหลือจึงอาจกลายเป็นข้ออ้างในการโจมตี (โดยไม่แยกแยะระหว่างคนติดอาวุธหรือพลเรือน) และเพิ่มกำลังพลเพื่อครอบครอง โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของคนทำงานมนุษยธรรม
การส่งมอบความช่วยเหลือต่อ IDPs ในประเทศพม่าที่น่าจะช่วยชีวิตคนได้มากที่สุด ก็คือการส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดน (cross-border aid) ผ่านทางเครือข่ายประชาสังคมท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงกลุ่มศาสนา สุขภาพ การศึกษา ฯลฯ เช่นเดียวกับที่ดำเนินการให้แก่ IDPs ซีเรีย ซึ่งมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ ได้ให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนแก่ IDPs ในพื้นที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียผ่านจุดผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้านที่กำหนดไว้ชัดเจน แม้รัฐบาลซีเรียจะประท้วงว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยก็ตาม
แน่นอนว่า cross-border aid อาจนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายประชาสังคมกับกลุ่มติดอาวุธ และมองว่าเป็นการทำให้มนุษยธรรม “ไม่เป็นกลาง” หรืออาจถูกนำไปเป็นประโยชน์ให้กองกำลังติดอาวุธ หากการตรวจสอบ (monitor) กลุ่มเหล่านี้ให้เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใสเป็นกลาง (ไม่เลือกปฏิบัติผู้รับประโยชน์) ย่อมสามารถกระทำได้ง่ายและจริง กว่าการตรวจสอบ SAC ซึ่งปัจจุบันยังไม่ยอมแม้แต่จะให้ทูตพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยกรณีพม่าเข้าประเทศ
สำหรับไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในอาเซียนผู้เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอันขาดความเป็นกลาง และเป็นการมอบอาวุธชั้นดีให้แก่กองทัพพม่า ก็จะต้องยอมรับผิดชอบกับผลการตัดสินใจที่จะไม่ได้ทำให้ชายแดนสงบสุข หากกลับเพิ่มจำนวนและความทุกข์ยากของผู้พลัดถิ่นทั้งในประเทศ และที่จะลี้ภัยมายังประเทศไทย ต่อไป
19 พฤษภาคม 2565
ภาพประกอบ
1. เครื่องเซ่นเลี้ยงผีน้ำ ขอให้ปกป้องเด็กที่ลงน้ำแล้วนอนไม่หลับทั้งคืน
2. แม่น้ำเมยช่วงต้นน้ำ พรมแดนไทย-พม่า ที่แคบพอวิ่งหนีข้ามไปมาได้ง่าย ต่างกับสาละวินทางเหนือ
3. เพิงพัก IDPs จากสงครามดูปลายา
ถ่ายโดย ชาวบ้านริมเมย