“อย่าทำแบบนี้กับผม”บทความเสียงชาวบ้าน
โดย แอ้เกอะหลึตอ
เพื่อนของผมเข้ามาปลุกตั้งแต่ตีห้า ผมสะดุ้งเฮือก กวักน้ำล้างหน้าล้างตาและคว้าเสื้อผ้ามาใส่อย่างรีบเร่ง และทันใดนั้นก็เหมือนกับจะมีลางบอกเหตุ เข็มขัดเก่าแก่ที่ผมหยิบมาร้อยคาดเอวเกิดขาดผึง
ผมม้วนมันเก็บไว้อย่างลวก ๆ ด้วยความรีบร้อน แล้วเร่งก้าวขาออกจากบ้าน ในความมืดสลัว ผมกับเพื่อนมุ่งหน้ามายังรั้วลวดหนามของค่ายผู้ลี้ภัย สัมภาระที่พกใส่ย่ามมานอกจากของใช้จำเป็นแล้ว ก็มีกล้องถ่ายรูปอยู่หนึ่งตัว กล้องนี้มีคนให้ผมไว้ ผมอยากจะเอามาถ่ายรูปการเดินทางครั้งนี้ เพราะผมไม่เคยออกจากค่ายผู้ลี้ภัยไปไหนเลย
ตามกฎหมายไทย พวกเราทุกคนถูกห้ามไม่ให้ออกมา โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มี “บัตรยูเอ็น” อย่างผม ว่ากันว่าถ้าออกไปแล้วถูกจับ ก็จะถูกส่งไปขังที่ในเมือง แล้วถ้าไม่มีใครมาไถ่ตัว ก็อาจจะถูกส่งให้ทหารกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธที่ถือปืนอยู่ข้างเดียวกับกองทัพพม่า ส่วนคนมีบัตรยูเอ็นแล้วก็ค่อยยังชั่วหน่อย ส่วนใหญ่จะถูกส่งตัวกลับค่ายผู้ลี้ภัย
ผมยืนรอรถสองแถวด้วยความตื่นเต้น นี่เป็นครั้งแรกที่ผมจะลองไปรับจ้างหักข้าวโพดตามไร่คนไทยเพื่อหาเงินมาซื้อของจำเป็นที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี เพื่อนผมบอกว่าเช้ามืดอย่างนี้เราไม่น่าจะเจอตำรวจ ลุงคนหนึ่งมารอรถอยู่ที่นั่นด้วย ผมคุยกับแกได้ความว่าเรากำลังจะไปที่เดียวกัน แกต้องการหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ติดกระเป๋าไปต่างประเทศ แกได้รับการตอบรับว่าแล้วว่าครอบครัวแกจะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม
สองแถวคันแรกไม่ยอมรับเรา ตีรถกลับไปเฉย ๆ เราเริ่มร้อนใจ เพราะถ้าสว่างมากจะเสี่ยงกับการถูกจับ แต่เมื่อได้ขึ้นสองแถวคันถัดมา ผ่านด่านตรวจติดค่ายผู้ลี้ภัยไปด้วยดี ผมก็ถอนใจโล่งอก นั่งมองวิวด้านข้างอย่างเพลิดเพลิน ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทย ผมไม่เคยเห็นเมืองไทยเลย แต่ทันใด เพื่อนก็เขย่าขาเรียกให้ผมมองไปข้างหน้า เจ้าหน้าที่ไทยกลุ่มหนึ่งมารอดักจับคนอยู่ สองแถวของเราถูกเรียกจอด
เจ้าหน้าที่ขึ้นมาถามหาบัตรประชาชน ผมและเพื่อนจำเป็นต้องตอบว่าไม่มี
