สาวน้อย

สาวน้อย

| | Share

สาวน้อย

เด็กผู้หญิงวัยใกล้ 15 ปีนั่งฟังแม่เล่าถึงวันที่เธอ น้องชาย แม่และน้า ถูกจับไปขังอย่างไม่สะทกสะท้าน  

วันนั้น ตำรวจทหารพม่าบุกเข้ามาในบ้าน เพื่อมาจับพ่อของเธอซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในพื้นที่  แต่พ่อไม่อยู่บ้าน พวกเธอจึงถูกจับไปแทน ขณะที่ปู่กับย่าส่งข่าวให้พ่อหนีตายได้ทัน

หลังจาก 3 วัน ทหารก็ปล่อยตัวพวกเธอออกมา เด็ก ๆ ไม่ถูกสอบสวนมากนัก แต่แม่โดนคุกคามอยู่ไม่น้อย น้าชายก็ถูกคุมขังต่ออยู่เป็นเดือน  ทันทีที่ออกมาได้ แม่พาพวกเธอหนีมาสมทบกับพ่อ รีบรุดเดินทางมายังเมืองชายแดน เลเก้ก่อ ในรัฐกะเหรี่ยง เพราะที่นั่นคือพื้นที่อิสระ เขตปลอดภัยของผู้ที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจทหาร 

“เราไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาเลย” แม่ของเธอบอก  

พวกเขาอยู่ที่เลเก้ก่อสักพักหนึ่ง “กี่เดือนนะ?” พ่อของเธอไม่แน่ใจ แต่เด็กหญิงชูนิ้วสามนิ้ว เพื่อจะบอกว่าสามเดือน  มันเป็นสามเดือนที่พวกเขายังร่วมขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร  การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรื่องของพ่อคนเดียว แต่ทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ออกไปร่วมชุมนุมกันด้วยตั้งแต่แรก 

ชีวิตที่เลเก้ก่อนั้นพอใช้ได้ แต่ในที่สุด คนเป็นพ่อแม่ก็คิดว่า “ลูกของเราต้องมีอนาคตและปลอดภัย” การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เลเก้ก่อมีโรงเรียนแต่ก็แทบจะไม่เปิด พวกเขาจึงตัดสินใจมาเมืองไทย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานนัก เลเก้ก่อก็ถูกโจมตีทั้งทางบกและทางอากาศ จนคนทั้งเมืองต้องหนีตายกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยในไทย ก่อนจะถูกผลักกลับไปเป็นคนพลัดถิ่นตลอดแนวริมน้ำเมยถึงทุกวันนี้

ที่เมืองไทย เด็กหญิงได้ไปโรงเรียนกับน้องชาย

“หนูชอบไปโรงเรียนม้ากกก หนูพยายามไม่ขาดเรียนเลยนะ  หนูชอบชุดนักเรียนแบบที่นี่ด้วย มันสวยแล้วก็ใส่สบาย ชุดนักเรียนเป็นชุดดีที่สุดที่หนูมีอยู่ตอนนี้” เด็กหญิงหัวเราะคิกคัก ปากเล่าเจื้อยแจ้ว “หนูไม่ชอบวิชาฟิสิกส์เท่าไหร่ แต่หนูสอบเคมีได้คะแนนสูงสุด ที่นี่หนูเรียนหนังสือสี่ภาษา หนูตั้งใจเรียนหมดแหละ แต่ถ้าเป็นภาษาไทยหนูจะนั่งตาลอย ๆ ซักหน่อย” เธอแสดงท่าทางเหม่อเหวอให้ดู “ก็หนูไม่ค่อยรู้เรื่องไง ต้องให้เพื่อนสอน แล้วหนูก็ช่วยสอนภาษาพม่าให้เพื่อนคนกะเหรี่ยง” 

“บางทีหนูก็คิดถึงเพื่อนกับโรงเรียนที่พม่า ที่นั่นหนูมีเพื่อนเยอะแยะ แต่ที่นี่หนูมาใหม่  หนูก็มีเพื่อนใหม่…” เธอหยุดนับนิ้วดู “..เอ่อ สักสิบคนได้ละ”  

