ลี้ภัยคือก้าวไปข้างหน้า
การสู้รบใหญ่ที่กองกำลังกะเหรี่ยงตีเข้ายึดฐานทัพเซ่บอโบคืนจากกองทัพพม่า เกิดก่อนโรงเรียนในชุมชนเซ่บอโบเปิดปีการศึกษา 2565 ถ้าทหารพม่ายังเสริมกำลังมาที่ฐานเรื่อย ๆ เด็ก ๆ ก็จะไม่สามารถเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัย
หากการสู้รบก็ไม่จบสิ้น กองทัพพม่าพยายามโจมตีฐานคืน ก่อนระเบิดลงชุมชนเซ่บอโบเมื่อ 2 กรกฎาคมซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 3 คนนั้น ชาวบ้านเซ่บอโบต้องอพยพหนีสงครามมาหลายรอบแล้ว บางรอบหนีไปหลบภัยอยู่ในทุ่งในป่าใกล้ ๆ บางรอบก็ข้ามแม่น้ำเมยมาที่บ้านหมื่นฤาชัย อ.พบพระ ฝั่งตรงข้าม
ในเดือนกรกฎาคม ผู้ลี้ภัยจากเซ่บอโบไม่เพียงแต่จะมีชาวบ้านทั้งชุมชน หากยังมีนักเรียนในหอพักโรงเรียนซึ่งเป็นเด็กจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงอื่นทั้งใกล้และไกล และผู้พลัดถิ่นจากเลเก้ก่อ-ผะลูที่เดินลงใต้มาตั้งค่ายพักอยู่ใกล้ ๆ ชุมชนด้วย
แม้จะผ่านไปกว่าปี กลไกการรับผู้ลี้ภัยของไทยก็ยังไม่เดินหน้าไปไหนนอกจากนโยบายกว้าง ๆ ว่าต้องเคลียร์ภาพผู้ลี้ภัยชายแดนออกไปให้เร็วที่สุด ด้วยเหตุนี้ คนจำนวนหลายร้อยจึงต้องสลายหายตัวไปอย่างรวดเร็ว นักเรียนหอพักและผู้พลัดถิ่นจากนอกเซ่บอโบซึ่งมาอยู่ในโบสถ์ในวัดต้องเผชิญกับการเยี่ยม “ทำความเข้าใจ” ของเจ้าหน้าที่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า “ไม่ได้ยินเสียงปืนแล้ว กลับได้แล้ว หากยิงกันใหม่ก็กลับมาอีกได้” จนในที่สุด ภาพผู้ลี้ภัยเดินทางกลับอย่าง “สมัครใจ” ก็ปรากฏในสื่อวันที่ 26 กรกฎาคมได้สำเร็จ
แต่ชีวิตที่ยังต้องดำเนินอยู่หลังข้ามน้ำกลับไปคืออะไร? แม้ไม่ล้มตายกันด้วยกระสุนปืน ชาวบ้านก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ กับระเบิดวางอยู่ทั่วไปหมดไม่รู้จะไปเหยียบเมื่อไร คนไม่กล้ารวมตัวกัน ไม่มีใครกล้านอนบนบ้าน โรงเรียนไม่กล้าเปิด หอพักไม่กล้าให้เด็กอยู่ ไม่มีใครรู้ว่าปืนใหญ่จะยิงเข้ามาเมื่อไร หรือเครื่องบินจะมาเมื่อไร ประสบการณ์บอกพวกเขาดีว่า ถ้าไม่ระวังไว้ก็จะหนีไม่ทัน ผ่านไปคืนเดียวจากข่าวผู้ลี้ภัยกลับบ้าน การสู้รบก็หนักหน่วงทั้งทางเหนือและใต้ของบ้านเซ่บอโบ
สามวันถัดมา 30 กรกฎาคม คนเซ่บอโบจึงตัดสินใจขอเข้ามาลี้ภัยในฝั่งไทยอีกครั้ง หลายบ้านไม่เพียงแต่ขนข้าวสารมาเหมือนคราวก่อน หากเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ติดตัวมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะรู้ว่ากองทัพพม่ารุกเข้าใกล้มากขึ้นทุกที
สำหรับพวกเขา การลี้ภัยไม่ใช่แค่การหนีตาย มันคือการขอมาหลบภัยเพื่อจะมีชีวิต ทว่า ทุกอย่างก็ยังดำเนินวนซ้ำดังเดิม เจ้าหน้าที่เข้ามา “ทำความเข้าใจ” อยู่ทุก ๆ วันอีกว่า การสู้รบที่อูเกร้ทะนั้นห่างไกลออกไปมาก (10-11 กิโลเมตร) ถ้าไม่มีเสียงปืนแล้วก็น่าจะกลับไปก่อนได้
“ไม่มีใครฉุดกระชากลากถูหรอก แต่พวกเขาก็รู้สึกกดดัน เกรงใจ กลัวว่าทางโบสถ์จะมีปัญหา กลัวชาวบ้านเราจะมีปัญหา ในที่สุดครูเขาก็พาเด็ก ๆ กลับไป” ชาวบ้านฝั่งไทยเล่าถึงเด็กหอพักโรงเรียนในเซ่บอโบที่มาอยู่ในโบสถ์ “ถ้าอยู่ฝั่งไทย เด็กจะได้เรียนหนังสือ เวลากลับไปพวกเขาเรียนไม่ได้”
การลี้ภัยของเด็ก ๆ ไม่ใช่เพียงการเอาชีวิตให้รอดในวันนี้ แต่มันคือการสร้างอนาคตให้ชีวิต ชุมชน และสังคมภายภาคหน้าอยู่รอดด้วย เมื่อไทยไม่ยอมรับให้นักเรียนมาหลบภัยเรียนหนังสือ และเมื่อการอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในเซ่บอโบทำให้ชีวิตแต่ละวันเหมือนหยุดนิ่ง เด็ก ๆ และครูจึงตัดสินใจออกเดินทางใหม่อีกครั้ง
คราวนี้ พวกเขายอมเสี่ยงอันตรายมุ่งหน้าไปยังเขตปลอดภัยอื่นในรัฐกะเหรี่ยง ที่ซึ่งทุกคนจะได้ลงนั่งสอนและเรียนหนังสือได้ พวกเขารู้ดีว่า หากสงครามขยายไปบริเวณนั้นก็ต้องหนีกันอีก แต่จะเป็นไรไป การอพยพคือการต่อสู้
ผู้ออกนโยบายผู้ลี้ภัยอาจไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า แต่คนลี้ภัยยังก้าวไปไม่ยอมหยุดเสมอ
10 สิงหาคม 2565
ภาพประกอบ : “เมื่อเด็ก ๆ ต้องข้ามน้ำกลับ” โดย ชาวบ้านริมเมย