ภารกิจส่งท้ายปี โดย อ. กฤษณ์พชร โสมณวัตร
“เมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมา ผมกับพรรคพวกเดินทางไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพราะอยากรู้ อยากเห็นสถานการณ์ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาร์ที่กระทำต่อชนพื้นเมืองชาวกระเหรี่ยง
ด้วยความช่วยเหลือข้อมูลจากเพื่อนรุ่นน้อง ทำให้พอจะทราบความต้องการของผู้ลี้ภัยว่าขาดแคลนเครื่องใช้เกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง และสุขอนามัย เราจึงระดมเงินเท่าที่พอจะมีกัน ซื้อข้าวของเหล่านั้นไปบริจาค
การเดินทางไปบริจาคไม่มีอะไรยาก เพียงแค่เอาของไปดรอปไว้ที่ศูนย์รับบริจาค ปัญหาคือพวกเราไม่ได้พอใจเพียงแค่นั้น พวกเราต้องการจะเห็นสภาพของผู้ลี้ภัยว่าได้นับการปฏิบัติอย่างไรในด้านการได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เราเข้าเด็ดขาด แต่เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ที่ผมเข้าใจว่าเป็นคนในพื้นที่กลับชี้โพรงให้กระจอกเฒ่าอย่าวพกวเราแอบหลบเข้าไปจนถึงค่ายผู้ลี้ภัยจนได้
พวกเราเดินตามชายป่าไปสัก 1-2 กิโลเมตร และตัดที่สวนลุ่มแม่น้ำเมยของประชาชนตามแนวชายแดนอีกราวๆ สองกิโลเมตร ใต้แดดร้อนจัด จนพวกเราเดินไปจนถึงค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเมย
เจ้าหน้าที่ทหารพอพบกับพวกเราก็งง ถามพวกเราใหญ่ว่ามาจากองค์กรอะไร (คงเดาว่าเราสังกัดนักพัฒนาเอกชนสักองค์กรหนึ่ง ที่คงได้รับคำสั่งมาว่าให้ระวังเป็นพิเศษ) เราตอบไปตามความจริงว่า สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเขาไม่ไล่ แต่ก็ไม่ยอมให้เข้า พยานามต้อนรับขับสู้เราด้วยที่นั่งและเครื่องดื่ม จนผู้บังคับบัญชาของพวกเขามาถึง
ตามที่คาด เขาไม่อนุญาตให้เราเข้าไปสังเกตการณ์ โดยอ้างสถานการณ์โรคระบาด แต่เน้นว่าถ้าเราอยากทราบอะไร เขาจะให้ข้อมูลที่เป็นจริงทุกอย่าง
สภาพคือคนประมาณ 3500 คน ใช้ชีวิตอยู่ในคอกเลี้ยงสัตว์ และเต๊นท์งานวัดสีขาว ขนาดของพื้นที่อยู่ราวๆ 2-3 สนามฟุตบอล ใช้สุขาเคลื่อนที่ อาหารที่บริโภคก็มาจากอาหารปรุงสำเร็จโดยพี่น้องกระเหรี่ยงในฝั่งไทย และอีกส่วนหนึ่งคือผู้ลี้ภัยปรุงกันเองไม่รู้ว่าส่วนใหญ่ไหม แต่เสียงที่ได้ยินชัดเจนที่สุดตลอดการนั่งอยู่ในค่ายเป็นเวลาเกือบชั่วโมง คือ เสียงเด็กเล่นกัน
การลี้ภัยตามธรรมชาติ คือการเข้ามาอย่างหลากหลายตามแนวชายแดนที่ใกล้และมีเครือญาติอยู่ แต่การจัดการของกองทัพไทย คือการรวมเอาผู้ลี้ภัยทุกคนมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงเพียงแห่งเดียว เพื่อความสะดวกในการควบคุม จัดการ บริหาร และเคลื่อนย้าย และสภาพที่ตามมา คือความหนาแน่นทำให้สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ทั้งกิน ขับถ่าย นอน หรือเล่น ล้วนแต่ไม่เป็นที่เป็นทาง
ผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยกำลังทยอยกลับ แต่ผมก็ตอบไม่ได้ชัดว่าเพราะอะไร อาจเป็นเพราะสถานการณ์อาจกำลังจะดีขึ้น ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลกองกำลังเถื่อนของเมียนมาร์ครองอำนาจนำแล้ว ซึ่งแย่ หรืออาจเป็นเพราะความเป็นอยู่ในค่ายย่ำแย่เกินไปก็เป็นได้
เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนย้ายคนที่สมัครใจกลับให้กลับไป โดยหลับตาลงข้างหนึ่งว่าฝั่งนั้นปลอดภัยดีแล้ว พร้อมให้เหตุผลว่า “พวกเราดูแลพวกเขาดีกว่าที่เราดูแลกันเองเยอะ”
ผมไม่ได้ตอบอะไร คิดในใจแต่ว่า เราคงเทียบความช่วยเหลือที่เราให้กับผู้ลี้ภัยกับคนไทยไม่ได้ เพราะพวกเขาประสบภัย และการมห้ความช่วยเหลือเป็นหน้าที่ทางมนุษยธรรม ต่อผู้บริสุทธ์ ต่อผู้ประสบภัยสงคราม อีกใจหนึ่ง หรือเหมือนกับที่มีคนเคยบอกว่า เราคนไทยอยู่ในไทยก็เหมือนเช่าเขาอยู่เหมือนกัน
สุดท้ายเจ้าหน้าที่ขอถ่ายรูปเราทุกคนไว้ให้ผู้บังคับบัญชา ถึงแม้เราจะเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมายสักข้อเดียวก็ตาม
ขอบคุณทุกน้ำใจที่ช่วยให้ภารกิจส่งท้ายปีของผมง่ายขึ้น และใหญ่โตขึ้น ที่ไม่เอ่ยนามท่านใด เป็นเพราะรู้ว่าผมเองไปยุ่งเกี่ยวกับหลายเรื่อง และอาจรวมถึงเรื่องความมั่นคงด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องสนุกเสมอไป”
ภาพประกอบ ผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) จากเหตุการณ์สู้รบดังกล่าวที่ไม่ได้ข้ามมาฝั่งไทย โดย KESAN (Karen Environment and Social Action Network)