ยุติการนิ่งเฉยต่อความป่าเถื่อน
เมื่อคณะทหารพม่า (SAC) ยืนยันที่จะท้าทายโลกอารยะด้วยการสั่งแขวนคอนักโทษการเมือง 4 คน รวมทั้งโก จิมมี่ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 1988 และโก เพียว เซยา ตอ ศิลปินฮิปฮ็อปผู้ก่อตั้งวง Acid และกลุ่มเยาวชนใต้ดิน Generation Wave ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นส.ส.พรรค NLD โดยไม่แม้แต่จะยอมคืนศพให้กับญาติ
หนึ่งในคำถามแรก ๆ ก็คือ รัฐบาลไทยที่มองเห็นพฤติกรรมโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของกองทัพพม่าที่ได้กระทำอยู่บนขอบแดนรัฐกะเหรี่ยง กะเรนนี เช่นเดียวกับที่เกิดในรัฐคะฉิ่น ฉิ่น มณฑลสะกาย ฯลฯ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จะคิดทบทวนคำแถลงของผู้แทนพิเศษ รมว. กต. ด้านพม่า ที่เรียกร้องให้ยุติการประณาม และเชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่ SAC จะจัดขึ้นต่อไปบ้างหรือไม่
อีกสิ่งหนึ่งที่พึงกระทำโดยด่วน (เพราะควรทำมานานแล้ว) คือนโยบายและคำสั่งในทางปฏิบัติเพื่อให้มีความคุ้มครองทางกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากพม่าหลายพันคน ที่ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในภาวะ “เข้าเมืองผิดกฎหมาย” อยู่ในประเทศไทยมานานเต็มทนแล้ว
การสั่งประหารนักโทษการเมืองทั้งสี่คือคำยืนยันว่า ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากพม่าไม่สามารถกลับประเทศได้โดยปลอดภัย ทุกวันนี้ พวกเขา รวมถึงครอบครัว ลูกเด็กเล็กแดงและคนชรา ถูกรัฐและองค์การระหว่างประเทศปล่อยให้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด และตกเป็นเหยื่อการรีดไถ ข่มขู่ คุกคาม รวมถึงละเมิดทางเพศไม่เว้นแต่ละวันมานานเกินไป จนหลายรายสภาพจิตใจย่ำแย่ใกล้ระเบิดเต็มทน
แม้จะมีคำกล่าวอ้างว่า ทุกสิ่งอันที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านล้วนคือกิจการภายในที่เพื่อนบ้านอย่างไทยไม่อาจล่วงละเมิดได้
ทว่า การนิ่งเฉยต่อความป่าเถื่อน และผลักไสเมินเฉยต่อเหยื่อของความป่าเถื่อนที่หนีมาขอความคุ้มครองในบ้านของเรา ก็คือการสนับสนุนความป่าเถื่อนชนิดหนึ่ง
25 กรกฎาคม 2565
ภาพประกอบ : ภาพวาดโดยอดีตผู้ลี้ภัยการเมือง โก ซอ & ซอ โหง่ ปกหนังสือ “มุ่งหาแสงตะวัน” จัดพิมพ์โดยเพื่อนไร้พรมแดน และภาพข่าว โก จิมมี่ และเพียว เซยา ตอ