มีผู้ลี้ภัยอยู่ที่นี่

มีผู้ลี้ภัยอยู่ที่นี่

| | Share

แผนที่นี้ คุณ Pai Deetes ทำไว้เพื่อให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ได้เห็นภาพชัดเจนว่า ผู้ลี้ภัย ทั้งที่รัฐยอมรับและไม่ยอมรับว่ายังอยู่ในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ใด

แม่น้ำสาละวินเป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทยและพม่า ตั้งแต่การลากเส้นแผนที่ราวปีพ.ศ. 2411-2417 อย่างไรก็ดี คนท้องถิ่นก็ยืนยันว่า พรมแดนการแบ่งแยกไทย-พม่าในความรู้สึกของผู้คนนั้นเพิ่งมีมาในช่วงไม่กี่ทศวรรษเอง ก่อนหน้านั้น คนกะเหรี่ยงท้องถิ่นไม่ได้แยแสการถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยพรมแดนรัฐชาติมากนัก ยังคงไปมาเที่ยวหา ล่าสัตว์เก็บของป่า พบรักแต่งงาน ไปร่วมงานศพซึ่งกันและกันอยู่เสมอ จนกระทั่งเริ่มมีความเข้มงวดและสงครามบริเวณชายแดนนี้เอง บรรยากาศจึงเปลี่ยนไป   

จากแผนที่นี้ ฝั่งประเทศพม่า คือรัฐกะเหรี่ยง จังหวัดมื่อตรอ หรือเขตความดูแลของกองพลน้อยที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ข้อมูลจากคุณ Pai Deetes ระบุว่า สาละวินที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยและมื่อตรอมีความยาวทั้งหมด 118 กิโลเมตร

ผู้ลี้ภัยใหม่กลุ่มปี 2564 ที่ยังไม่ได้ถูกผลักดันกลับ กระจายตัวอยู่ตามแม่น้ำสาละวินนี้ นับจากฝั่งตรงข้ามแม่ขอไปจนถึงบ้านผาแดง ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมดูแลของทหารพราน และมีบางจุดตอนบนอยู่ในความดูแลของต.ช.ด.

จากรายงานของ Transborder News ชี้ว่า บริเวณแม่หนึทะ (หรือแม่นึทะตามแผนที่ ฝั่งไทยและฝั่งรัฐกะเหรี่ยงเรียกเหมือนกัน) คือพื้นที่ที่รองรับผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุด หากข้อมูลจากรัฐไทยที่เผยแพร่แก่ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ยังไม่กล่าวถึงผู้ลี้ภัยบริเวณนี้แต่อย่างใด ทำให้น่าเป็นห่วงมากว่า การที่ทำให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ไม่มีตัวตน ก็คือแผนการณ์ชัดเจนว่าจะผลักดันกลับในเวลาไม่กี่วันนี้หรือไม่

11 เม.ย. 2564

หมายเหตุ : ชื่อสถานที่ในคำเรียกของชาวกะเหรี่ยงอาจต่างออกไปจากแผนที่นี้ ตัวอย่างเช่น ท่าตาฝั่ง = แม่คาทะ, สบแงะ = แม่แยทะ, ออเลาะ = ออลอทะ เป็นต้น

Related