ยุติการลี้ภัยต้องก้าวให้ไกลกว่าการหยุดยิง
29 ธันวาคม มีรายงานข่าวว่ากองทัพไทย เข้าไปมีบทบาทในการประสานการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าและ KNU ซึ่งกำลังก่อให้เกิดการอพยพลี้ภัยของผู้คนหลายพันคนมายังอ.แม่สอดและพบพระ จ.ตากอยู่ขณะนี้
“กองทัพพม่าย่ำแย่มากจึงยื่นเสนอขอเจรจา” เสียงจากชายแดนกล่าว “เขาเป็นคนบุกมา แต่อยากให้ทาง KNU เข้าสู่กระบวนการหยุดยิงเดิม (nationwide ceasefire agreement) ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นการตกลงภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันจึงได้จบไปตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์”
ผู้ลี้ภัยหนีจากบ้านของตนมาด้วยความตั้งใจจะให้การอพยพหลบหนีนั้นเป็นเพียงประสบการณ์ชั่วคราว ทุกคนล้วนมีความประสงค์จะกลับบ้าน หากการ “บอกให้กลับ” โดยที่เสียงปืนยังดังอยู่เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน ยังถือว่าเป็นการส่งกลับไปสู่อันตราย ซึ่งการพยายามผลักดันให้เกิดเงื่อนไขความปลอดภัยเพียงพอที่จะกลับได้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร
“การไม่มีการสู้รบย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาคือ หากจะมีการกดดันให้หยุดยิงเพียงเพื่อจะให้ผู้ลี้ภัยกลับไปได้ นั่นคงหมายถึงการกลับไปเก็บของและเตรียมพร้อมจะต้องมีการหนีมาใหม่มากกว่า”
“การหยุดยิงชั่วคราว” มีความหมายแตกต่างกันกับ “สันติภาพ” การหยุดยิงชั่วคราวก็คือเงื่อนไขให้ผู้ลี้ภัยกลับได้ชั่วคราว ขณะที่สันติภาพคือเงื่อนไขการกลับถิ่นฐานและยุติการอพยพ
เมื่อการหยุดยิงชั่วคราวที่ผู้คนมั่นใจได้พอจะกลับไปตั้งหลัก หรือดูแลทรัพย์สินตนแล้ว หากจะให้การอพยพลี้ภัยยุติ ก็จะต้องหมายถึงการยุติการใช้อำนาจทางทหารเข้าโจมตีพื้นที่ชาติพันธุ์ และปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศด้วย
“ประชาชนพม่าและประเทศไทยจะยังไม่สุขสงบตราบใดที่เผด็จการทหารยังครองพม่า” เสียงจากผู้ลี้ภัยที่แม่สอดรายหนึ่งส่งมาถึงเพื่อนไร้พรมแดน “เราไม่เคยอยากมารบกวนประเทศไทย แต่ในยามนี้ เราไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ เราหวังให้ชาวไทยมองเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่พวกเราที่ต้องหนีมา แต่ปัญหาอยู่ที่เผด็จการทหารพม่าที่ยึดอำนาจไปจากประชาชนและทำร้ายพี่น้องชาติพันธุ์ของเรา”
30 ธันวาคม 2564
ภาพประกอบ “โลกาพหุรัก” โดย น.ส. พิม ไทยใหญ่ อายุ 15 ปี จากจ.เชียงราย ผลงานประกวดภาพวาดเพื่อนไร้พรมแดนประเภทเยาวชน เข้ารอบแรก longlist