“เราอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (1)

“เราอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (1)

| | Share

“เราอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (1)

“ชื่อของงาน ‘เพื่อนข้างบ้าน’ นี้มีความสำคัญ โจทย์ไม่ใช่ว่าเพื่อนข้างบ้านเราน่าสงสารหรือไม่ หรือว่าถ้าช่วยเหลือเพื่อนข้างบ้านแล้ว รัฐบาลเขาจะไม่ชอบหรือไม่  เพราะนี่คือเรื่องชั่วคราวซึ่งจะต้องผ่านไป วันหนึ่งในอนาคต เหตุการณ์เหล่านี้จะคืออดีต  

หากเราลองเปลี่ยนจุดเริ่มต้นของการมองให้เป็นโจทย์ใหญ่ระยะยาวว่า “เราอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน” มันอาจจะพอนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ได้  อย่างน้อยเมื่อเริ่มด้วยคำถามนี้ เราก็ไม่ต้องมาเถียงกันกับสถานการณ์เฉพาะหน้าบนพื้นฐานของคุณค่าต่าง ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือ เช่น สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของชาติ มนุษยธรรม เมตตาธรรม ผลประโยชน์ของชาติ ความยุติธรรม ฯลฯ แล้วก็เกิดเป็นภาวะ moral dilemma หรือกลืนไม่เข้าคายไม่ออก  มีแต่ความอึดอัดใจ รู้อยู่ว่าเถียงไปแล้วอีกคุณค่าก็มีความสำคัญจริง  รัฐไทยนั้นแม้จะยืนยันในผลประโยชน์ของชาติ ก็ไม่กล้าพูดหรอกว่าจะไม่เอาเมตตาธรรม เพราะสังคมไทยจะไม่เอาเมตตาธรรมเลยนั้นก็ไม่ได้ หรือถ้าพูดไปว่าไม่เอา ก็ใจไม่สบาย ในท้องถิ่นอีก จึงมีการปฏิบัติสวนนโยบายกันดังที่เป็นอยู่

โจทย์ที่ว่า ‘เราอยากเป็นประเทศแบบไหน’ นั้น เป็นคนละแบบกับ ‘เราอยากให้ภาพพจน์ประเทศไทยเป็นอย่างไรในสายตาโลก’ นั่นเป็นคำถามที่มีมานานแล้ว เช่น ..เราเป็นภาคีของอนุสัญญานี้แล้ว หากไม่ทำอะไรเขาจะว่าเอาได้ จึงต้องทำสักหน่อย.. นี่คือเรื่องประชาสัมพันธ์ว่าเราอยากให้ ‘โลกมองเรา’ อย่างไร แต่คำถามสำคัญคือ เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร ‘ในสายตาเราเอง’ ต่างหาก  เราสบายใจ ภูมิใจ และสงบใจในประเทศไทยแบบไหน  นี่คือความมั่นคงที่แท้  

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนรัฐไทยไม่ใช่ง่าย เพราะรัฐไทยมักมองระยะสั้น ไม่ค่อยมีภาพไกล  ในการทำนโยบายไทย-พม่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมเคยเสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติคิดถึงโจทย์ใหญ่ว่า ไทยจะมั่นคงถ้าเราเป็นเพื่อนกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐทั้งหลายก็มักตกอยู่ในกระแส realism ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ว่า รัฐเป็นเพื่อนกันไม่ได้เสมอ เพราะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของชาติซึ่งเป็นผลประโยชน์อย่างแคบไว้ก่อน  คำว่าเพื่อนใช้ได้กับปัจเจกเท่านั้น  เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว การวางตัวก็จึงไม่มีความสร้างสรรค์ใด ๆ  

แต่ คำตอบต่อโจทย์ใหญ่ที่ว่านี้ มันไม่ได้มาจากรัฐเสมอไป  ประเทศไทยจะเป็นประเทศแบบไหน เราไม่ได้ต้องคอยรัฐ  ประชาชนคือผู้บอกว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหน  

วิธีการจัดการและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเป็นบททดสอบจิตวิญญาณของรัฐไทยที่ดีมากอย่างหนึ่ง  และงานของพวกเราในที่นี้ ก็คือคำตอบแล้วของประชาชนกลุ่มหนึ่ง  เราไม่ได้ทำแค่เพราะหลักการว่าเราเคารพสิทธิมนุษยชนเท่านั้น  เราทำเพราะเราอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหน  รัฐควรจะมองให้เห็นว่า ข้อเสนอใด ๆ ที่เราจะส่งมอบให้กับรัฐ มันไม่ใช่แค่การบอกให้รัฐทำแบบนั้น หรือแบบนี้ 

แต่มันคือการบอกว่า เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนี้” 

อาจารย์ มารค ตามไท
อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ

Related