เธอเคยไปเข้าโบสถ์คริสเตียนกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงและสวมใส่ชุดของพวกเขาถ่ายรูปด้วยกัน  แต่ที่จริงแล้ว ครอบครัวเธอเป็นชาวพม่าพุทธที่เคร่งครัด  ในบ้านเช่าหลังเล็ก ๆ ที่แชร์กันอยู่กับครอบครัวอื่นนั้น พวกเขานอนรวมกันเบียดเสียดในห้องหนึ่ง ส่วนอีกห้องจัดไว้เป็นห้องพระให้ได้เข้าไปนั่งสวดมนต์กันทุกวัน  พ่อของเธอบอกว่า “ลูกไปเข้าโบสถ์คริสต์ เพราะเราต้องการเรียนรู้จักศาสนาคริสต์ ก็ด้วยความเชื่อแบบคริสเตียนนี่แหละ คนกะเหรี่ยงที่เลเก้ก่อจึงดูแลเราอย่างดี เราได้รับความช่วยเหลือจากคนกะเหรี่ยงมากมาย เราจะต้องไม่ลืมน้ำใจของพวกเขา และต้องเคารพพวกเขาตลอดไป” 

“อยู่ที่นี่รู้สึกปลอดภัยกว่าในพม่าแน่ ๆ แต่ถ้าออกไปไหนเราก็ยังต้องกลัวตำรวจ” พวกเขาสมัครขอลี้ภัยไปประเทศที่สามมากว่าปีแล้ว แต่วันนี้ก็ยังอยู่ที่เดิม  ยังดีที่เมื่ออยู่ไปนาน ๆ ก็พอจะปรับตัวและหาบ้านเช่าที่ปลอดภัยสบายใจได้บ้าง  เมื่อแรกมานั้น “หนูต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ ทั้งวัน กลัวมาก ๆ กลัวว่าตำรวจไทยจะมาจับแล้วส่งเรากลับไปให้ทหารพม่า”

“ที่ห้องเช่าเก่า หนูได้แต่ปิดประตูหน้าต่างอยู่แต่ในห้อง อ่านหนังสือเล่มเดิม  ๆ ซ้ำ ๆ” เธอเดินไปหอบหนังสือตั้งเล็ก ๆ มาให้ดู มันมีทั้งการ์ตูนพม่า นิทานสอนใจ และหนังสือผี  ผนังห้องที่มีหนังสือตั้งนั้นวางอยู่ เต็มไปด้วยภาพวาดฝีมือเธอกับน้องชาย จากสีไม้สีเมจิกที่มีคนส่งมาให้

“หนูอยากไปประเทศที่สาม เพราะว่าหนูจะไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และเรียน International Relations เป็นนักการทูต” เธอคุยให้ฟังเหมือนว่าการคิดฝันถึงอนาคตอย่างแน่วแน่ของเด็กคนหนึ่งเป็นเรื่องแสนธรรมดา ในเมืองไทย ผู้ลี้ภัยอย่างเธอไม่มีโอกาสอย่างนั้น 

พ่อของเธอบอกว่า แม้เมื่อครอบครัวจะได้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่หากพม่า “กลับได้” เมื่อไร  คนเป็นพ่อและแม่ก็จะกลับทันทีโดยไม่ลังเล “ถึงตอนนั้นเด็ก ๆ คงโตแล้ว เขาก็จะเรียนหนังสือต่อไปที่ไหนก็ได้ตามที่เขาพอใจ”  

เด็กหญิงฟังพ่อกับแม่พูดถึงตัวเองด้วยดวงตาเป็นประกาย รอยยิ้มของเธอทำให้ห้องทั้งห้องสว่างไสว  

สาวน้อยอย่างเธอ ประเทศไหนได้ไปเป็นพลเมือง ประเทศนั้นก็คงสว่างไสว

23 กันยายน 2565
ภาพประกอบ : ภาพถ่ายขบวนอารยะขัดขืน Gen Z โดยฝีมือสมาชิกครอบครัว และภาพวาดฝีมือสาวน้อย

Related