เรื่องเล่าจากผู้ลี้ภัยที่ถูกกดดันกลับมื่อตรอ
วันนี้ (5 มิ.ย.) สำนักข่าวชาวกะเหรี่ยงได้เผยแพร่ภาพถ่ายผู้ลี้ภัยที่กำลังข้ามแม่น้ำเมยจากแม่สอดกลับไปยังจังหวัดดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง ชาวบ้านรวม 700 คนนี้ทะยอยหนีข้ามพรมแดนมาตั้งแต่ราว 3 วันก่อน และจำนวนค่อย ๆ ลดลงเมื่อเสียงปืนระหว่าง DKBA กลุ่มพันเอกจอแต็ท/โกล้ทูบอกับกองทัพพม่า/BGF ที่ผะลูเริ่มเงียบ อย่างไรก็ตาม การสู้รบได้ปะทุขึ้นอีกระหว่างกองกำลังองค์การพิทักษ์ตนเองแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO หรือ Karen National Defence Organization) ภายใต้ KNU กับกองทัพพม่าที่ด้านตรงข้ามกับอ.พบพระอยู่ในขณะนี้
การหนีภัย เป็นปฏิกิริยาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเมื่อประสบความเสี่ยงต่อภัยอันตราย ชาวบ้านกะเหรี่ยงลี้ภัยข้ามประเทศไปยังสถานที่ปลอดภัยด้วยวัตถุประสงค์ที่จะหนีภัยอันตรายที่คืบคลานเข้ามาใกล้ มิได้วางแผนจะเดินทางเพื่อหวัง “ย้ายถิ่นฐาน” มาปักหลักอยู่ในประเทศไทย ดังที่มีผู้มักกล่าวหา และกล่าวอ้าง
ในที่นี้ เพื่อนไร้พรมแดนจึงนำบทสัมภาษณ์สั้น ๆ ของผู้ลี้ภัยหญิงชายวัยกลางคน ซึ่งเดินทางกลับไปยังจังหวัดมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดังนี้
หญิง : เมื่อเครื่องบินมายิงและทิ้งระเบิดใกล้บ้านเรามาก เราหนีไปหลบในป่าก่อน วันรุ่งขึ้นก็ยังไม่หยุด เราเลยตัดสินใจพากันมาฝั่งไทย ตอนที่ข้ามมา ทหารชุดสีดำยืนถือปืนอยู่ที่ฝั่งน้ำ เขาให้เราข้ามมาได้โดยดี
ชาย : มีทหารพรานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ น่าจะอยู่กันราว 8 คน เดินไปเดินมา เราได้ยินเขาติดต่อกับหัวหน้าของเขาหลายครั้ง หัวหน้าบอกให้พวกเรากลับไปทันที แต่มันจะเป็นไปได้ยังไง ? ในที่สุด ทหารพรานก็บอกให้เรากลับวันรุ่งขึ้น ไม่ให้สร้างที่พักอะไรแล้ว เพราะพรุ่งนี้ก็กลับแล้ว
หญิง : คืนนั้นเราก็กินอาหารที่ติดมือมา แล้วนอนบนพื้นดิน ฝนตกลมแรง
ชาย : ที่ ๆ เราพักมันอยู่บนเนิน เขาให้เราย้ายไปห่างจากแม่น้ำ ตรงนั้นไม่มีน้ำกิน ไม่มีน้ำอาบ ไม่มีห้องน้ำ ไม่รู้จะไปที่ไหนได้ถึงจะไม่สกปรก
หญิง : เราก็อยู่ไปแบบนั้น อย่างน้อย อยู่เมืองไทยไม่ต้องกลัวเครื่องบิน แต่ที่เรากลัวก็คือ กลัวทหารไทยจะไล่เรากลับ แล้วเขาก็ไล่จริง ๆ
ชาย : เราพยายามอยู่อย่างเรียบร้อย ปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่าง แต่เขาก็ให้กลับอยู่ดี
หญิง : เช้าขึ้นมา หัวหน้าทหารมาบอกให้กลับ ทหารตรงนั้นก็บอกว่า กลับไปไม่เป็นไรหรอก ทหารพม่าไม่มายิงหรอกเพราะเราเป็นแค่ชาวบ้าน เราบอกว่าเราไม่กล้ากลับ มันยังไม่ปลอดภัย แต่เขาก็ไม่ต้อนรับเราแล้ว