วินาทีนั้นผมรู้สึกอับอายจริง ๆ ผมรู้ว่าผมทำผิดกฎหมายไทย แต่ผมก็มีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงตัวเอง เจ้าหน้าที่ไทยเปลี่ยนเสียงทันควันเมื่อได้ฟังคำตอบ พวกเขาตวาดไล่ให้ลงไปนั่งข้างถนนราวกับเราเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง ผมกลัวจนไม่กล้ากระดุกกระดิก มองพวกเขารื้อค้นย่ามของผม หยิบข้าวของมาดูทุกชิ้น แล้วเลือกเอาโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป เงินทั้งหมดไม่ถึงร้อยบาทของผมไป
“ทำไงดี” ผมนิ่งคิดขณะหัวใจเต้นโครมคราม หันมองรอบตัว ในสายลมเย็นยามเช้าตรู่ มีคนถูกจับนั่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 คน เป็นคนที่มารถคันเดียวกับผม 7 คน ทุกคนที่ถูกจับกระซิบถามกันเบา ๆ ว่าใครมีบัตรยูเอ็นบ้าง ปรากฎว่ามีแต่ลุงคนที่ผมคุยอยู่คนเดียว เราที่เหลือล้วนเป็นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาประเทศไทยหลังปีพ.ศ. 2548 ซึ่งจากนั้นผ่านมาห้าปีแล้วยังไม่มีการทำทะเบียนหรือบัตรใหม่โดยเจ้าหน้าที่ไทยกับยูเอ็นอีกเลย
เจ้าหน้าที่พาเราไปยังสถานีตำรวจใกล้ ๆ พวกเขาจดชื่อและถ่ายรูปพวกเราไว้ ผมนึกว่าเขาจะปล่อยตัวลุงคนนี้ แต่ก็ไม่เห็นปล่อยสักที นั่งใจไม่ดีอยู่สักพักก็มีเสียงนาฬิกาดังติ๊ด ติ๊ด ติ๊ดขึ้นแปดครั้ง แล้วก็มีเสียงตวาดสั่งให้ลุกขึ้นยืน เราก็ลุกขึ้น และเพลงชาติไทยก็ดังขึ้น
ผมมองธงชาติไทยค่อย ๆ เคลื่อนสู่ยอดเสา เห็นเจ้าหน้าที่ไทยทำความเคารพธงชาติกัน ผมได้แต่คิดอยู่ในใจว่า “นี่ถ้าเรามีประเทศของเรา เราคงไม่ต้องมาทำผิดให้ถูกจับแบบนี้ เมื่อไหร่จะถึงวันนั้นนะ” ตอนนี้เรามีแต่ชื่อประเทศ “เกอะญอก้อ” แต่แผ่นดินนั้นถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารพม่า คนปกาเกอะญอในพม่าถูกมองเป็นคนป่าคนเถื่อน ถูกไล่ฆ่าไล่ปราบ ผมคิดถึงความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติและหันมองพวกเราที่ถูกจับเหมือนเป็นอาชญากรแล้วก็ต้องก้มหน้าซ่อนน้ำตา
“ไป ๆๆๆ” เสียงเจ้าหน้าที่ปลุกผมให้ตื่นจากภวังค์ เราถูกเรียกให้เดินตามกันไปห้องขัง ผมขอให้คนที่ถูกจับมาด้วยกันที่พอพูดภาษาไทยได้ถามถึงข้าวของต่าง ๆ ที่ถูกยึดไป แต่คำตอบที่ได้ก็คือให้รอก่อน เดี๋ยวจะได้คืนเมื่อปล่อยตัว เมื่อได้ยินอย่างนี้ผมก็ไม่กล้าถามอะไรอีก ลุงที่มีบัตรยูเอ็นก็ถูกเรียกไปด้วย แกถูกดึงเอาแหวนจากนิ้วมือ และยึดเงินอีก 60 บาทรวมถึงใบยาสูบในย่ามไปโดยไม่มีคำอธิบายอะไร เรารออยู่ในห้องขังนั้นโดยที่ไม่รู้ว่ารออะไร บางคนก็เริ่มพูดคุยถามไถ่กัน ชายคนหนึ่งเล่าว่าเขาถูกจับจากในไร่ข้าวโพดหลังจากมาทำงานไปได้ 10วัน นายจ้างยังไม่จ่ายเงินก็มีตำรวจเข้ามาจับถึงไร่ คนอื่นบอกว่าถ้ารูปการณ์เป็นแบบนี้ นายจ้างอาจจะเป็นคนเรียกตำรวจมาเองเพราะไม่อยากจ่ายค่าแรง เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นแถบชายแดนเสมอ
