อาหารมื้อสุดท้ายจากไซ่ง่อนถึงเวียงจันทร์

อาหารมื้อสุดท้ายจากไซ่ง่อนถึงเวียงจันทร์

| | Share

1. วิปโยค

เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบกับ เหงียน ทิ เฟือง หญิงสาวชาวเวียดนามเมื่อ 40 ปีก่อน ขณะนั้น ข้าพเจ้าอยู่ที่บางละมุง ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มีใบหน้าหมองเศร้า แต่เหงียน ทิ เฟือง เศร้ากว่าใคร

ใบหน้ารูปสามเหลี่ยมบาง ๆ ดวงตายาวรีสีน้ำตาล คิ้วโค้ง จมูกโด่ง ริมฝีปากได้รูป ผมตัดสั้นติดหนังศีรษะแหว่งวิ่นเหมือน “หนูแทะ” เรื่องเล่าของเหงียน ทิ เฟือง ทำให้ดวงใจของข้าพเจ้าระบม 

ประวัติศาสตร์ของเวียดนาม คือการต่อสู้กับสงครามมาอย่างยาวนาน กระทั่งแบ่งเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เหงียน ทิ เฟืองอาศัยอยู่ในไซ่ง่อน ก่อนที่ไซ่ง่อนจะแตก เธออายุเพียง 8 ขวบ

สงครามอินโดจีน ทำให้ครอบครัวของเธอต้องอพยพมาทางน่านน้ำเพื่อเข้าฝั่งทางภาคตะวันออกของไทย 

ในท่ามกลางความมืดมนของเสรีภาพ สว่างสไวไปด้วยประกายไฟจากระเบิด และปลายกระบอกปืน น่านน้ำเบื้องหน้าของฝั่งทะเลไทยภาคตะวันออก เห็นเรืออพยพแล่นมาไกลๆ ใต้ฟ้าสีครามและน้ำทะเลสีเขียวมะกอก

ในความงดงามมีความตายที่จมอยู่ใต้ท้องน้ำ 

            “พวกเขาต่อเรือเข้ามาที่ฝั่งไทย”

ข้าพเจ้านิ่งฟัง เถ้าแก่ย้งมองไกลไปเบื้องหน้า ถอนหายใจหนักหน่วง บอกว่า พวกเวียดนามฉลาดมาก เรืออพยพของพวกเขาวิ่งฝ่าน่านน้ำหนีวิถีกระสุนออกมาสู่เสรีภาพได้

            “เรือน่าจะแข็งแรงดีมาก ถึงได้แล่นฝ่าคลื่นลมแรงมาได้ขนาดนี้” ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็น

            “ใช่ มันแข็งแรงมาก แต่น้อยกว่าความฉลาดของพวกเขา”

ข้าพเจ้าทำหน้าฉงน ในใจคิดว่าเรืออพยพน่าจะทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ตะเคียน

            “พวกเขาต่อเรือง่าย ๆ ด้วยไม้ไผ่ที่ไม่แข็งแรงอะไรเลย ใช้เสื่อกกบุลำเรือ และทาชันจนทั่ว ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถแล่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาได้อย่างปลอดภัย”

            “ไม้ไผ่” ข้าพเจ้าทวนคำ

            “ใช่ …ตอนแรกฉันคิดว่าจะไปซื้อเรือของพวกเขา แต่เมื่อเรือมาถึงบ้านเราแล้ว ไม่กี่เดือนก็ผุพังเหมือนไม้ที่ถูกปลวกแทะ” 

นี่คือความฉลาดอย่างแท้จริง พวกเขาไม่มีเวลามากสำหรับการอพยพ พวกเวียดนามเป็นนักคำนวณที่ดี วัสดุที่หาได้ง่ายที่สุดคือไม้ไผ่ จากนั้นใช้เสื่อสาน อาจเป็นต้นกก หรือต้นอะไรสักอย่างที่ทนทานบุทั่วลำเรือ และยาด้วยชันซึ่งมีความเหนียว ทำให้เรือไม่รั่ว

สมองของมนุษย์ออกแบบมาให้ทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด เรือหลายลำที่มาจากน่านน้ำทะเลจีนใต้ มาถึงที่นี่อย่างปลอดภัย โดยไม่รั่วกลางทะเล เมื่อมาถึงแล้ว พวกเขาทิ้งเรือและรักษาชีวิตไว้ได้

เช่นเดียวกับเหงียน ทิ เฟือง เธอมาที่นี่พร้อมกับครอบครัว รักษาชีวิตไว้ได้ แต่ไม่สามารถรักษาสภาพจิตใจไว้ได้เลย 

