เพียงบัตรใบหนึ่ง

เพียงบัตรใบหนึ่ง

| | Share

เพียงบัตรใบหนึ่ง บทความเสียงชาวบ้าน โดย นอ นอ เขียนไว้เมื่อปี 2554

เดือนที่ผ่านมา มีข่าวแพร่สะพัดในชุมชนริมฝั่งสาละวินว่า ทางการไทยจะยึดบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนคืน บัตรนี้พวกเราเรียกกันว่า “บัตรหมายเลขศูนย์” คนที่นี่ได้กันมา 3-4 ปีแล้วหลังจากที่รัฐบาลประกาศสำรวจผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจครั้งอื่น ๆ แต่ตอนนี้เราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น รู้แต่ว่ามีหลายคนหลายหมู่บ้านที่เริ่มถูกเรียกคืนบัตร บางคนบอกว่าเป็นการตรวจสอบว่าบัตรนี้ออกมาอย่างถูกต้องหรือไม่ บางคนก็ร่ำลือไปต่าง ๆ นานาถึงเรื่องการส่งกลับทุกคนที่ไร้บัตรไร้สิทธิ์จะยืนอยู่ในประเทศไทย เชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทยกับรัฐบาลทหารพม่า

ฉันได้พบกับชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยห้อมหรือที่คนปกาเกอะญอเรียกว่าบ้านพออูท่า ชายผู้นี้บอกว่าชาวบ้านที่ถือบัตรหมายเลขศูนย์ที่นั่นได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านให้ไปรายงานตัวที่อำเภอ และเมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ก็เรียกบัตรหมายเลขศูนย์ของเขากลับคืนไปโดยไม่ได้อธิบายอะไร วันนั้นเขาดูทุกข์ร้อนมาก กินเหล้าเมามาย เที่ยวถามใครต่อใครว่าจะมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง เขาต้องเลี้ยงดูครอบครัวของเขาและลูกเล็ก ๆ การเรียกบัตรประจำตัวคืนไปหมายความว่าเขาจะกลายเป็นคนไร้สถานะผิดกฎหมาย ต้องคอยหลบหนีและถูกไล่จับอีก

อีกวันหนึ่งฉันนั่งอยู่ที่บ้านเพื่อน ป้าของเธอกดโทรศัพท์โทรหาหลานชาย

“โพทูใช่มั้ย” “… ตอนนี้อย่าได้คิดเทียวไปเทียวมาที่ไหน แล้วอย่าเที่ยวควักบัตรเลขศูนย์ออกมาให้ใครเห็นเชียวละ ช่วงนี้ทางการเขาเก็บบัตรใบนี้คืนอยู่ เก็บไปหลายที่แล้วแต่ยังไม่ถึงหมู่บ้านเรา ไม่รู้เขาจะให้เราทำอย่างไร…”

ฉันเงี่ยหูฟัง ตามองหน้าเพื่อนของฉัน “…ทำไมนะหรือ ข้าจะไปรู้ได้อย่างไร เรื่องนายกหญิงคนใหม่นี้นะหรือ ข้าไม่รู้หรอกว่าเขาเกี่ยวข้องด้วยไหม แต่ที่แน่ ๆ คือเขาคงมีสัมพันธ์ที่ดีกับทหารพม่า เพราะพี่ชายเขาเคยทำธุรกิจกับทหารพม่า และนี่เป็นเรื่องที่พวกเราหวาดกลัว แต่มันจะเกี่ยวกับการเรียกคืนบัตรเลขศูนย์หรือไม่ข้าก็ไม่รู้หรอก…”

ท่าทางของป้าดูเดือดเนื้อร้อนใจมาก “…เรื่องส่งกลับ ส่งกลับใครข้าไม่รู้ แต่พวกเรามาอาศัยทำกินในหมู่บ้านแบบนี้ เขาคงไม่ส่งกระมัง หรือว่าจะส่ง ข้าก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาจะมายึดบัตรไปแล้วนี่”

ป้าวางหูไป เพื่อนของฉันหันไปบอกป้าของเธอว่า “ถ้าทางการไทยอยากได้บัตรของเขาคืน เราก็ต้องคืน เขาเป็นคนออกบัตรให้เรา จะเอาคืนเมื่อไรก็คงได้ ถึงเราจะเก็บไว้ ถ้าเขามาบอกว่าบัตรนี้ไม่มีความหมาย เราก็ถือไว้หนักมือเฉย ๆ ใช่ไหม”

