อีกหนึ่งคำถามต่อหายนะที่บางพลี : ชีวิตแรงงานข้ามชาติมีคุณค่าเท่ากับชีวิตของประชาชนไทยใช่หรือไม่ ? 

อีกหนึ่งคำถามต่อหายนะที่บางพลี : ชีวิตแรงงานข้ามชาติมีคุณค่าเท่ากับชีวิตของประชาชนไทยใช่หรือไม่ ? 

| | Share

อีกหนึ่งคำถามต่อหายนะที่บางพลี : ชีวิตแรงงานข้ามชาติมีคุณค่าเท่ากับชีวิตของประชาชนไทยใช่หรือไม่ ? 

อุบัติภัยสารเคมีโรงงานหมิงตี้ เคมิคอล (Mingh Dih) ที่ ซ.กิ่งแก้ว 21 บางพลี ซึ่งเริ่มจากการระเบิดเมื่อ 00.30 น.ของวันที่ 5 ก.ค. 2564 และตามมาด้วยเพลิงไหม้กับการระเบิดเป็นระยะ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทันทีต่อชีวิตของอาสาสมัครกู้ภัย และนำไปสู่การอพยพลี้ภัยของผู้คนในพื้นที่ภายในรัศมี 5 กม.นระยะแรก ตามมาด้วยรัศมี 10 กม.เมื่อคาดว่าหมอกพิษได้กระจายไปทั่วบริเวณ 

เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานซึ่งใช้สารเคมีอันตรายในพื้นที่ใกล้ชุมชน กฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Registers – PRTR) ประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการกับปัญหาภัยพิบัติจากฝีมือมนุษย์ ทั้งในระยะเฉพาะหน้า และผลกระทบระยะกลาง-ยาว ความรับผิดชอบของบริษัท สวัสดิการและการดูแลสวัสดิภาพของอาสาสมัครกู้ภัยและพนักงานผจญเพลิง การจัดการช่วยเหลือผู้อพยพ ฯลฯ

อีกหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้น ซึ่งเพื่อนไร้พรมแดนขอหยิบยกมากล่าวในที่นี้ ก็คือ เมือมีการประกาศให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ในรัศมี 5 กม.ที่อันตรายสูงสุดและต่อด้วย 10 กม.ต่อมานั้น เหตุใด แรงงานข้ามชาติที่ติดอยู่ในแคมป์คนงานซ.ลาดกระบัง 20/3,  ซ. กิ่งแก้ว 37 และ​ซ. กิ่งแก้ว 37/5 แห่งละราว 100 คน ซึ่งอยู่ในรัศมีเพียง 4.2 กม. (แห่งแรก)​และราว 2 กม. (สองแห่งหลัง) กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้าย เนื่องจากยังอยู่ภายใต้คำสั่ง “ล็อคดาวน์” ตามมาตรการป้องกันโควิด 19 โดยทหารที่เฝ้าอยู่ชี้ว่า “ไม่ได้รับคำสั่ง” 

ล่าสุด แม้เพลิงจะสงบลงเป็นส่วนใหญ่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของภาคประชาชนหลายฝ่ายแล้ว เพจ “แรงงานปฏิวัติ” ยังรายงานเมื่อเวลา 10.27 น. ว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้อพยพ เพราะทางการให้เหตุผลว่า “ไฟดับแล้ว”

เพื่อนไร้พรมแดนขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด ต่อพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งต้องเผชิญภาวะถูกเก็บกักในสถานที่อันจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากมลพิษของสารเคมี ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจในระยะยาว

ชีวิตแรงงานเหล่านี้ มิได้มีค่าเท่ากับชีวิตประชาชนไทยที่ได้อพยพหลบหนีเพื่อป้องกันความสูญเสียกรณีมีการระเบิดไฟลามเพิ่มเติม และการสูดดมเอาสารก่อมะเร็งและสารอันเป็นพิษอื่น ๆ ต่อร่างกาย เช่นนั้นหรือ

ในช่วงเวลาฉุกเฉิน สังคมเราจะยังยึดโยงกับการปฏิบัติตามคำสั่งเป็นลำดับขั้นของราชการที่เชื่องช้า แม้ว่ามันจะเป็นการทำลายชีวิตของคนจำนวนหนึ่งได้ เช่นนั้นหรือ

นอกจากนี้ เราไม่ทราบว่า ทหารชั้นผู้น้อยซึ่งต้องเฝ้ายามไม่ให้คนงานอพยพนั้น ได้รับอุปกรณ์ป้องกันควันพิษครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งหากว่าพวกเขาได้รับคำสั่งให้อยู่เผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยปราศจากเครื่องป้องกันใด ๆ ชีวิตของพวกเขาก็ย่อมมีค่า และน่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน

เราขอให้ทุกท่านที่เห็นความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบสัมมาชีพและมีคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ได้พยายามหาหนทางให้พวกเขาได้อพยพออกมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมดังเช่นมนุษย์คนหนึ่ง 

การส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบย่อมเป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามัญชนพึงจะช่วยเหลือกันได้

ด้วยความศรัทธาในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

6 ก.ค. 2564

Related