2. แผ่นดินใหม่

เหงียน ทิ เฟือง มากับเรือลำเล็กสี่คน พ่อแม่ ลูกสาวและลูกชาย แต่เถ้าแก่รับเหงียน ทิ เฟืองไว้เพียงคนเดียว ในทุกลำเรือส่วนใหญ่จะมาเป็นครอบครัว นอกจากศูนย์อพยพที่ตั้งอยู่ที่จันทบุรีแล้ว หญิงสาวหลายคนที่หน้าตาดีจะมีครอบครัวคนไทยรับไว้ ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง แต่ไม่ได้รับทั้งครอบครัว เขาเลือกที่จะรับไว้เพียงคนเดียวหรือสองคนเท่านั้น ที่เหลือก็อยู่ในศูนย์อพยพ นี่แหละเรียกชะตาชีวิต

ครอบครัวของเธอเลือกแล้วว่า เธอจะมีชีวิตที่ดีกว่าการเป็นเรฟูจีอยู่ในค่ายอพยพ ใจทุกดวงมีรอยร้าวย่อมดีกว่าการแตกสลาย 

เรฟูจีแปลว่าผู้อพยพ แต่ข้าพเจ้าขอแปลว่า ความสูญสิ้น วันนั้น เหงียน ทิ เฟือง ได้รับการดูแลจากครอบครัวของชาวเรือประมงริมฝั่งทะเลภาคตะวันออก 

คนไทยสมัยนั้นจะช่วยคนเวียดนามบางคนไว้ด้วยวิธีนี้ บางคนอาจรักชอบถึงขั้นอยู่กินมีลูกด้วยกันก็มี แต่สาวเวียดนามเหล่านั้น จะไม่ออกสู่สังคม เพราะกลัวทางการรู้ พวกหล่อนไม่มีบัตรประชาชน หล่อนเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่ในบ้าน พร้อมกับชีวิตใหม่ ทุกคนไม่ลืมบ้านเมืองที่จากมา แต่ไม่มีใครอยากกลับสู่แผ่นดินแห่งสงคราม ข้าพเจ้าอาจจะพูดได้ เขียนถึงได้ แต่ไม่มีทางสื่อถึงความจริงอันเจ็บร้าวเหมือนเป็นนิรันดร์นั้นได้เลย 

เมื่อเหงียน ทิ เฟืองมีอายุย่างเข้า 16 ปี เถ้าแก่ไม่สามารถรับดูแลเหงียน ทิ เฟืองไว้ได้อีกต่อไป เพราะดูเหมือนเธอจะมีปัญหาด้านจิตใจอย่างรุนแรง วัน ๆ เอาแต่นั่งเงียบ ไม่พูด เธอจึงได้กลับเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพอีกครั้ง และข้าพเจ้าได้พบเธอที่นั่นเมื่อเธออยู่ในสถานะผู้อพยพมาแล้ว  5 ปี

เหงียน ทิ เฟืองถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาล ด้วยสภาพจิตใจที่บอบช้ำสุดแสน หญิงสาววัย 21 ปี ที่พบกับความพลัดพราก สูญเสียทุกอย่าง แผ่นดินเกิด ครอบครัว และจิตวิญญาณ

หมอวินิจฉัยว่า เธอเป็นโรคซึมเศร้า (จากภาวะสงคราม) ข้าพเจ้าต่อให้เองในวงเล็บ ดวงตาของเธอเหมือนมีเงาของความตายฝังอยู่ในแก้วตา หวาดกลัวจนในที่สุดกลับแห้งแล้งดุจไร้ชีวิต

ข้าพเจ้าช่วยดูแลเธอในฐานะนักศึกษาฝึกงานแผนกจิตเวช การทำกิจกรรมบำบัดล้มเหลว เหงียน ทิ เฟือง มีชีวิตที่ไร้ชีวิต จนกระทั่งหมอจำเป็นต้องสะกดจิตเพื่อให้เธอปล่อยสิ่งที่อัดอยู่ภายในออกมา

ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ตอนที่หมอสะกดจิตเธอ การสะกดจิตเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ได้ผล หมอต้องเรียนและฝึกทักษะเฉพาะนี้จนได้รับวุฒิบัตร ข้าพเจ้าเพียงอ่านผลการรักษา และทราบว่า สิ่งที่ฝังอยู่ในใจของเธอคือเรื่อง ความสุขที่หายไป อดีตแสนสุขอยู่ในความฝัน บ้านที่เคยอบอุ่นในไซ่ง่อน อาหารพื้นถิ่นที่อร่อยถูกปาก รวมทั้งอาหารมื้อสุดท้ายที่ล้อมวงกินกันในครอบครัว “เกิมตั๋ม” เป็นเนื้อหมูที่นำมาหมักกับซอส แล้วทอดในเตาถ่าน เหงียน ทิ เฟือง เขียนบรรทัดสุดท้ายว่า “พวกเราล้อมวงกินเกิมตั๋มกันอย่างเลื่อนลอย แม้จะมีความหมายเพราะมันเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของเราที่บ้านเกิด แต่เราก็รู้สึกเศร้าที่สุดในชีวิต”

3.     คนงานก่อสร้างจากเวียงจันทร์

ข้าพเจ้าลาฝั่งทะเลตะวันออก กลับมาอยู่ริมน้ำแม่กลอง เรื่องราวของเหงียน ทิ เฟืองจางหายไปกับคลื่นลมกลางทะเล เหลือเพียงความทรงจำที่เลือนรางเต็มที ถ้าจะไม่เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น

ภายใต้ผืนดิน 5 ไร่ครึ่งกลางทุ่งนาห่างไกลจากเมือง ครอบครัวข้าพเจ้าเตรียมการปลูกบ้านหลังใหม่ สร้างโรงเรือนสำหรับปลูกผักใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ขุดสระกว้างประมาณครึ่งไร่ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดปีสำหรับการเพาะปลูกผักปลอดสาร 

การก่อสร้างครั้งแรก ใช้ผู้รับเหมาที่รู้จักกันในหมู่บ้าน ฝีมือดี แต่ก็มีปัญหาจนได้ เราเถียงกันตั้งแต่การลงเสาเข็ม กระทั่งแตกหักเมื่อตอนเทปูนผิดประเภท ข้าพเจ้าเปลี่ยนผู้รับเหมาที่ได้รับการการันตีมาจากเจ้าของบริษัทค้าอุปกรณ์สร้างบ้านคนหนึ่งที่น่าเชื่อถือ  แรก ๆ ก็เป็นไปด้วยดี โครงสร้างชั้นบนเสร็จหมดแล้ว ยังไม่ได้มุงหลังคา หรือก่อกำแพง แต่แล้วก็เลื่อนงานจนล่าช้าออกไปหลายเดือน รับเงินแล้วไม่มาทำตามสัญญา 

บ้านกลางทุ่งไม่มีท่าทีว่าจะไปต่อ ฝนก็ตกลงมาจนทางเข้าเละเทะไม่สามารถขนวัสดุก่อสร้างเข้ามาได้ เรารอฤดูหนาวผ่านมาถึงฤดูร้อน เสียงจักจั่นร้องเยาะเย้ยอยู่บนกิ่งไม้แห้ง ในที่สุดต้องขอให้น้าชายที่เคยรับเหมาก่อสร้างมาช่วย  แต่ไม่มีคนงาน ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน ระหว่างนั้น มีชายคนหนึ่งมากับผู้หญิงที่เป็นภรรยาและลูกสาวตัวเล็กอีก 1 คน มาขอทำงานก่อสร้างที่เหลือ

            “ผมมาจากเวียงจันทร์ มาทำงานอยู่ที่ไทยนานหลายปีแล้ว” เขาพูดไทยได้ดี

            “ชื่ออะไร” น้าชายถาม

เขาแนะนำตัว ผมซายคำ นี่แฟนผมใสเวียง และฟ้าใส

ซายคำเข้ามาทำงานในไทยครั้งแรกถูกกฎหมาย ทำงานอยู่เกือบสิบปี “เจ้านายโกงผม” เขาเล่า ทำงานแล้วไม่ได้เงิน ลำบากมาก

ข้าพเจ้าถามว่า แล้วมาที่นี่ได้อย่างไร 

            “มีเพื่อนทำงานที่อยู่บ่อกุ้งตรงโน้น” 

            “อ้อ” ข้าพเจ้าพยักหน้า บ่อกุ้งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ เขาเห็นการก่อสร้างที่ไม่มีคนงาน หูไวตาไวทีเดียวสำหรับแรงงานต่างด้าว

            “มากันกี่คน”

            “สองคนนี่หละครับ”

            “จะไหวหรือ”

            “ผมทำได้ครับ” 

