ยกเลิกคำสั่งปิดกั้นการศึกษาของเด็กอพยพลี้ภัย 

ยกเลิกคำสั่งปิดกั้นการศึกษาของเด็กอพยพลี้ภัย 

| | Share

ยกเลิกคำสั่งปิดกั้นการศึกษาของเด็กอพยพลี้ภัย 

เพื่อนไร้พรมแดนขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ยกเลิกประกาศสนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็กอพยพลี้ภัยและไร้สัญชาติในพื้นที่ชายแดนเป็นการด่วน ก่อนการลงทะเบียนนักเรียนปีการศึกษา 2566 ในเดือนพ.ค.นี้ 

คำสั่งตามประกาศฯ มีเนื้อหาละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐไทย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ระเบียบ และกฎหมายไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในระยะยาว และทำลายโอกาสแห่งความสัมพันธ์และสงบสุขระหว่างชุมชนชายแดนทั้งสองฝั่งประเทศ

ประกาศสพป.ตากเขต 2 เรื่อง “มาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยฯ”พ.ศ. 2566” อ้างว่า แม้จะมีมติครม. 5 ก.ค. 2548 ที่ให้จัดการศึกษาแก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนหรือไม่มีสัญชาติไทย และมีระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ว่าด้วยหลักฐานการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนฯ พ.ศ. 2548 มารองรับ พื้นที่ จ. ตากเขต 2 ซึ่งรวม อ. ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง ก็เป็นพื้นที่ชายแดนที่มีกลุ่มคนดังกล่าวจำนวนมาก การรับนักเรียนจึงต้อง “ดำเนินการอย่างรอบคอบ” เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน “มิให้มีการกระทำผิดกฎหมายในส่วนอื่นเกิดขึ้น” รวมถึงเพื่อให้ “จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ” 

ซึ่ง ในการ “ดำเนินการอย่างรอบคอบ” นั้น ก็คือ การกำหนดให้โรงเรียนรับเฉพาะเด็กที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยในพื้นที่บริการเท่านั้น  ห้ามรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน เด็กเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย และเด็กเดินทางไปกลับชายแดนโดยเด็ดขาด 

ที่สำคัญ คำสั่งดังกล่าวยังไม่เพียงครอบคลุมโรงเรียนไทยทั่วไป หากยังรวมถึงศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ (migrant school) ทั้งหมดในเขต 63 ศูนย์ ซึ่งถือว่าเป็นสถานศึกษาหลักที่เด็กอพยพลี้ภัยใหม่จะสมัครเข้าเรียน โดยมีการเรียกศูนย์การเรียนฯต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับคำสั่งแล้ว 

ประกาศดังกล่าวขัดแย้งต่อระเบียบของกระทรวงศึกษาฯ พ.ศ. 2548 เอง ที่ระบุไว้ใน ข้อ 6 (4) และ (5) ว่า  ในกรณีที่เด็กไม่มีหลักฐานใด ๆ ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการให้พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชนทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบแนบท้ายระเบียบฯ หรือให้โรงเรียนซักประวัติเพื่อลงรายการบันทึกแจ้งประวัติดังกล่าวเองได้

นโยบายการจัดการศึกษาแก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนหรือไม่มีสัญชาติไทย เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ชายแดนที่มีเด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าจำนวนเด็กกลุ่มดังกล่าวมีอยู่มากเกินไปจึงควรมีแนวปฏิบัติเป็นอื่น จึงไม่สามารถรับฟังได้ 

เพื่อนไร้พรมแดน ขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาฯ ได้ทบทวนและยกเลิกประกาศ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยา ดังต่อไปนี้

1. ประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นจุดยืนของรัฐไทยที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อเด็กทุกคนในขอบเขตอาณาจักร อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อวาระสากล Education for All ในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาแห่งยั่งยืน (Sustainable Development  Goals – SDGs) และขัดต่อรัฐธรรมนูญไทยที่ให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน 

2. การที่ประกาศดังกล่าวออกมาในขณะที่จำนวนเด็กที่ต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษาปัจจุบันทวีคูณมหาศาล ด้วยเหตุที่หลังรัฐประหารพม่า 2564 มีครอบครัวผู้ลี้ภัยหลั่งไหลหนีการปราบปรามของกองทัพพม่ามาพึ่งความคุ้มครอง และมีเด็กที่ครอบครัวส่งมารับการศึกษาขณะที่พ่อแม่ยังหลบหนีสงครามอยู่ภายในประเทศอีกมากนั้น หากมิได้ถูกมองว่าเป็นการไม่ใส่ใจต่อสถานการณ์ (ignorant) ก็อาจเป็นความจงใจที่จะกดดันผู้ลี้ภัย ด้วยการตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กอพยพพลัดถิ่นซึ่งย่อมไม่มีสถานะทางทะเบียน ถือเป็นการแสดงจุดยืนของรัฐ ที่ปฏิเสธความคุ้มครองทางมนุษยธรรม และกดดันขบวนการประชาธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน

3. การประกาศให้โรงเรียน รวมถึงศูนย์การเรียน (migrant school) ไม่สามารถรับเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย คือการผลักดันให้เด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างถาวร ซึ่งย่อมหลุดจากระบบความคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิภาพ ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขและความมั่นคงของมนุษย์ชายแดน ผลักดันให้เด็กเข้าสู่วงจรการใช้แรงงานเด็ก และการแสวงประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทางเพศ หรือกระทั่งการจับอาวุธในสงคราม

4. การจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดน ได้ทำหน้าที่สร้างสัมพันธ์ในชุมชนชายแดนสองฝั่งเสมอมา  ถึงปัจจุบัน การที่มีพลเมืองประเทศเพื่อนบ้านที่ได้เข้ามารับการศึกษาในประเทศไทย สัมพันธ์กับสังคมไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สองของตนย่อมส่งผลดีมากกว่าร้าย  การกดดันไม่ให้สถานศึกษารับเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน คือการตัดโอกาสทั้งหมดที่กล่าวมา

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวได้ออกมาตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 และเป็นที่รับทราบในกลุ่มประชาสังคมไทยอย่างกว้างขวางตั้งแต่เดือนมี.ค. โดยมีผู้ได้ทักท้วงไปแล้วหลายช่องทาง ทั้งผ่านสื่อมวลชน และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หากจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง 

เพื่อนไร้พรมแดน จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาฯ ได้ทบทวนและยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยควรหันมาให้การสนับสนุนให้ศูนย์การเรียน ฯ (migrant school) ซึ่งล้วนดำเนินการด้วยงบประมาณบริจาคจากองค์กรการกุศลกับค่าบำรุงจากผู้ปกครองอยู่แล้วนั้น ได้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลัก Education for All ได้อย่างมีคุณภาพเต็มศักยภาพยิ่งขึ้นไป

21 เมษายน 2566

Related