รัฐไทยจะทำอย่างไรถ้ามีผู้ลี้ภัยรัฐฉานขอข้ามแดนมาหลบภัย
หลังจากถูกผลักดันกลับไป ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงตกอยู่ในสภาพการเป็น “ผู้พลัดถิ่นในประเทศ” ร่วมกับชาวบ้านนับหมื่นที่ยังกลับบ้านไม่ได้ ต้องหลบซ่อนอยู่ในป่าจังหวัดมื่อตรอ หรือพักอาศัยกับชุมชนคนพลัดถิ่นริมน้ำสาละวิน
ทางตอนเหนือของประเทศไทย ตรงข้ามกับ อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย ชาวบ้าน “ดอยก่อวัน” หรือ “ลอยก่อวัน” ตามสำเนียงไต/ไทใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนผู้พลัดถิ่นชาวไตและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐฉานเช่น ลาหู่ อาข่า ฯลฯ จำนวน 2,555 คนก็กำลังหวาดผวาอย่างหนัก เนื่องจากถูกกองทัพพม่ายิงปืนใหญ่เข้าใส่เป็นรอบที่สองเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) ต่อเนื่องจากวันที่ 18 เม.ย.ก่อนหน้า
ผู้พลัดถิ่นที่ดอยก่อวัน พักอยู่ในความคุ้มครองของฐานทัพของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) หรือ SSA ซึ่งอยู่ภายใต้สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน หรือ RCSS (Restoration Council of Shan State) อีกหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารและอยู่ข้างผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
บนชายแดนรัฐฉานใต้กับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ยังมีชุมชนผู้พลัดถิ่นในประเทศอยู่อีก 4 แห่ง คือ ดอยไตแลง ดอยสามสิบ ดอยดำ และบ้านกองมุงเมือง และมีผู้ลี้ภัยในค่ายพักภัยกุงจ่อที่ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง เชียงใหม่อีก 1 แห่ง รวมประชากรทั้งหมดราว 6,000 คน
ชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง หลบหนีการกวาดล้างและการประหัตประหารของกองทัพพม่ามาพักอยู่ริมขอบแดน และไม่สามารถกลับบ้านของตนเองได้มากว่า 20 ปีแล้ว แม้ RCSS จะลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเช่นเดียวกับ KNU กองทัพพม่าก็ยังคงมุ่งขยายกำลังและดำเนินปฏิบัติการทหารทหาร รวมถึงส่งโดรนสอดแนมบินเหนือชุมชนอยู่เป็นปกติ
การโจมตีทั้ง 2 ครั้งดูเหมือนเป็นการข่มขู่ที่ RCSS แสดงตนต่อต้านคณะทหารที่ปกครองประเทศ กระสุนปืนใหญ่ตกในไร่สวนที่อยู่ห่างจากชุมชนออกไปราว 7-8 กม. และไม่มีผู้บาดเจ็บ อย่างไรก็ดี ชาวบ้านบนดอยก่อวันก็ไม่ต่างกับผู้พลัดถิ่นที่อื่น พวกเขารู้ตัวว่าถึงเวลาที่จะต้องเตรียมพร้อมหากถึงวันที่ต้องอพยพหลบหนีเข้าประเทศไทย
คำถามจึงคือ หากสถานการณ์เลวร้ายลงจนผู้คนต้องขอเข้ามาลี้ภัย รัฐไทยจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร
ภาพประกอบ : แผนที่ชายแดนไทย-รัฐฉาน จาก Shan State Refugee Committee (SSRC)