ประโยคสุดท้ายเธอหันมาถามฉัน

ฉันเดินกลับบ้านไปด้วยความหนักใจ ตัวฉันนั้นได้บัตรประชาชนไทยแล้ว หลังจากเพียรดำเนินตามขั้นตอนต่าง ๆ เสียค่ารถค่าเรือจากบ้านมาติดต่อในตัวอำเภอไป 6-7 ครั้ง รวมแล้วเป็นเงินไม่รู้เท่าไหร่ บัตรประชาชนไทยใบเล็ก ๆ มีค่ากับฉันนัก เพราะมันทำให้ฉันมีสิทธิ์ที่จะยืนอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ได้เต็มเท้าเสียที พ่อแม่ของฉันย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2500 สมัยนั้นคนสองฝั่งสาละวินข้ามไปมากันไม่มีเส้นพรมแดน จากปีพ.ศ.2534 ที่ฉันเริ่มมีทะเบียนบ้านในประเทศไทย ใช้เวลาอีกถึง 18 ปี จึงสามารถเปลี่ยนบัตรประจำตัวเดิมซึ่งจำกัดสิทธิ์และพื้นที่ที่อยู่มาเป็นบัตรประชาชนไทยที่หมายถึงอิสระเสรี

แต่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของฉันที่หมู่บ้านชายแดนจำนวนมากต่างถือแต่บัตรหมายเลขศูนย์ที่ว่านี้ พวกเขาหลายคนเกิดที่นี่ หลายคนอพยพหนีการกดขี่ข่มเหงจากพม่ามาก็นานแล้วแต่ไม่มีโอกาสไปทำบัตรหรือทะเบียนครอบครัวแบบที่ฉันเคยทำ บางคนก็มาทีหลังการทำบัตรเหล่านั้น อย่างไรก็ดี เราต่างทำมาหากินอย่างสุจริตดังเช่นปกาเกอะญอคนหนึ่งเสมอมา ในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่ามีการแบ่งแยก ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราออกไปข้างนอก ช่วงก่อนที่ยังไม่มีการทำบัตรหมายเลขศูนย์นั้น หากเพื่อนบ้านเจ็บป่วย ฉันก็ต้องพาไปส่งโรงพยาบาลที่ตัวอำเภอด้วยความกังวล เพราะฉันกำลังพาคนไม่มีบัตรเดินทางไปซึ่งเป็นการผิดกฎหมายไทย เพื่อนบ้านเหล่านี้ปกติไม่เคยไปไหน ไปรับจ้างในไร่นาก็ไปได้เพียงหมู่บ้านใกล้ ๆ เท่านั้น พวกเขาตกอยู่ในความหวาดกลัวเสมอ แม้กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาก็ต้องหนีเข้าไปหลบในป่า

ดังนั้น บัตรหมายเลขศูนย์จึงทำให้ชีวิตพวกเราทุกคนที่นี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทุกคนสบายใจ อยู่กันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องคอยหวาดกลัว เจ้าของไร่นาก็สบายใจที่จะรับคนงาน บัตรใบหนึ่งทำให้ทั้งคนและชุมชนรู้สึกอุ่นใจและสบายใจ ไม่ต้องคอยห่วงและวิตกกังวลแทนกัน

ขณะที่ฉันกำลังนั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์อยู่หน้าบ้าน เสียงฝีเท้าของใครสักคนหนึ่งก็ดังใกล้เข้ามา เพื่อนบ้านหญิงของฉันเดินมาด้วยสีหน้ากังวลเคร่งเครียด ฉันทักเธอขึ้นว่า “พี่ มีเรื่องอะไรหรือ” เธอจึงลงนั่งที่ชานบ้านฉัน และเอ่ยถึงสิ่งที่ฉันคาดไว้

“ตกลงพวกเราที่ถือบัตรหมายเลขศูนย์จะต้องไปแสดงตัวที่อำเภอ และเขาจะเรียกเก็บบัตรคืนใช่ไหม เธอรู้เรื่องนี้แล้วใช่ไหม ? ฉันได้ยินมาว่าเขาจะตรวจสอบอีกครั้ง”

“ผู้ใหญ่บ้านคงจะแจ้งอีกทีเป็นเรื่องเป็นราว” ฉันไม่รู้จะตอบว่าอะไรดี “พี่รอฟังข่าวต่อไปก่อน ใจเย็น ๆ ฉันเองก็ยังไม่เข้าใจมากนักเหมือนกัน แต่ถ้าเขาตรวจสอบว่าถูกต้อง เขาคงจะคืนเรากระมัง”

เธอนั่งเงียบอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะบอกว่า “ฉันเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง อยู่ทางอีกฝั่งน้ำเราก็ต้องหนีทหารพม่าตลอด มาอยู่ที่นี่เป็นสิบกว่าปีถึงจะได้หลักประกันจากประเทศไทย ตอนได้บัตรใบนี้มาฉันดีใจเป็นที่สุด แม้จะไม่ได้ยอมรับเราเป็นพลเมือง แต่เขาก็ให้สิทธิ์ให้เราได้ใช้ชีวิตเหมือนคนคนหนึ่ง เท่านี้ฉันก็พอใจและไม่คิดจะเรียกร้องอะไรอีก เราได้อยู่อย่างเป็นสุขก็เพราะความเห็นอกเห็นใจของรัฐบาลไทย ฉันรู้สึกขอบคุณรัฐบาลนั้นเหลือเกินที่จัดการเรื่องเหล่านี้ให้กับคนชายแดนอย่างเรา”

เธอถอนใจ

“แต่ตอนนี้สิทธิ์ของเราปกาเกอะญอชายแดนจะถูกลดน้อยถอยลงไปอีกแล้วหรือ ฉันจะทำอะไรได้เล่า นอกจากเฝ้ารอความเมตตาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่จะดลบันดาลให้ผู้มีอำนาจได้เข้าใจชีวิตของพวกเราบ้าง และหากเรียกบัตรเราคืนไป ก็ขอให้เขาคืนกลับมาให้เรา”

ฉันไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลไทยจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหนว่าบัตรใบหนึ่งมีค่าสำหรับเราเพียงใด คนที่ไปไหนมาไหนได้อย่างเสรีอาจไม่เข้าใจว่าเหตุใดกระดาษใบหนึ่งจึงมีค่ากับคนชายแดนนัก เขาไม่รู้หรอกว่าที่นี่ กระดาษใบเดียวสามารถบ่งบอกได้ว่าเรามีสิทธิ์เทียบเท่ามนุษย์คนอื่นหรือไม่ และสามารถบ่งบอกได้กระทั่งว่าเราจะหวังได้ไกลแค่ไหนสำหรับชีวิตของเรา “

ที่จริงคนโบราณก็สอนเราไว้แล้วหรือมิใช่” เพื่อนบ้านของฉันว่า แล้วเธอก็เอ่ยท่องบทกวีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่แต่งไว้เพื่อสอนใจ

“อย่าไปหลงอยู่บ้านเขา
อย่าไปหลงอยู่เมืองเขา
บ้านเขางาม เขาต้องซื้อ
เมืองเขาสวย เขาต้องจ่าย
จงกลับไปอยู่ก้อลาเฮ (แผ่นดินปกาเกอะญอ)
เขากินข้าว เราก็กิน
อย่าหวังพึ่งแม่ของใคร
อย่าหวังพึ่งพ่อของใคร
หากแม่เขาไม่ให้ข้าวเรากิน
หากพ่อเขาไม่ให้ข้าวเรากิน
กลับมากินข้าวของแม่เรา
คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้”

“คงจะอย่างนั้นเอง” เธอสรุปอย่างน้อยใจ “สักวันฉันคงต้องกลับไปประเทศของเราเสียละกระมัง บทกวี นี้ถูกต้องแล้ว คนโบราณว่าเอาไว้แล้ว ถ้าประเทศไทยไม่ให้เราอยู่ เราก็อยู่ไม่ได้ กลับไปเผชิญสิ่งใดก็ต้องเผชิญ ถ้าเขาเรียกเก็บบัตรและสิทธิ์เรา เราก็ไม่มีทางอื่นนอกจากจะต้องคืน”

ฉันไม่รู้จะปลอบใจเธอว่าอย่างไรดี ขณะนี้ชุมชนฝั่งสาละวินมีแต่ความวิตกกังวล เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา เพื่อนของเรา และคนที่เรารัก คนทุกคนควรจะมีสิทธิ์เหมือนเช่นมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่หรือ เมื่อวันหนึ่งคุณได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพ ไปโรงพยาบาล ไปโรงเรียน เดินทางไปมาหาสู่และไปทำงานได้ แม้จะยังไม่ได้เป็นพลเมืองประเทศไหน แล้วมาวันนี้ อยู่ ๆ อิสระภาพนั้นจะถูกเรียกคืนไปโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ได้อย่างไรกัน

ภาพประกอบ จากภาพยนตร์สั้น วันเกิด เดอะซีรีย์ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” (คพอส.) ใน สสส. โดย เพื่อนไร้พรมแดน 

เสียงชาวบ้าน คือกลุ่มนักเขียนอิสระที่เป็นผู้ลี้ภัยและชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ พวกเขาตั้งใจถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อประเพณี และเรื่องราวอีกมากมายผ่านบทความ     บทกวี และภาพถ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

Related