อาชญากรรมสงครามข้างบ้าน

อาชญากรรมสงครามข้างบ้าน

| | Share

อาชญากรรมสงครามข้างบ้าน

ภาพความโหดร้ายของกองทัพรัสเซีย ที่โจมตีแม้กระทั่งพลเรือนที่กำลังพยายามอพยพหลบหนี เป็นที่น่าสะเทือนใจแก่ชาวโลกรวมถึงคนบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง

ล่าสุดมีข่าวว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) กำลังเตรียมสอบสวนว่า ปฏิบัติการของกองทัพรัสเซียในยูเครนเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามหรือไม่

“อาชญากรรมสงคราม” คือการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมในภาวะสงคราม ซึ่งมีนิยามไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ อันได้แก่ สนธิสัญญากรุงเฮก อนุสัญญาเจนีวา (1949) ทั้ง 4 ฉบับ และพิธีสารต่อท้าย (1977) อีก 2 ฉบับ ทุกรัฐสมาชิกของสหประชาชาติล้วนให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาเจนีวา และแม้ว่าจะมีรัฐที่ไม่ได้ลงนามในพิธีสารต่อท้ายฯอยู่ หลักเกณฑ์ในพิธีสารฯบางส่วนก็ถือว่าเป็นกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งทุกรัฐต้องยึดถือปฏิบัติตาม การนิยามอาชญากรรมสงครามนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า การก่ออาชญากรรมโดยรัฐหรือกองทัพจะมีบุคคลผู้รับผิดชอบซึ่งต้องรับผิดทางอาญาได้ 

รูปแบบของอาชญากรรมสงครามตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ได้แก่การใช้ยุทธวิธีต้องห้ามต่าง ๆ เช่น จับพลเรือนเป็นตัวประกัน ทรมานเชลยศึก บังคับเด็กให้เป็นทหาร ใช้การข่มขืนเป็นอาวุธ ฯลฯ หรือ การจงใจพุ่งเป้าการโจมตีไปที่พลเรือน การฆ่าและทำร้ายเด็ก หรือบุคลากรงานมนุษยธรรม เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี กฎหมายสงครามไม่ได้ถือว่าการทำให้พลเรือนเสียชีวิตทั้งหมดเป็นอาชญากรรมสงคราม หากจะต้องเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงโดยไม่มีความจำเป็น หรือไม่สามารถอ้างประโยชน์ทางทหารอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การทิ้งระเบิดโจมตีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อาจไม่ถือเป็นอาชญากรรมสงครามหากสามารถอ้าง “ความจำเป็นทางทหาร” ได้ แต่หากมีการพิสูจน์ว่าการกระทำนั้นไม่จำเป็น ก็ถือว่าเข้าข่าย

สำหรับเพื่อนไร้พรมแดนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมสงครามหรือไม่ สงครามก็คือการสูญเสียของมนุษยชาติ ที่ไม่มีพลเรือนเป็นผู้ชนะ 

หันมองที่ข้างบ้าน เราเพิ่งรายงานข่าวการจับประชาชนเป็นตัวประกันที่มณฑลสะกายเมื่อไม่กี่วันก่อน และเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงตลอดกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กองทัพพม่าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศรวม 2 ครั้ง ยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้านนานารวมมากกว่า 400 ครั้ง ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย บาดเจ็บ 26 ราย พลัดถิ่นในประเทศอย่างน้อย 7 หมื่น อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตและป่วยไข้ทั้งทางกายและจิตอันเป็นผลพวงทางอ้อมของสงครามอีก เป็นจำนวนอันประมาณมิได้

เข้าเดือนมีนาคม เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ณ จังหวัดมื่อตรอ ในวันเสาร์ (5 มี.ค.) กองทัพพม่าก็ยิงปืนใหญ่เข้าหมู่บ้านใน ต.แม่กลอ อ.บูโธ ในยามค่ำคืน มีผู้เสียชีวิตทันที 7 คน บาดเจ็บสาหัสอีก 4 คน 

ในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้น มีเด็กหญิงวัย 3 ขวบ เด็กหญิง 5 ขวบ และเด็กหญิง 14 ขวบ มีหญิง 2 ราย ซึ่งรายหนึ่งกำลังตั้งครรภ์อยู่ และชายอีก 2 ราย ทั้งหมดเสียชีวิตบนบ้าน ขณะอยู่ในที่นอนและมุ้งของตนเอง 

วันถัดมา ชาวบ้านหญิงอีกราย ก็บาดเจ็บสาหัสจากปืนใหญ่ที่ยิงโจมตีหมู่บ้านของเธอใน ต.แม่ตอ อ.ด้วยโล 

ความเหี้ยมโหดไม่เว้นแต่ละวันเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นข้อมูลให้คิดต่อได้ว่า ปฏิบัติการของกองทัพพม่านั้นเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามหรือไม่ หากยังคือเหตุผลสนับสนุนว่า เหตุใดไทยจึงสมควรจะเปิดรับการลี้ภัย และปฏิบัติต่อชาวบ้านเหล่านี้โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

นอกจากนี้ ที่สำคัญ มันคือการประกาศชัดเจนว่า ผู้ที่ยังค้าขายสนับสนุนกองทัพพม่า ไม่ว่าจะเป็นเสบียง อาวุธ หรือน้ำมันเครื่องบิน ล้วนเป็นผู้สนับสนุนอาชญากรรม

ภาพประกอบ : ภาพวาดเข้ารอบชิงชนะเลิศจากการประกวดภาพ “เพื่อนไร้พรมแดน” ประเภทบุคคลทั่วไป
โดย ชมัยพร ธัญญเจริญ

Related