สื่อมวลชน กับการลี้ภัยเพื่อพูดความจริง

สื่อมวลชน กับการลี้ภัยเพื่อพูดความจริง

| | Share

สื่อมวลชน กับการลี้ภัยเพื่อพูดความจริง

หนึ่งในกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่หลบหนีออกจากประเทศพม่ามาลี้ภัยในประเทศไทย คือสื่อมวลชน

หลังรัฐประหาร สื่อมวลชนท้องถิ่นพยายามยืนหยัดทำหน้าที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงออกสู่สายตาชาวโลก แต่รายแล้วรายเล่าก็ถูกไล่ล่าในฐานะที่เป็นศัตรูของรัฐทหาร คนที่มีครอบครัวส่วนหนึ่งจึงค่อย ๆ ทะยอยลี้ภัยมาพร้อมกับลูกที่ยังเล็ก บางรายก็พาพ่อแม่ที่แก่ชรามาด้วย เพราะรู้ว่าการปล่อยให้ครอบครัวและคนที่รักยังอยู่ที่นั่นคือความเสี่ยงถึงชีวิต

แถลงการณ์ขององค์กรสื่อพม่าเมื่อ 10 ก.ย. 2565 ระบุว่า ถึงวันนี้ มีผู้สื่อข่าวทั้งนักเขียน ช่างภาพ และวิดีโอ ถูกจับกุมไปมากกว่า 140 คน ถูกคุมขังอยู่ 60 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิตจากการถูกทารุณกรรมในที่คุมขัง 

วานนี้ สื่อมวลชนหญิง เท็ต เท็ต ข่าย ซึ่งทำงานให้กับ BBC ซึ่งถูกคุมขังมากว่าปี ถูกตัดสินจำคุก 3 ปีร่วมกับโทษให้ใช้แรงงานหนัก 

ล่าสุด วันนี้ บทความอันน่าสะเทือนใจยิ่งของเย มอน นักข่าว Frontier Myanmar ได้รับการเผยแพร่ เขาถูกทารุณกรรมและข่มขืนในระหว่างการจับกุมสอบสวนเมื่อเดือนธันวาคม 2564

“อีกครั้ง ผมถูกผูกตาและพาตัวไปที่ศูนย์สอบสวน ทหารคนหนึ่งเอาน้ำมาให้ และถามคำถามเดิมกับผม ซึ่งก็เหมือนกับวันก่อนหน้า ที่ผมจะปฏิเสธไม่ยอมให้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ

ผมได้ยินเสียงหญิงสาวกรีดร้อง น่าจะมาจากห้องข้าง ๆ ทหารคนหนึ่งพูดว่า “มิน ธู โก โลด ยา เหม่” ซึ่งแปลตรง ๆ ได้ว่า ผมจะต้องทำอะไรให้เธอหรือทำกับเธอ แต่จากบริบทนั้น ผมรู้ว่าพวกเขาหมายความว่าผมจะต้องมีเซ็กส์กับเธอ ถ้าผมไม่ทำ พวกเขาบอกว่า พวกเขาจะทำ “อะไร” กับผม ผมตกใจกลัวมาก แต่ก็ปฏิเสธ

พวกเขาถามอีก ใครเป็นแหล่งข่าวของบทความนั้น ผมบอกเขาว่าผมจำไม่ได้ พวกเขาไม่เชื่อผม

และนั่นคือตอนที่พวกเขาเริ่มข่มขืนผม ผมร้องขอให้พวกเขาหยุด แต่พวกเขาบอกให้ผมหุบปาก มันดำเนินไปอย่างนั้นอยู่ราวชั่วโมง”

เย มอน มีชีวิตรอดออกมาจากพม่าได้อีกครั้งด้วยความบอบช้ำ  แต่ก็ด้วยปรารถนาแรงกล้าที่จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขา เขาเชื่อว่า ทหารพม่าใช้การทารุณกรรมทางเพศกับคนอีกมากมายที่ถูกสอบสวน หากคนส่วนใหญ่จะบาดเจ็บเกินกว่าจะอยากเอ่ยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน

มีสื่อมวลชนและผู้คนที่เคยถูกกองทัพพม่าจับกุมสอบสวนมากมายที่หนีตายมายังประเทศไทย ถึงทุกวันนี้ พวกเขายังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควรจะได้รับ หากถูกปล่อยไว้ตามยะถากรรมในเมืองชายแดนและเมืองใหญ่ต่าง ๆ หลบ ๆ ซ่อน ๆ ด้วยสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย 

“คุณรู้ไหมว่า การที่ผมหนีรอดออกมาโดยที่ยังมีเพื่อนเสี่ยงชีวิตอยู่ในพม่า ผมรู้สึกอับอายแค่ไหน  การการที่ผมต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากทุกคนที่ผมรู้จัก มันก็ยิ่งอับอายไปยิ่งกว่า ผมไม่มีสิทธิที่จะทำงานเลี้ยงครอบครัว และไม่มีสิทธิจะไปไหนโดยไม่ต้องกลัวถูกจับ” ผู้ลี้ภัยที่เป็นสื่อมวลชนจากพม่าคนหนึ่งเคยอธิบายความรู้สึกไว้

“งานสื่อมวลชนคือการถ่ายทอดความจริง มันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผมยังหลงเหลือความภูมิใจในตัวเองอยู่ ดังนั้น ผมจึงช่วยงานเพื่อน ๆ แม้ว่ามันจะไม่ได้ค่าตอบแทน เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้ผมอยู่รอดในความน่าอับอายขายหน้าแบบนี้”

นโยบายการปล่อยคนไว้ตามยะถากรรมคือการสร้างความกดดันต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ผู้ลี้ภัยทุกคนคือนักสู้ที่เพียงเลือกวิถีทางแตกต่างจากคนที่ยังคงยืนหยัดอยู่ในพม่า และพวกเขาล้วนคือผู้รอดชีวิตที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ ด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง

16 กันยายน 2565

อ้างอิง
I reported on the military’s abuses, and then I became a victim, 16/09/22, Ye Mon, Frontier Myanmar

Related