ซายคำมองดูโครงสร้างบ้านสองชั้น ที่ขึ้นโครงแล้ว เทพื้นชั้นสองแล้ว เหลือก่อกำแพง ปูกระเบื้อง มุงหลังคา ติดหน้าต่างประตู 

ข้าพเจ้าตกลง โดยให้น้าสมบัติช่วยดูแลเรื่องนี้ น้าสมบัติดูจะพอใจคนงานที่มาใหม่ อย่างน้อยก็ทำให้เขาสบายขึ้น

ซายคำทำงานอย่างหนัก เขาขยันมาก แทบจะไม่พักเลย เราจ่ายค่าแรงเขาตามสมควร และเขาพอใจ งานคืบหน้าไปได้เร็วมาก ก่อกำแพงเสร็จแล้ว ทาสีแล้ว ปูพื้นกระเบื้องได้ครึ่งหลัง ก็หยุดชะงัก

ปลายปี 2563 เขาบอกเราว่า บัตรแรงงานต่างด้าวของเขาหมดอายุนานแล้ว เกิดความยุ่งยากขึ้นตอนนี้แหละ เราไม่ใช่นายจ้างเขา แต่ทำตัวเสมือนนายจ้าง ซึ่งจะเข้าข่ายความผิดที่รับคนงานต่างด้าวมาทำงาน ทางออกของเราคือ ต้องต่ออายุให้เขา ข้าพเจ้าติดต่อไปที่คนรับจ้างทำใบอนุญาต โดยค้นจากอินเตอร์เน็ต ตกลงค่าใช้จ่ายแล้ว เขาก็กำหนดวันมาว่า ให้ส่งคนงานกลับไปชายแดนเวลาไหน อย่างไร สรุปคือ เราจะให้คนงานข้ามกลับไปฝั่งลาวโดยมีคนพาไป ค้าง 1 คืน และตอนเช้าก็กลับเข้ามา ส่วนหนังสือจะตามมา แต่ไม่รู้โชคดีหรือร้ายที่เกิดเรื่องโรคระบาดขึ้นมาเสียก่อน ทำให้ประเทศไทยต้องปิดชายแดน และอนุญาตให้คนงานต่างด้าวสามารถอยู่ต่อไปได้อีกระยะ

ระหว่างนี้ ซายคำดูหงอยเหงา เขาเต็มไปด้วยความกังวล และหวาดกลัว งานการไม่เดิน หลายวันเข้า บ้านช่องไม่คืบหน้า ข้าพเจ้าจึงบอกเขาว่า จะเลิกจ้าง ซายคำพยักหน้า เขาบอกว่า จะเดินทางกลับไปฝั่งลาวให้ได้

เราพยายามหาคนงานมาปูกระเบื้องต่อ ซึ่งหายากเต็มที น้าสมบัติจึงทำเอง งานช้า แต่ก็ยังดีที่โครงสร้างใหญ่เสร็จหมดแล้ว

หลายเดือนต่อมา เจ้าของบ่อกุ้งมาหาข้าพเจ้าที่บ้าน เขาบอกว่า ซายคำไปอยู่กับเพื่อนเขาที่นครปฐม และก่อเรื่องขโมยกุ้งที่คัดไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ

            “ฮื้อ!” ข้าพเจ้าไม่อยากเชื่อ “เขานิสัยดีมากนะ อยู่ที่นี่ วางเงินไว้ยังไม่หายเลย”

            “ไม่รู้นะ แต่ตอนนี้ เจ้าของเขาลงโทษหนัก” 

            “ทำยังไง” 

            “ตัดนิ้ว”

            “ฮ้า!” ข้าพเจ้าผงะ

            “จริง”

            “แจ้งความรึยัง”

            “ใครจะแจ้ง”

            “อ้าว”

            “เขาเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย”

4.  ค่าของคน

กลางดึกของคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง เสียงหมาเห่ารอบ ๆ บ้าน ข้าพเจ้ามานอนค้างที่นี่ 3 คนมีน้าสมบัติกับแม่ แม้บ้านจะยังไม่เสร็จดี แต่ก็เหลือเก็บงานอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

            “ครูครับ” มีเสียงเรียกอยู่ไม่ไกลนัก ข้าพเจ้าจำได้ดีว่า เป็นเสียงของซายคำ ไฟฉายส่องไปตามเสียงเรียก น้าสมบัติลุกขึ้นมาสมทบ เสียงดังแซกซากมาตามกองทรายที่ยังกองไว้มุมหนึ่ง แสงจันทร์สาดส่องเห็นเงาร่างนั้นชัดเจน ซายคำจริง ๆ 

            “มีอะไร” น้าสมบัติถาม 

            “ผมหนีเขามา”

น้าสมบัติเดินลงมาเปิดประตูให้ซายคำเข้ามาในบ้าน ซึ่งยังวางของรกระเกะระกะ กระป๋องสีเกลื่อนกลาด เศษผ้า เศษทรายยังเต็มไปหมด 

            “ไปไงมาไง” น้าสมบัติถาม เปิดไฟโคมชั่วคราวสว่างไสว 

ข้าพเจ้าเดินตามลงมา มองเห็นหน้าซายคำชัดเจน ใบหน้าตอบซูบ มีรอยแผลที่หูสองข้าง เหมือนถูกเฉือนหูทิ้งไป และตอนนี้แผลเหมือนผสานกันแล้ว ตามแขนขามีรอยขีดข่วน เขายกมือขวาให้เราดู

นิ้วมือเขาหายไปสามนิ้ว เหลือแค่นิ้วโป้งกับนิ้วชี้สองนิ้ว อีกสามนิ้วมีรอยแผลและเลือดกรัง มือบวมเป่ง มีรอยเขียวช้ำเหมือนเนื้อเน่า

            “ซายคำ” ข้าพเจ้าเรียกเขาด้วยน้ำเสียงสั่นเทา หันมองหน้าน้าสมบัติ 

            “ไปโรงพยาบาล” น้าสมบัติพูด

            “ไปไม่ได้” ซายคำบอก “ตำรวจจะจับผมแน่”

            “ปวดมากไหม” ข้าพเจ้าถาม ซายคำน้ำตาไหล เขาชี้ไปที่หัวใจของเขา “ห่วงลูกเมียมากกว่า” 

            “ตอนนี้พวกเขาอยู่ไหน” ข้าพเจ้าถาม

ซายคำบอกว่า ไปอยู่กับนายจ้างอีกคนที่บอกว่าจะช่วยเหลือให้ได้ทำบัตรอย่างถูกต้อง ตอนนี้ต้องแยกกันก่อน สำหรับตัวซายคำนั้น นายจ้างยังไม่รับ เพราะว่าจะมีปัญหาเนื่องจากเจ็บหนัก

            “ผมไม่มีทางไปแล้ว”

คืนนั้น ข้าพเจ้ากับน้าสมบัติ ช่วยกันทำแผลให้ซายคำตามมีตามเกิด โชคดีที่มีผ้าพันแผลและยาเบตาดีนอยู่บ้าง ข้าพเจ้าให้กินยาฆ่าเชื้อที่พอมีติดตัว ยาแก้ปวด แล้วก็กังวลว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี

บ้านพักคนงานที่สร้างไว้เป็นเรือนไม้เล็ก ๆ ยังไม่ได้รื้อ เราจึงให้ซายคำไปนอนที่นั่น ข้าวปลาอาหารเราไม่มีติดตัวมา มีแค่ขนมปังทาเนยอยู่ 2 แผ่น กับคุกกี้กินเล่น ๆ อีกเล็กน้อย แม่เดินเอากล้วยน้ำว้ามาให้ 3 ลูก ซายคำยกมือไหว้ขอบคุณ ก่อนจะเดินไปนอนยังเรือนคนงานหลังเดิม

ทั้งคืนข้าพเจ้ามีแต่ความกังวล นอนไม่หลับ เปิดหน้าต่างแอบมองไปที่เรือนคนงาน ถ้าเขามาตายที่นี่จะทำอย่างไร ตำรวจจะมาสืบสวน ตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าพเจ้าไม่ป่นปี้กันหมดหรือ

ข้าพเจ้าปรึกษากับน้าสมบัติ ไม่มีคำตอบ นอกจากส่ายหน้า แม่บอกว่า มานอนเถอะ ชีวิตคนเท่ากัน อย่างไรเราก็ควรดูแล แม่ไม่เข้าใจข้าพเจ้าเอาเสียเลย

รุ่งเช้า อากาศเย็นสบาย กลางทุ่งเห็นพระอาทิตย์ดวงโตอยู่ริมขอบฟ้า ข้าพเจ้าเดินไปที่เรือนคนงาน ซายคำนอนหายใจถี่ ๆ อยู่บนเสื่อ

            “เป็นไงบ้าง” 

