29 ต.ค. ก่อนเที่ยง ระหว่างที่แรงงานกัมพูชาจำนวนหนึ่งกำลังรอการเจรจาระหว่างแกนนำของตนกับกระทรวงแรงงานอยู่บริเวณใต้ถุนอาคาร จนท. กระทรวงก็แจ้งให้ตำรวจเข้าขอตรวจบัตรประจำตัว และจับกุมผู้ที่ไม่มีเอกสารโดยทันที 7 คน หญิงชายทั้งหมดถูกควบคุมตัวจากใต้ถุนกระทรวงแรงงานไปยังสน.ดินแดงพร้อมกับผู้ที่อาสาไปเป็นล่ามให้อีกหนึ่งคน ด้วยเหตุผลว่า “จะขอควบคุมตัวไปตรวจสอบสถานะ เพราะไม่ได้พกเอกสารติดตัวมาด้วย”
แรงงานข้ามชาติที่ยืนอยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานทั้งหมด เป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานก่อสร้าง สหภาพคนทำงาน และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ที่เดินทางมายื่นจดหมายติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติครม.28 ก.ย. 2564 เกี่ยวกับงการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด และนำเสนอปัญหาของการดำเนินการตามมติค.ร.ม.อื่น ๆ ก่อนหน้า ซึ่งรวมถึงความล่าช้าในการดำเนินการ การเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ และปัญหาการถูกรีดไถจากจนท. เป็นต้น ทั้งนี้ มีแรงงานในสถานประกอบการบางแห่งถูกเรียกเก็บเงินจากเจ้าหน้าที่ถึง 17 หน่วยงาน ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ ภาค และส่วนกลาง
ตัวแทนเครือข่ายได้รีบออกจากห้องประชุมเพื่อจะไปช่วยชี้แจงกับจนท.ตำรวจแต่ก็ไม่เป็นผล จึงได้ติดตามไปที่ สน.ดินแดง และพบว่าแรงงานทั้งหมดถูกส่งเข้าห้องสอบสวนไปแล้วโดยมีนายตำรวจคนหนึ่งยืนขวางหน้าห้องไม่ให้มีใครเข้าไป จากนั้นไม่นาน จึงได้มีจนท.พาตัวแรงงานออกจากห้องเพื่อจะนำส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู โดยไม่ฟังเสียงเครือข่าย ที่พยายามเจรจาให้แรงงานได้พบทนาย ติดต่อนายจ้าง หรือคนที่ไว้ใจได้เพื่อสอบถามข้อมูลเสียก่อน
ที่สวนพลู ทนายพยายามอธิบายกับจนท.ตม.ว่า กิจกรรมที่แรงงานทั้งหมดเข้าร่วมและถูกจับมานั้น คือการติดตามความคืบหน้าของมติค.ร.ม.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแรงงานที่ยังไม่มีสถานะถูกกฎหมาย ซึ่งรวมถึงแรงงานกลุ่มนี้ด้วย แต่จนท.ตม.ก็ชี้ว่า มติครม.ที่ว่านั้นยังไม่มีผลในการคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ เนื่องจากยังไม่มีประกาศกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยในราชกิจานุเบกษา
เมื่อทนายได้พบกับแรงงานในที่สุดก็ได้รับทราบว่า ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาทำสำนวนเรียบร้อยแล้ว และก็ได้เซ็นชื่อรับทราบไปแล้วโดยไม่ทราบว่าเป็นเอกสารอะไร แรงงานห้าคนถูกส่งเข้าห้องกักสังเกตอาการโควิด 14 วัน อีกสองคนถูกตรวจก่อนส่งตัวและพบว่าติดเชื้ออยู่แล้ว
อันที่จริง เมื่อติดต่อนายจ้างได้สำเร็จในภายหลังจากนั้นไม่นาน ก็พบว่า นายจ้างได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งหมดไปแล้วตั้งแต่ 13 ก.พ. หากยังเดินเรื่องไม่สำเร็จ เนื่องจากในสถานการณ์โควิด โรงพยาบาลยังไม่สามารถตรวจสุขภาพให้ได้ จึงไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ทำทะเบียนประวัติ และรับบัตรแรงงานสีชมพูได้
คนเจ็ดคนจะไม่ต้องถูกจับกุม คุมขัง และปล่อยให้ครอบครัวซึ่งรวมถึงลูกสาววัย 10 ขวบต้องรออยู่ที่แคมป์ก่อสร้างเลย ถ้าหากว่าจนท.ตำรวจและตม. จะให้ความเคารพต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมาย คือให้โอกาสได้พบกับทนาย และติดต่อนายจ้างหรือคนที่ไว้ใจได้เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
ถ้าหากว่า กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยจะได้ออกประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องตามมติค.ร.ม. 28 ก.ย.นั้นโดยไม่ล่าช้า เพื่อให้แรงงานที่ยังติดขัดในการเดินเรื่องขึ้นทะเบียนทั้งหมดได้รับความคุ้มครอง
และถ้าหากว่า กระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มายื่นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นมิตร แทนที่จะแจ้งให้ตำรวจจับ เสมือนว่าผู้ร้องเรียนย่อมต้องคือฝ่ายตรงข้าม และแรงงานข้ามชาติจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากผู้ที่จะต้อง “ถูกตรวจ” ความผิดอยู่ตลอดเวลา
เรียบเรียงข้อมูลจากบันทึกของ ศิววงศ์ สุขทวี
ภาพโดยศิววงศ์ สุขทวี