ผ่านไปราวชั่วโมงกว่า เจ้าหน้าที่ก็มาไขประตูและเรียกพวกเราให้ลุกขึ้นอีก คราวนี้เขาสวมกุญแจมือให้เราคล้องติดกันเป็นพวง เราทั้งหมดต้องลากจูงกันไปขึ้นรถคันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ให้ลุงที่มีบัตรยูเอ็นไปรวบรวมย่ามและรองเท้าของทุกคนไว้ แกจึงไม่ถูกสวมกุญแจมือและได้นั่งด้านหน้ารถ ผมมองหน้าลุงแล้วรู้สึกเห็นใจเป็นที่สุด อีกแค่เดือนกว่าแกก็จะได้ไปจากสภาพนี้แล้ว ไปอยู่ในประเทศที่แกไม่ต้องเดินอย่างคนผิดกฎหมายแล้ว ไม่น่าจะต้องมาโดนอย่างนี้เลย คนที่ถูกจับด้วยกันคนหนึ่งกระซิบกับแกว่า “นี่ลุง ถ้ารถหยุดละก็ลุงวิ่งหนีไปเหอะ เขาไม่จับหรอก” ลุงไม่ตอบว่าอะไร แต่แล้วแกก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ
เมื่อรถหยุดที่ไฟแดง ลุงเปิดประตูรถวิ่งหนีไปเฉย ๆ ผมหัวใจเต้นไม่เป็นส่ำ แต่ตำรวจก็แค่ตะโกนตามโดยไม่ยอมเสียเวลาเสียแรงไปไล่จับ ผมอดดีใจกับลุงไม่ได้ ใจอยากจะเสี่ยงวิ่งหนีไปหาอิสรภาพเหมือนกันแต่ก็จนปัญญาที่ถูกล่ามอยู่ จึงได้แต่นั่งรถไปอย่างไม่รู้ทิศทาง ไม่รู้ว่าเขาจะเอาผมไปที่ไหน ไปส่งให้ทหารพม่า หรือกลับไปที่ค่ายผู้ลี้ภัย หรือไปทำโทษอย่างไร
เมื่อรถหยุดอีกครั้ง เหมือนหัวใจผมจะหยุดเต้นตาม ผมหันมองสถานที่นั้น เพื่อนกระซิบว่านี่น่าจะเป็นต.ม. เราถูกเรียกให้ลงจากรถมายืนเข้าแถว เจ้าหน้าที่ไขกุญแจมือเราและเขียนตัวเลขบางอย่างไว้ที่แขนของทุกคน เขาพาเราไปถ่ายรูป ซักถามประวัติ และพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้วลงในกระดาษแผ่นหนึ่ง สุดท้ายเราก็ถูกส่งเข้าห้องขังที่มีคนอยู่ในนั้นแล้ว 7 คน ไม่มีการพูดถึงทรัพย์สินของเราที่ถูกยึดไปเลย
ที่นอน เสื่อ ผ้าห่มในห้องขังสกปรกและเหม็นสาบ กลิ่นเหงื่อไคลของผู้คนรอบข้างโชยมาคละคลุ้ง ในความร้อนระอุ ผมไม่รู้ว่าผมต้องอยู่ในนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ คนถูกจับส่งเข้ามาในห้องขังนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นทั้งหมดร่วม30 คน เราทุกคนมาจากประเทศพม่า ทั้งปกาเกอะญอและชาวพม่า อาชญากรรมที่เราก่อคือการจะไปหางานทำในประเทศไทยโดยไม่มี “บัตร” ผมเห็นคนบางคนนั่งเงียบ ๆ อย่างสิ้นหวัง แต่บางคนก็กำลังคุยโทรศัพท์โขมงโฉงเฉงหาทางให้มีคนมาช่วยประกันตัวออกไปจากที่นี่ เราได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์ได้ มีคนที่เข้ามาทีหลังผมถูกไถ่ตัวออกไปด้วยเงินจำนวน 800 บาท ผมจึงขอโทรหาคนรู้จักเพื่อจะบอกให้เขามาช่วยผมออกจากต.