ชาย: เราขอว่าให้ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงกลับไปดูสถานการณ์ก่อนได้ไหม ให้แม่ลูกอ่อน คนท้อง เด็ก คนแก่ รออยู่ก่อนเพราะยังไม่ปลอดภัย แต่เขาก็ไม่ยอม บอกให้เรากลับทั้งหมด เราพยายามบอกว่าทหารพม่ากำลังเคลื่อนไหวยังไงอยู่ แต่หลังจากที่ได้พูดกับหัวหน้า พวกเขาก็ไม่ฟังเราอีกต่อไป ทีแรกเขาบอกจะช่วยค่าน้ำมันเรือพันนึงด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ให้หรอก มีแต่จะเอาลวดหนามมากั้นไม่ให้เราขึ้นฝั่งอีก
หญิง : จริง ๆ ถ้าเขาไม่ไล่กลับ ฉันก็คิดว่าจะอยู่จนมันสงบสักหน่อย กลับไปแบบนี้ อีกแป๊บเดียวก็มาอีก เราไม่อยากหนีซ้ำ ๆ เพราะทุกครั้งเราต้องแบกคนแก่ อุ้มเด็กเล็ก ต้องช่วยกันมาแบบนั้น มันไม่ง่าย
ชาย : พอเขาให้เรากลับ หลายคนก็ไม่กล้าเข้าบ้าน นอนในป่า ใต้หิน ใต้ถ้ำ แต่พอรอบนี้ เรากลัวจนไม่รู้จะกลัวอะไรอีกแล้ว ก็เลยเข้ามานอนในบ้าน คอยเงี่ยหูฟังเสียงว่าจะมีเครื่องบิน มีปืนใหญ่ไหม ถ้าเด็กร้องดังหรือใครเสียงดังก็จะโดนดุให้เงียบ เพราะกลัวไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ เราอยู่กันแบบนี้
หญิง : ฉันเลือกกลับมานอนบ้านเพื่อจะได้หุงหาอาหารได้สะอาดหน่อย แต่ตกมืดทีไร ฉันก็กลัวเครื่องบินจะมา ฉันแค่อยากให้ประเทศไทยต้อนรับเราในเวลาที่เรามีปัญหาเท่านั้น ฉันไม่ได้อยากไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรอก
ชาย : ไม่มีใครอยากไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เราแค่ขอให้ยอมรับให้เราอยู่ในพื้นที่ที่กว้างพอและมีน้ำใช้ มีน้ำใช้ มีความสะอาดบ้าง ชั่วคราวเท่านั้น …
ชาวบ้านบางคนจากชุมชนดังกล่าว เคยถูกผลักกลับไปแล้วหนีมาใหม่รวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้าย พวกเขาตัดสินใจกลับไปเองก่อนที่จะถูกไล่
ทุกวันนี้ มื่อตรอยังถูกโจมตีอยู่ทุกหัวระแหง ปืนใหญ่ยังยิงเข้าสู่ชุมชนและผืนไร่ เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจบริเวณบ้านเดปู่โน่และรายรอบ กระทั่งในฝั่งไทยก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าปลอดภัย เพราะในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านท่าตาฝั่งก็ต้องอกสั่นขวัญแขวน เมื่อกระสุนปืนใหญ่ของกองทัพพม่าได้เข้ามาตกในชุมชน ทั้งจากการจงใจยิง (21 พ.ค.) และลูกหลงจากการสู้รบกับทหาร KNLA/KNU เมื่อสองวันที่ผ่านมา
5 มิ.ย. 2564
ภาพประกอบ : ภาพข่าวการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยที่แม่สอด (Karen National Media), ภาพผู้ลี้ภัยมื่อตรอที่ถูกกดดันให้กลับไปและสร้างเพิงพักนอกชุมชนตนเอง โดยชาวบ้านสาละวิน และภาพใบไม้-ต้นไม้ในสวนของบ้านท่าตาฝั่งที่มีกระสุนปืนใหญ่ลงมาตก ถ่ายโดยชาวบ้านสาละวิน