เส้นทางส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถูกปิดกั้นเป็นวันที่สี่แล้ว
จนถึงบัดนี้ ผู้ลี้ภัยที่ทะยอยเข้ามาลี้ภัยในผืนป่าริมน้ำอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. ยังคงไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
กองทัพไทยไม่อนุญาตให้บุคคลใดเข้าถึงผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐอื่น องค์กรมนุษยธรรม หรือชาวบ้านท้องถิ่น แม้ผู้ลี้ภัยจะแบกเอาอาหารและผ้ากันฝนจำนวนหนึ่งมาบ้าง ถึงบัดนี้ก็เหลืออยู่น้อยนิด และเสียหายไปกับฝนและน้ำป่าที่เอ่อจากลำห้วยจำนวนมาก
ชาวบ้านท้องถิ่นพยายามให้ความช่วยเหลือ รวมถึงส่งนมให้กับแม่ลูกอ่อนที่ขาดอาหารและอยู่ในภาวะเครียดจนไม่มีน้ำนม แต่เจ้าหน้าที่ก็ปิดกั้นเส้นทาง จนเหลือทางเลือกเดียวคือการเดินป่าเป็นระยะไกลมาก การขนส่งความช่วยเหลือจึงเป็นไปได้ล่าช้า ไปได้ทีละน้อย ลำบาก และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น
การโจมตีทางอากาศ ทิ้งระเบิด กราดยิง ผสมกับปฏิบัติการภาคพื้นดินที่มีทั้งกองทหารและปืนใหญ่ ดำเนินหนักหน่วงมาตั้งแต่ 27 เม.ย. และยังไม่มีทีท่าจะเบาบางลง โดยเฉพาะเมื่อกองทัพพม่าดึงกำลังคนมาจากเขตกองพลที่ 7 จังหวัดพะอัน และ BGF มาเพื่อพิชิตศึกกับกองทัพของ KNU ในมื่อตรอให้จงได้
ผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 3,112 คน จากการนับอย่างถี่ถ้วนของเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงเอง (ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ทางการประกาศไว้เพียง 2318 คน) ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้หญิง หญิงมีครรภ์ คนชรา คนป่วย กำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่ 4 จุดเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ บนขอบแดนติดน้ำสาละวิน ยังมีชาวบ้านอีกอย่างน้อย 4,277 คนที่ยังรีรอ หาทางหลบซ่อนให้ถึงที่สุดก่อนจะข้ามมารัฐไทย เพราะไม่ต้องการข้ามมาและไล่กลับไปในขณะที่สถานการณ์ยังไม่สงบ
ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ในการปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งมาจากน้ำใจของ “ประชาชน” ต่อเพื่อนบ้านของเขา อีกทั้งการจัดการควบคุมป้องกัน “การแพร่ระบาดจากคนไทยไปยังผู้ลี้ภัย” เป็นเรื่องที่เราเชื่อว่าหน่วยงานสาธารณสุขมีความสามารถจะทำได้หากได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีบทบาท
การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม คือการกดดันให้ผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย เราขอเรียกร้องให้รัฐไทยเปิดช่องทางให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าถึงผู้ลี้ภัยได้โดยด่วน เพราะนี่คือภารกิจแห่งความเป็นมนุษย์ที่มนุษย์ทั้งหลายพึงปฏิบัติ
1 พฤษภาคม 2564
ภาพวิดีโอ : ผู้ลี้ภัยในสถานการณ์ปัจจุบัน