โควิด 19
ทั้งประชาชนไทยและคนข้ามชาติไม่มีใครต้องการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นเดือดร้อน
จากคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ตามด้วยการออกประกาศในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งห้ามขายอาหารและเครื่องดื่มแบบให้นั่งกินในร้านและอื่น ๆ นั้น
แรงงานทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมากสูญเสียรายได้ งาน และที่อยู่ จนต้องเดินทางกลับท้องถิ่นหรือกลับประเทศ ดังในกรณีแรงงานกัมพูชาหลายคันรถที่หลั่งไหลจะข้ามแดนกลับตามข่าวในสื่อกระแสหลักล่าสุด
นอกจากนี้ ข้อมูลรายรอบยังประกอบไปด้วยเหตุการณ์ที่นายจ้างนำแรงงานกัมพูชาไปทิ้งไว้ข้างถนนบนเส้นทางออกนอกประเทศ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ โดยก่อนหน้านี้ก็มีข่าววุฒิสภาอดีตแพทย์ที่เสนอให้ “จดทะเบียนแรงงานเถื่อน” เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ มีภาพข่าวป้าย “งดรับต่างด้าว” ที่ศูนย์แรกรับและส่งต่อของกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งภายหลังมีการให้ข่าวว่าเป็นมาตรการชั่วคราว) และมีรายงานถึงแรงงานข้ามชาติแถบปริมณฑลที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการตรวจหาเชื้อเช่นเดียวกับชาวไทยจำนวนไม่น้อย เป็นต้น
ล่าสุด วิกฤตโควิด 19 ที่แม่สอดปะทุขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการตรวจพบทั้งแรงงานข้ามชาติและไทย รวมถึงครอบครัวคนไทยในพื้นที่ ต. แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ติดเชื้อโควิดกว่า 452 คนจากการตรวจ 840 คน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนเกินครึ่ง
แม้คนแม่สอดส่วนใหญ่จะมีความ “เข้าใจ” ในสถานการณ์เพราะอาศัยอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติมาช้านาน แต่ “คอมเมนต์” ล่างข่าวซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอื่น กลับใช้ถ้อยคำรุนแรง เช่น “กันพวกมันไว้อย่าให้ได้ออกมา” “นี่มันหลุดออกมาเท่าไหร่แล้ว” หรือกล่าวโทษว่าแรงงานเหล่านี้เป็นผู้ก่อปัญหาด้วยการนำเชื้อมาจากประเทศพม่า แม้ว่าจะยังไม่ได้มีผลสอบสวนโรคยืนยันแหล่งที่มา ว่ามาจากผู้ที่เคลื่อนย้ายมาจากกรุงเทพฯ หรือเพิ่งแอบเข้ามาจากประเทศพม่าล่าสุด หรือ คนไทย แต่อย่างใด
แรงงานข้ามชาติไม่เคยประสงค์จะตกเป็นกลุ่มเปราะบางในการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรค พวกเขาไม่ได้มีโอกาสแม้แต่ใช้ชีวิตอย่าง “ประมาท” ขาดการป้องกันตนเสียด้วยซ้ำ การแพร่กระจายเชื้อไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาไปพักผ่อน เที่ยว กินดื่ม หากมันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าจะมีข้อมูลความรู้อย่างไร ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะป้องกันตนมากนัก ทั้งด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด สภาพการทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการขาดอุปกรณ์ หรือของใช้เพื่อสุขอนามัย
เพื่อนไร้พรมแดนเห็นว่า ความเป็นสมาชิกของสังคมนั้นไม่ได้กำหนดอยู่บนเงื่อนไขของสัญชาติที่ถือ หรือภาษาที่ใช้
แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าสถานะทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร ก็มีส่วนสร้างและเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญทางสังคม โดยเฉพาะสำหรับคนทำงานบ้าน เลี้ยงเด็ก และดูแลคนชรา บางส่วนก็มีคู่ชีวิตหรือญาติพี่น้องเป็นคนไทยถือสัญชาติไทยเสียด้วยซ้ำ
แรงงานข้ามชาติ จึงคือสมาชิกของสังคมที่เราอยู่กันทุกวันนี้ ที่สมควรจะได้รับการปฏิบัติ ดูแล และปกป้องดังเช่นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมเดียวกัน
*** วิดีโอประกอบ “ชีวิตฉันในปีโควิด” (2563) ถ่ายทอดชีวิตของนักเรียนจากศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติในอ.แม่สอด จ.ตาก