การย้ายถิ่น “มาทำงาน” ในวันนี้ ไม่ใช่การย้ายถิ่นโดยสมัครใจ
“มันมาด้วยแรงกดดันเหมือนยี่สิบกว่าปีก่อน” เพื่อนคนมอญซึ่งกลับมาอยู่เมืองไทยใหม่คนหนึ่งบอกกับเรา
พ.ศ. 2565 แรงงานข้ามชาติจากพม่าหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย แม้จะมีความเข้มงวดและมาตรการกวาดจับตลอดแนวชายแดนและเมืองชั้นในมากกว่าเดิมหลายเท่า
เพราะ การจับกุมไม่เคยแก้ปัญหาการอพยพเข้าเมืองด้วยเหตุจำเป็นได้เสมอมา และก็จะไม่ได้ทำให้จำนวนคนที่เข้ามาลดลงแต่อย่างใด
เหตุจำเป็นในวันนี้ คือความรุนแรงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้ลี้ภัยที่หนีจากการเป็นเป้าของการประหัตประหาร สภาพประเทศพม่าทุกวันนี้ก็เรียกว่า “อยู่ไม่ได้”
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แรงงานหลายร้อยคนถูกจับกุมเกือบทุกช่องทางการเข้าออก ทั้งที่อ.ฝาง เชียงใหม่ อ.สังขละบุรี กาญจนบุรี อ.เมือง ระนอง และอ. แม่สอด จ.ตาก เป็นต้น
รายงานข่าวของสำนักข่าวชายขอบชี้ว่า แรงงานจากรัฐฉานที่ถูกจับกุมที่อ.ฝาง เป็นหญิงเกือบครึ่ง นอกจากความอดอยากยากแค้นทุกหย่อยหญ้าแล้ว พวกเขายังหลบหนีความไม่ปลอดภัย เช่นการละเมิดทางเพศในภาวะสงคราม และการถูกบังคับเกณฑ์ทหารโดยฝ่ายต่าง ๆ มาอีกด้วย
“พม่าย้อนกลับไปเป็นเหมือนก่อน” เพื่อนของเราย้ำ หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรก เขาถือเงินเก็บกลับไปเปิดธุรกิจเล็ก ๆ ที่บ้าน และถึงวันนี้ก็ต้องย้อนกลับมาอีกครั้ง “อะไรที่คนรุ่นนี้ไม่เคยเห็นเขาก็จะได้เห็น ทุกที่อันตราย ทหารจับตามองทุกคน ธุรกิจอยู่ไม่ได้ คนไม่มีงานทำ คนไม่มีข้าวกิน อาหารแพงมาก ที่ไหน ๆ ก็มีแต่คนจะมาเมืองไทย แต่จะเข้ามาแบบถูกกฎหมายก็ไม่ได้”
“การที่ตำรวจจับไม่ได้หมายความว่าคนเขาจะกลัวแล้วจะไม่มา แต่หมายความว่าเขาต้องเตรียมเงินมาให้มากขึ้น หรือไม่ก็เป็นหนี้นายหน้าสูงขึ้น”
“ถ้าไม่มาเมืองไทย จะอยู่รอดก็ต้องไปสมัครเป็นทหารเป็นตำรวจพม่า ผมก็ไม่ไปหรอก”
การไม่มาเมืองไทยจึงไม่ใช่ทางเลือก สำหรับเขา การเดินทางมาเป็นแรงงานในประเทศไทยจึงคือหนทางเดียว
ภาพประกอบ : ภาพสี เหตุการณ์ปี 2540 ในคลังภาพของเพื่อนไร้พรมแดน ภาพขาวดำ เหตุการณ์ปี 2565 จาก KIC