ม. บ้าง ผมกลัวที่จะถูกส่งไปเป็นลูกหาบของทหารกะเหรี่ยงพุทธ และคนในห้องนี้ยังเตือนกันด้วยว่าให้ระวังนายหน้าที่จะมาประกันตัวคนออกไปแล้วพาไปขาย
มีคนเรียกชื่อผมแล้ว หัวใจผมพองโต ผมพรวดพราดลุกขึ้นตามเสียงนั้นด้วยความหวังเต็มเปี่ยม แต่ที่แท้กลับเป็นเสียงเรียกผู้ชายอีกคนที่ใช้ชื่อเดียวกับผม ชายคนนี้มาติดอยู่ที่นี่ก่อนที่พวกผมจะมา เขาเดินออกไปหานายจ้างที่มาคอยรับตัวอยู่ข้างหน้า
ผมทรุดตัวลงนั่งกับผืนเสื่อสกปรกอย่างอ่อนแรง มีเสียงร้องไห้กระซิก ๆ ของผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ ปากเธอกำลังพร่ำพูดกับชายที่นั่งอยู่ข้าง ๆ “ลูกอยู่ในกระท่อมคนเดียว แล้วคืนนี้จะนอนยังไง จะให้ใครไปหาเขาก่อนได้ไหม..” เธอพร่ำซ้ำ ๆ สลับกับการซบหน้าลงร้องไห้กับอกคนข้างกายที่ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากปลุกปลอบ สองผัวเมียบอกผมว่าถูกจับตอนเช้าขณะกำลังเดินไปทำงานในไร่ข้าวโพด ฝ่ายชายขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยเมียกลับไปหาลูกเล็กที่รออยู่ที่กระท่อมพัก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอม “ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาทั้งหลายช่วยดูแลลูกของเราในคืนนี้ด้วยเถอะ…” ผมมองหยดน้ำตาที่ไหลจากแก้มหล่นเผาะลงบนผ้าซิ่นของเธอจนเปียกชุ่ม คำถามในใจผมก็คือ “นี่เองหรือ ชีวิตของเด็ก ๆ ที่ชายแดน ไม่มีใครเห็นเขาเป็นเด็กคนหนึ่งเหมือนกันเชียวหรือ เด็กน้อยคนนั้นจะหวาดกลัวมากแค่ไหนหนอ เขาจะผ่านค่ำคืนที่มืดมิดนี้โดยลำพังไปได้อย่างไร”
แล้วเจ้าหน้าที่ก็เรียกเราอีกที ทุกคนถูกต้อนให้ขึ้นรถไปชายแดนเมียวดี ผมใจเต้น ยังไม่มีใครมาประกันตัวผมเลย รถคันนั้นวิ่งสั้น ๆ มาจอดที่ด่านริมน้ำขอบแดนไทย-พม่า นี่คือด่านไทยด่านสุดท้ายก่อนจะเป็นประเทศพม่าแล้ว กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธกับทหารพม่าอยู่ฝั่งตรงข้าม ผมทั้งโล่งใจและหวาดกลัวเมื่อพบว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งมารอรับผมอยู่ จริง ๆแล้วผมไม่ไว้ใจเธอเพราะผมไม่กล้าไว้ใจใครอีก กลัวจะเป็นนายหน้ามาหลอกเอาผมไปขาย แต่เมื่อคุยกันจนมั่นใจว่าเธอเป็นหลานสาวของคนที่ผมโทรไปหา ผมก็ยอมให้เธอจ่ายเงินไถ่ตัวผม เพื่อน กับคนที่ถูกขังอยู่ด้วยกันไปคนละ 1500 บาท ทุกคนจะต้องนำเงินมาคืนเธอทีหลัง ผู้หญิงคนนี้พาผมและเพื่อนเดินกลับไปที่บ้านคนรู้จักของผม ส่วนคนอื่นจะเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับกันเอง
ระหว่างทางกลับเข้าเมือง ผมเจอด่านอีก เขาเรียกให้เราหยุดอีก มองตัวเลขบนแขนของผมแล้วก็ยิ้ม คงจะรู้ว่าเราถูกจับมารอบหนึ่งแล้ว เขาถามลอย ๆ ว่ายังมีเงินอีกไหม เพื่อนผมบอกว่ามีเหลืออยู่ 150 บาทในกระเป๋ากางเกงและยื่นให้เขาอย่างว่าง่าย แต่เขาโบกมือไม่รับและไล่ให้ไป ผมมารู้ทีหลังว่า คนอื่นที่นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมานั้นต้องจ่ายเงินให้ด่านระหว่างทางรวมกันอีก 5000 บาทจึงจะได้รับการปล่อยตัว
ผมเป็นคนปกาเกอะญอจากทีท่าแซว คนปกาเกอะญอได้รับการยกย่องว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่รักซื่อตรง เยือกเย็นและรักสงบ แต่คราวนี้ผมอยากจะร้องตะโกนอย่างกราดเกรี้ยวขึ้นมาบ้าง การที่เราจะถูกจับ ปรับ และส่งออกที่ชายแดน เป็นเรื่องที่ผมจำต้องยอมรับ เพราะมันเป็นชะตากรรมของเราชาวปกาเกอะญอในพม่าจะต้องถูกกดดันจนไม่มีแผ่นดินจะอยู่และต้องมาหาเลี้ยงตัวโดยไม่ได้รับคำเชิญที่นี่ แต่การที่เขาจะปล้นเอาสมบัติไม่กี่ชิ้นที่ผมมีไป หรือเรียกร้องเงินจากเราซ้ำซากทุกบาททุกสตางค์ที่เราหามาได้ ผมก็อยากจะร้องตะโกนออกมาดัง ๆ ว่า
…อย่ามาทำแบบนี้กับผม … ผมเป็นคน ผมไม่ได้กินหญ้า …
เสียงของคนตัวเล็ก ๆ อาจไม่ดังนัก เหมือนหมาน้อยที่วิ่งเร็วปานลมกรดก็ไม่อาจทำให้ฝุ่นตลบฟุ้ง แต่เพราะผมเป็นคน ผมจึงยังมีสิทธิ์ที่จะวิ่งวนไปวนมา และกู่ร้องให้ทุกคนได้รับรู้ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นที่นี่หรือมิใช่
—————-
หมายเหตุ : แอ้เกอะหลึตอ เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในปีพ.ศ. 2556 ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย หลังจากภรรยาซึ่งมีบัตรยูเอ็นและล่วงหน้าไปก่อนสามารถทำเรื่องให้เขาเดินทางตามไปได้สำเร็จ
ภาพประกอบจากหนังสือ “มุ่งหาแสงตะวัน” วาดโดยโคซอ และซอโหง่ จัดพิมพ์โดยเพื่อนไร้พรมแดน
เสียงชาวบ้าน คือกลุ่มนักเขียนอิสระที่เป็นผู้ลี้ภัยและชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ พวกเขาตั้งใจถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อประเพณี และเรื่องราวอีกมากมายผ่านบทความ บทกวี และภาพถ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม