เอาอย่างไรกับความช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับผู้ลี้ภัย
นับตั้งแต่ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ที่หลบหนีการโจมตีทางอากาศและการระดมยิงปืนใหญ่ในจังหวัดมื่อตรอได้ขอเข้ามาหลบภัยในไทยตั้งแต่ 28 มี.ค.2564 จนกระทั่งถูกผลักดันกลับไปราวกว่า 2,000 นั้น การส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่ผู้ลี้ภัยที่คงเหลืออยู่ในประเทศไทยกว่า 2,000 คนก็เป็นไปได้ยากลำบากยิ่ง เนื่องจากถูกปิดกั้น และไม่มีระบบการจัดการที่พร้อม
เราจึงได้พบรายงานข่าวถึงกลุ่มประชาชนไทยที่ปรารถนาจะส่งน้ำใจไปเยียวยาผู้ลี้ภัย ต้องประท้วงด้วยการกองข้าวของไว้ริมฝั่งน้ำสาละวิน เพราะถูกปิดกั้นเส้นทางไม่ให้ขนเข้าไปได้ทั้งทางบกและทางเรือ อีกทั้งจะฝากไว้กับทหารพรานก็ไม่มีผู้ใดรับ
หลังจากมีความพยายามร้องเรียนและเจรจา ประกอบกับทั้งมีการรายงานของสื่ออย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 5 เม.ย. กองทัพก็ได้ยินยอมอนุญาตให้เรือล่องนำของไปให้กับผู้พลัดถิ่นที่ถูกผลักดันกลับไปจากฝั่งไทยได้จำนวนหนึ่ง และประกาศต่อเนื่องว่า ผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือจะต้องส่งของผ่านทางกาชาดไทย โดยทหารจะเป็นผู้ขนส่งให้แก่ผู้ลี้ภัยเองเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ระบบการรับ-ส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินดังกล่าวไม่เคยมีอยู่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงไม่สามารถดำเนินการได้จริงและทันเวลากับความจำเป็นเร่งด่วน ดังเช่นที่เมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) มีข่าวขบวนบริจาคที่ต้องนำของสดไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านแม่สามแลบ และทิ้งของอย่างอื่นไว้กับคนท้องถิ่น โดยไม่สามารถฝากไว้ที่กิ่งกาชาดหรือทหารพรานได้
เพื่อนไร้พรมแดนตระหนักดีว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีกลุ่มคนต่าง ๆ ที่ได้หาหนทางเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัยอย่างไม่ย่อท้อ จนสามารถส่งมอบความช่วยเหลือจำนวนหนึ่งได้ถึงคนบางกลุ่ม ดังที่ปรากฎให้เห็นในโซเชียลมีเดียอยู่ประปราย
อย่างไรก็ดี การส่งมอบความช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการดังกล่าวก็เป็นไปได้ล่าช้า ยากลำบาก และไม่สามารถตอบสนองความต้องการจำเป็นของผู้ลี้ภัยได้ตามที่ควรจะเป็น
การส่งมอบความช่วยเหลือ “ไม่ควรจะต้องเป็นช่องทางพิเศษของใครของมัน” การพยายามใช้ช่องทางที่ควรจะเป็นแล้วล้มเหลว ก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ที่มีความตั้งใจเช่นกัน เพราะการส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมควรเป็นเรื่อง “ปกติ” ในช่องทางปกติ ที่เปิดเผยได้ และควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเสียด้วยซ้ำ
เราจึงยืนยันตามข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ “ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย” ซึ่งคือ
“เมื่อหน่วยงานความมั่นคงเปิดรับให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่พื้นที่พักพิงฯแล้ว ก็จะต้องมอบความรับผิดชอบในการจัดการดูแลให้ความคุ้มครองแก่กระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค และองค์กรมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุน”
เช่นนี้ ผู้ที่ต้องการส่งน้ำใจให้แก่คนที่ตนห่วงใย จึงจะสามารถส่งมอบความช่วยเหลือ ผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบร่วมกันระหว่างรัฐกับภาคเอกชนได้
8 เม.ย. 2564
ภาพประกอบ : ผู้ลี้ภัย ณ สถานที่แห่งหนึ่ง โดยชาวบ้านสาละวิน