ซายคำไม่พูด เขาพยายามขดตัวจนงอ เข่าขวาจรดมาถึงหน้าอก “ซายคำ” ข้าพเจ้าเรียก ในใจคิดว่า อย่ามาตายที่นี่นะ ใจเต้นตึกตัก ตกใจและหวั่นวิตก น้าสมบัติเดินตามมาพร้อมแม่

            “ทำไงดี” ข้าพเจ้าร้อนรน

            “ต้องพาเขาส่งโรงพยาบาล” แม่ออกความเห็น ข้าพเจ้ามองหน้าแม่ “ทำอย่างนั้นไม่ได้นะแม่”

            “แล้วจะปล่อยให้ตายอยู่ที่เรือนนี้หรือ” แม่พูด สีหน้าไม่ดี ย้ำอีกว่าให้พาซายคำไปโรงพยาบาล

            “น้าสมบัติ ทำยังไงก็ได้ ให้เขาออกไปจากที่นี่”

            “ให้เขากินข้าวก่อนมั้ย” น้าสมบัติถาม ข้าพเจ้าพยักหน้า

สายมากแล้ว ข้าพเจ้าไปส่งแม่กลับบ้าน และตัวเองไปทำงานตามปกติ แม้จะหวั่นไหวร้อนรุ่มในใจเพียงใดก็ตาม กระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยไปทางทิศตะวันตก และเป็นสีแดงงดงาม ข้าพเจ้าขับรถเข้าไปที่บ้านก่อสร้างเพียงลำพัง เบื้องหน้าเห็นเรือนคนงานว่างเปล่าไร้ร่องรอยซายคำ 

หดหู่ บอกไม่ถูก ความรู้สึกสับสน ตัดสินใจเดินไปหยิบชามอาหารที่มีข้าวไข่ทอดเหลืออยู่ น้าสมบัติเดินถือกระป๋องสีไปวางไว้มุมหนึ่ง พูดว่า

            “น้าให้ใสเวียงมารับซายคำไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้กี่วัน”

            “พ้นไปจากที่นี่ก็ดีแล้ว” ข้าพเจ้าพูด รู้สึกโล่งอก เทอาหารที่เหลือลงพื้นดินอย่างช้า ๆ

5.   อาหารมื้อสุดท้ายจากไซ่ง่อนถึงเวียงจันทร์

สายลมยามดึกพัดแรง ต้นการเวกริมหน้าต่างส่งกลิ่นหอมละมุน ดวงจันทร์เว้าแหว่งไม่เต็มดวง แม่มาเคาะประตูห้องให้กินข้าว ข้าพเจ้าปฏิเสธ แม่วางจานข้าวไว้ให้บนโต๊ะ กุ้งทอดของโปรด และน้ำพริกปลาสลิด ฝานแตงกวาบาง ๆ ราดด้วยน้ำปลาพริกมะนาว ข้าพเจ้าเทอาหารทั้งหมดทิ้งทางหน้าต่าง สายลมยังคงพัดแรง และกลิ่นการเวกก็โชยกลิ่นหอมจนเอียน

—————————

อาหารมื้อสุดท้ายจากไซ่ง่อนถึงเวียงจันทร์ โดย เสาวรี
รางวัลดอ ธาน ธาน ประเภทงานเขียนบุคคลทั่วไป (ชมเชย) จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 2,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร 

รางวัล “ดอ ธาน ธาน” เป็นรางวัลที่เราจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อระลึกถึงความงดงามและคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของ “ดอ ธาน ธาน” ครูใหญ่แห่งศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ Love Learning Center  เธอเป็นครูมาตลอดชีวิตตั้งแต่อยู่ในพม่า และเมื่อพลัดถิ่นฐานมาก็ทุ่มเทกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติในอ.แม่สอด จ.ตาก จนกระทั่งได้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

กิจกรรมประกวดงานเขียน ภาพถ่าย ภาพวาด ว่าด้วยผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ ภายใต้หัวข้อ “เพื่อนไร้พรมแดน” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ Project for the Agents of Changes (PAC) มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน  ร่วมด้วย Realframe และสำนักข่าวชายขอบ สนับสนุนโดย the Norwegian Human Rights Fund (NHRF)

คณะกรรมการคัดเลือกงานเขียน
ภาสกร จำลองราช บรรณาธิการสำนักข่าวชายขอบ
พรสุข เกิดสว่าง อดีตบรรณาธิการนิตยสารเพื่อนไร้พรมแดน
นาน จี เอ กวีสมัครเล่น อดีตผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศนอร์เวย์
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนอิสระ  คนไกลบ้าน
ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียนและนักวิจารณ์อิสระ

Related