ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนกับการปฏิบัติจริง
การประชุมสุดยอดนัดพิเศษของผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อหารือต่อวิกฤตการณ์ความรุนแรงในเมียนมานั้นเป็นความเคลื่อนไหวของอาเซียนในเชิงบวก หลังจากที่ปฏิเสธไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศเสมอมา แม้คำถามสำคัญจะคือการเชิญหัวหน้าคณะรัฐประหารพม่า มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมโดยไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) ซึ่งที่มาจากประชาชนเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ และมีฉันทามติ 5 ข้อต่อวิกฤตในประเทศพม่า คือ กล่าวโดยย่อก็คือ ให้ความรุนแรงในเมียนมาจะต้องยุติโดยทันที ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทนอดกลั้น, จะต้องมีการเจรจาเพื่อหาทางแก้ปัญหา โดยทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก และเลขาธิการอาเซียนจะช่วยให้การสนับสนุน ซึ่งทูตพิเศษและผู้แทนอาเซียนจะเดินทางไปพบกับทุกฝ่ายในประเทศพม่าต่อไป
นอกจากนี้ ยังระบุว่า อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน AHA Centre (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance)
อย่างไรก็ดี คำถามมากมายที่เกิดขึ้นก็คือ นายพลมิน อ่อง หล่าย ซึ่งบางประเทศชี้ชัดเจนว่าไม่ได้ไปในฐานะเป็น “ผู้นำรัฐบาล” ของประเทศพม่า แต่เป็น “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” อยู่ที่ใดในฉันทามตินี้
ที่สำคัญ การเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น คือการแสดงถึงจุดยืนของอาเซียนว่าไม่ได้เข้าใจว่าประชาชนได้ต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติโดยอดทนอดกลั้นมาตลอดก่อนที่จะมีการโต้ตอบอย่างโหดร้าย และแม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็ยังยืนหยัดที่จะใช้สันติวิธีเสมอมา
ในฉันทามติ ไม่มีการระบุถึงข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และข้อเสนอต่าง ๆ ก็ไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลาว่าจะทำเมื่อไร
ส่วนประเด็นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งนอกจากอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศไทยที่กล่าวว่าจะส่งมอบความช่วยเหลือให้กับกาชาดพม่าอีก 5 ล้านบาท คำถามก็คือ ความช่วยเหลือดังกล่าวจะส่งผ่านใคร หากเป็นการผ่านรัฐบาลที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหาร ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ความช่วยเหลือนี้จะมาถึงประชาชน ไม่ว่าจะชาวพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ล้วนเป็นคู่ขัดแย้งกับกองทัพพม่าอยู่ในขณะนี้
**ภาพประกอบ บ้านเซะบอโบ ตรงข้ามอ.พบพระ จ.ตาก ชาวบ้านเริ่มขุดบังเกอร์เนื่องจากมีข่าวว่าจะมีเครื่องบินโจมตี ภาพถ่ายโดยชาวบ้านสาละวิน
หมายเหตุ
กรุณาแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานการเคารพในเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และระมัดระวัง “ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