สถานการณ์ปีนี้ไม่เอื้ออำนวยให้มิตรสหายของผู้ลี้ภัยมาพบปะกันดังเช่นปีก่อน หากผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชายแดนก็ยังคงอยู่ที่นี่ พร้อมกับผู้ลี้ภัยในเมืองที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากหลากหลายประเทศ ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา และผู้ลี้ภัยไทยในต่างแดน
ในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ผู้ลี้ภัยต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับเรา บางประเทศที่รับรองสิทธิผู้ลี้ภัยอาจให้การดูแลเยียวยาผู้ลี้ภัยได้เหมือนหรือใกล้เคียงพลเมืองตน หากในดินแดนอีกมากมายที่รัฐไม่ปรารถนา และประชาชนที่ “มองเห็น” ผู้ลี้ภัยก็มีอยู่ไม่มากนัก ผลกระทบที่มีต่อมิตรของเรานั้นนับว่าสาหัสกว่าพลเมืองมาก
สำหรับค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนที่แออัด การเว้นระยะห่าง ล้างมือ รักษาสุขอนามัยไม่ใช่เรื่องง่าย การออกนอกรั้วมารับจ้างตามที่จนท.บางแห่งเคย “อนุโลม” ให้ก็ยุติไปพร้อมกับมาตรการล็อคดาวน์ เมื่อประกอบกับการตัดทอนความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ดำเนินมาตลอด 8 ปีแล้ว ความอดอยากยากแค้นและตึงเครียด ก็ทวีความรุนแรง
เพื่อนของเราบอกว่า เป็นเรื่องน่าขัน ที่หากตัดเรื่องความขาดแคลนอาหารเนื่องจากออกไปหาเลี้ยงตัวไม่ได้นั้นแล้ว ผู้ลี้ภัยอย่างเขาและครอบครัวกลับไม่ได้รู้สึกลำบากไปกว่าเดิม
“การ “กักตัว” (quarantine) ไม่ได้มีความหมายอะไร ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเครียดและเบื่อไปมากกว่าเดิมหรอก เราถูกกักอยู่ในรั้วลวดหนามมานานแล้ว…”
“เราอยากจะบอกว่า หากคุณเบื่อ เครียด อึดอัด ไร้อิสระ อยากออกไปไหน ๆบ้างแม้แต่สักกิโลสองกิโลนอกบ้านก็ยังดี นั่นแหละ คือสิ่งที่เรารู้สึกมาเป็นยี่สิบปี (สำหรับผมนะ) และสำหรับบางคนคือสามสิบปี”
World Refugee Day 2020
SEE US!
ภาพจากงาน World Refugee Day 2019