สร้างสะพาน
ก่อนเปิดเทอมรับฝนลงหนัก ชาวบ้านในชุมชนริมชายแดนจ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง กำลังช่วยกันสร้างสะพานข้ามลำห้วย เพื่อเชื่อมระหว่างหมู่บ้านกับโรงเรียน
ขณะที่สงครามยังดำเนินอยู่ทั้งด้านใต้ ที่ จ.ดูปลายา (ตรงข้ามแม่สอด-พบพระ) และตอนเหนือของพะอัน เลยไปจนถึง จ. มื่อตรอ (ตรงข้ามสบเมย-แม่สะเรียง) กับดูตาทู (ตะโถ่ง) คนแถบริมเมยตอนกลางพะอันก็ยังดำเนินชีวิตตามปกติ แม้จะมีการขนข้าวสารมาฝากไว้ฝั่งไทย และต้องคอยระแวดระวังสัญญาณผิดปกติต่าง ๆ ประสบการณ์ก็สอนให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะก้าวต่อ
สิบสามปีก่อน พ่อแม่หรือรุ่นพี่ของเด็ก ๆ ในชุมชนแถบนี้ต้องอพยพหนีภัยมายังอ.ท่าสองยาง จ.ตากเช่นกัน ขณะนั้นกองทัพพม่าโจมตีและเข้ายึดครองพื้นที่โดยอาศัยกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) นำหน้า โรงเรียนกลายเป็นค่ายพักทหาร บางแห่งถูกเผาทำลาย เสาหอพักถูกถอนมาขายฝั่งไทย ผู้คนที่หลงเหลืออยู่ถูกจับบังคับเป็นลูกหาบ
มิถุนายน 2552 – มีนาคม 2553 ชาวบ้านกว่า 4000 คนขอลี้ภัยอยู่ในบ้านหนองบัวและอุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละซึ่งเป็นค่ายฯที่ใกล้ที่สุด แต่ก็ยังได้รับอนุญาตให้ตั้งเพิงพักและสร้างโรงเรียนชั่วคราวได้ เด็กโตได้รับอนุญาตให้เข้าไปเรียนต่อและอยู่ในหอพักในแม่หละได้ ตลอด 9 เดือน มีคนพยายามกลับไปดูพืชผลสัตว์เลี้ยงเป็นระยะ แต่บ้างก็ถูกกับระเบิดหรือถูกจับสอบสวนทรมาน ความพยายามกดดันให้กลับนั้นเป็นระลอกจนมีคนตัดสินใจข้ามน้ำกลับไปทีละชุด จนกระทั่งกลุ่มสุดท้ายราวกว่า 600 คนยินยอมกลับไปเมื่อมีการตกลงกันระหว่าง KNU – DKBA เพื่อรับรองความปลอดภัยในพื้นที่
นับจากนั้น คนคืนถิ่นก็ค่อย ๆ ทะยอย “สร้าง” ทุกสิ่งใหม่อย่างระมัดระวัง หลังข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558โรงเรียนชุมชนเล็ก ๆ จึงทะยอยเปิดใหม่ขณะที่โรงเรียนที่กลับมาเปิดแต่แรกค่อยขยายเพิ่ม
คนหนุ่มสาวที่เป็นครูและกำลังของชุมชนล้วนผ่านประสบการณ์การพลัดถิ่นฐานมาแต่เด็ก พวกเขาคือหลักฐานยืนยันว่า การเป็นผู้ลี้ภัยหรือคนพลัดถิ่นในประเทศเป็นเพียงสภาวะชั่วคราวของชีวิต ไม่มีใครต้องการพึ่งพาไปตลอดกาล หากน้ำใจที่มนุษย์มีให้ต่อกันในครั้งหนึ่งนั้น ได้ช่วยให้พวกเขาเติบโตและเป็นผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
อดีตคนลี้ภัยคือผู้สร้างสะพานเชื่อมอดีตกับอนาคต ภายในกับภายนอก และประสบการณ์สู่ความเข้มแข็ง
12 พฤษภาคม 2565
หมายเหตุ
– พี่ช้างของเด็ก ๆ กับควาญช้างหนุ่มน้อยคือส่วนสำคัญของการสร้างสะพานครั้งนี้ด้วย
– โรงเรียนริมขอบแดนยังต้องการการสนับสนุนในหลายด้าน ติดต่อสอบถามทาง inbox หรือติดตาม FB : Friends Without Borders Shop ซึ่งนำผลิตภัณฑ์ของเด็ก ๆ มาขายนำรายได้ให้โรงเรียนและชุมชน
ภาพประกอบ : การสร้างสะพานของชุมชนริมเมย จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง โดย ชาวบ้านริมเมย