การค้ามนุษย์ หนีเสือปะจรเข้

การค้ามนุษย์ หนีเสือปะจรเข้

| | Share

การค้ามนุษย์ หนีเสือปะจรเข้

เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่ปัญหาการค้ามนุษย์ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ธุรกิจมืดนี้จะดำรงอยู่ กระทั่งถึงเฟื่องฟู ไม่ได้เลย หากปราศจากการรู้เห็นเป็นใจและแสวงประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง

แม้การค้ามนุษย์จะเคยเป็นธุรกิจที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศไทย แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายที่ผุดขึ้นทุกหัวระแหง และสานต่อกันเป็นข่ายใยใหญ่น้อย ก็เนื่องมาจากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทยนั่นเอง

ยิ่งมีคนที่ถูกกดดันให้ต้องออกจากประเทศตนด้วยเหตุความรุนแรงทางการเมืองและเศรษฐกิจมากเท่าไร เครือข่ายค้ามนุษย์ก็ยิ่งหางานง่าย  และยิ่งปราศจากนโยบาย กฎหมาย และมาตรการคุ้มครองผู้ลี้ภัย หรือผลักไสคนที่มีความจำเป็นต้องออกจากประเทศบ้านเกิดของตนมากเท่าใด เครือข่ายค้ามนุษย์ก็ยิ่งอวบอ้วน

เพราะคนที่ไม่เหลือทางเลือกมากนัก ก็มักพร้อมจะเสี่ยง หรือยอมพาตัวเข้าไปอยู่ในสถานการณ์หนีเสือปะจรเข้ ด้วยความหวังว่ามันอาจจะนำไปสู่ฟ้าที่สว่างกว่า

เครือข่ายเล็ก ๆ ที่ดำเนินการด้วยคนไม่กี่คน สามารถอยู่ได้ด้วยอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเล็ก ๆ ไม่กี่คน  เครือข่ายใหญ่อย่างเช่นกรณีการค้าชาวโรฮิงญา ที่มีการจัดการเป็นระบบ ใช้คนจำนวนมากหลายระดับ จะอยู่ได้ได้ก็ด้วยอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใหญ่ขึ้นและหลายคนมากขึ้น

ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองพม่าที่วิกฤตอยู่ในขณะนี้ คนข้ามแดนมาทุกวัน จำนวนมากไม่เหลือทางเลือกอื่นใดสำหรับชีวิต การกวาดจับจึงไม่ได้หมายถึงการลดลงของคนที่ข้ามแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่หมายถึงธุรกิจการหาประโยชน์ทุกรูปแบบที่ย้อนกลับมาเฟื่องฟู  ไม่ว่าจะเป็นการเรียกค่าคุ้มครอง การแสวงประโยชน์แรงงาน ตลอดจนถึงการค้ามนุษย์

ซึ่ง การทุ่มสรรพกำลังกวาดล้างธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟูดังกล่าวนี้ ก็อาจไม่ได้ทำให้ทั้งคนและธุรกิจลดน้อยถอยลงเลย เพราะเมื่อมีความจำเป็นต้องออกนอกประเทศก็ต้องออก และเมื่อประเทศผู้รับยังไม่มีนโยบายกฎหมายที่จะจัดการกับสภาพการณ์นี้ได้อย่างมีมนุษยธรรม มาตรการนอกกฎหมายก็เข้ายึดพื้นที่ได้โดยง่าย

19 กุมภาพันธ์ 2565

ภาพประกอบ : ภาพถ่ายเก่าในคลังภาพของเพื่อนไร้พรมแดน จากเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ที่จังหวัดภาคใต้ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

Related