มากกว่ากระสุนปืนและลูกระเบิด

มากกว่ากระสุนปืนและลูกระเบิด

| | Share

มากกว่ากระสุนปืนและลูกระเบิด

สัปดาห์ที่แล้ว 29 พ.ค. 2565  ที่อ.โน่ตาก่อ (จะเอ็งไซจี) จ.ดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง หญิงวัย 33 ปีซึ่งกำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว ถูกกระสุนปืนใหญ่ที่กองทัพพม่า-BGF ยิงสุ่มจากฐานสถานีตำรวจเสียชีวิต  ลูกสาววัยเจ็ดขวบของเธอได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และได้รับการพาตัวส่งสถานพยาบาลโดยที่ยังไม่รู้ว่าแม่ของเธอจะไม่ฟื้นขึ้นมาแล้ว 

การเสียชีวิตจากอาวุธสงครามคือความโหดร้ายที่น่าสยดสยอง  ข่าวการเสียชีวิตของชาวบ้านในชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง-กะเรนนีใกล้ชายแดนไทย-พม่าเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน  ทว่าที่อาจน่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าก็คือ การประหัตประหารของกองทัพพม่านั้นก็เหมือนกันกับสงครามทั่วโลกในปัจจุบัน ตรงที่ว่าเราไม่อาจบรรยายภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้จากเพียงจำนวนผู้เสียชีวิตจากการใช้อาวุธ การทารุณกรรมและความรุนแรงทางเพศอันเกิดจากทหารถืออาวุธเท่านั้น

การพลัดถิ่นฐานอันเป็นผลพวงของสงครามนำไปสู่ความสูญเสียอีกมหาศาลและอาจคงอยู่ยาวนานหลายทศวรรษ ภาวะป่วยไข้ เปราะบาง และบาดแผลทางสุขภาพจิตสุขภาพกายอันเรื้อรังยาวนานก็เป็นสิ่งที่คำนวณเป็นตัวเลขได้ยากยิ่ง อีกทั้งการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บที่ปกติป้องกันหรือรักษาได้ เนื้องด้วยภูมิคุ้มกันร่างกายที่ลดต่ำ ภาวะอดอยากยากแค้น ขาดที่พักกันแดดฝน อาหารที่มีคุณค่า น้ำสะอาด และสุขอนามัยที่ดี ก็ยากที่จะบันทึกไว้ได้อย่างเป็นระบบ

หนึ่งในตัวอย่างที่มีการสำรวจและบันทึกไว้โดย International Rescue Committee (Global Burden of Armed Violence, 2011) ก็คือจำนวนผู้เสียชีวิตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งพุ่งสูงถึง 5.4 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2541-2550 หากตัวเลขนี้ นับเป็นผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการสู้รบหรือการใช้อาวุธสงครามเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10

ริมขอบแดนติดประเทศไทย ชีวิตคนพลัดถิ่นที่ต้องหลบซ่อนอยู่ตามป่า ไร่ ทุ่ง ใต้ชะง่อนผา และริมน้ำเมย โดยไม่สามารถข้ามพรมแดนมารับความช่วยเหลือหรืออาศัยในพื้นที่พักพิงที่ถูกสุขลักษณะ หมายความถึงสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ การนอนหลับไม่ได้สนิททุก ๆ คืน ร่างกายที่ร้อนแดดตากฝน  ขาดน้ำสะอาด ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่มีประโยชน์ และความปลอดภัยในเนื้อตัวทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานสาธารณสุขและสวัสดิการชาวกะเหรี่ยง (Karen Department of Health and Welfare) ระบุว่า ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากกำลังเจ็บป่วยด้วยไข้หวัด ท้องร่วง และมาลาเรีย  ขณะที่องค์การสตรีชาวกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organization) ประเมินว่า ผู้ที่น่าห่วงใยที่สุดในภาวะพลัดถิ่นฐานอันยืดเยื้อยาวนาน คือ ทารก เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และแม่ที่กำลังให้นมลูก ซึ่งจากตัวเลขคาดประมาณผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) ในสามเดือนแรกของปี 2565 ราว 150,000 คน ร้อยละ 75เป็นผู้หญิงและเด็ก

ข้อมูลจาก Geneva Declaration on Armed Violence and Development  ซึ่งเป็นกลไกทางการทูตซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อลดภาระโลกจากความรุนแรงที่ใช้อาวุธ (2006-2015) ชี้ว่า โดยทั่วไปแล้ว การเสียชีวิตจากผลพวงของสงครามนั้นอาจสูงถึงกว่าการเสียชีวิตโดยตรงจากการสู้รบ 3-15 เท่า ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้มีความแตกต่างในแต่ละสถานการณ์ประเทศก็คือ ระดับการพัฒนาของประเทศดังกล่าวก่อนเกิดการสู้รบ ความยาวนานและรุนแรงของสงคราม และการเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

ดังนี้ นอกจากจะต้องไม่สนับสนุนกองทัพพม่าที่ก่อกรรมทำเข็ญกับพลเรือนไร้อาวุธอย่างรุนแรงกว้างขวางจนมีการเรียกร้องให้ตีความว่าเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามหรือไม่แล้ว  

ความพยายามท่ีจะนำความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ “ถึงมือ” ผู้พลัดถิ่นในประเทศ “อย่างแท้จริง ก็คือการลดความสูญเสียบนแผ่นดินเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องของคนริมขอบแดนที่รัฐไทยพึงจะกระทำได้

หากเพียงมีเจตจำนง

4 มิถุนายน 2565

ภาพประกอบ
1. ผู้พลัดถิ่นในประเทศริมขอบแดนติดจ.กาญจนบุรี ถ่ายโดย ชาวบ้านบ้องตี้
2. เด็กผู้พลัดถิ่นในประเทศ ถ่ายโดย Karen Information และ
3. ผู้พลัดถิ่นในประเทศแถบริมเมย ถ่ายโดย ชาวบ้านริมเมย

Related