“มันเป็นความชุลมุนฝุ่นตลบ” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (8)

“มันเป็นความชุลมุนฝุ่นตลบ” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (8)

| | Share

“มันเป็นความชุลมุนฝุ่นตลบ” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (8)

วันผู้ลี้ภัยโลก 2565

“ผมเห็นสถานการณ์ที่เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วที่แม่สะเรียงกับสบเมย มันเป็นความชุลมุนฝุ่นตลบ เหมือนงานวัดไม่ได้จัดขบวน ต่างคนต่างทำตามวิถีทางที่ตัวเองถนัด  เมื่อเกิดเหตุที่แม่สอด ผมได้เห็นว่าเริ่มมีการหุงข้าวแต่ละที่แล้วเอาไปรวมกัน มีการจัดทำน้ำพริกที่นั่น มีข้าวกล่องมาแจก มีธงกาชาดมาปัก เหมือนมีพัฒนาการ แต่ก็ยังไม่ดีพอ 

ข้อเสนอแรกจึงคือการจัดกระบวนพวกเรา มีคณะทำงานที่เริ่มจากพวกเรา ที่แม่สะเรียงผมตั้งหลักด้วยการชวน 6 องค์กรมารวมตัวกันก่อน คุยกันว่าใครมีอะไรและใครทำอะไรเพื่อจะได้จัดกำลังและกระจายส่งได้ทั่วถึงไม่ซ้ำซ้อน ต่อมาจาก 6 องค์กรขยายเป็น 12  ที่ผ่านมาความสำคัญอยู่ที่ทูตประชาชน เพราะประชาชนเป็นพี่น้องกัน ความเป็นชุมชนคู่ขนานมีความสำคัญที่เราควรสนับสนุน  

ปัญหาสำคัญของเราคือ การประเมินสถานการณ์จริงทำได้ยาก เพราะเราเข้าไม่ได้ นักข่าวเข้าไม่ได้ ทุกอย่างต้องลับ ๆ ล่อ ๆ เราต้องฟังข้อมูลฝ่ายเดียวจากใบปลิวของศูนย์สั่งการฯจังหวัดที่ทหารเป็นคนเขียนและผู้ว่าฯเซ็น  ซึ่งผลปรากฎว่าผู้ลี้ภัยที่ห้วยอุมป๊ะมีสองพันคน  รายงานกระทรวงต่างประเทศว่ามี 83 คน เป็นต้น  อีกข้อเสนอของวันนี้จึงคือ ผมอยากให้มีศูนย์รวมข้อมูลสักอย่าง งานวิจัยก็มีเยอะแล้ว แต่เราต้องมีข้อมูล เพราะการต่อรองกับรัฐถ้าเราไปมือเปล่าก็กลับมือเปล่า

ที่ผ่านมากลไกรัฐเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีความไม่ชัดเจน อาจจะเกี่ยวข้องกับเป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความละเอียดอ่อน หรือกระทั่งผลประโยชน์หรืออย่างไร  เพราะขนาดว่ารบอยู่ก็ยังมีการส่งแร่กันอยู่ตลอด ที่แม่สอดรถขนข้าวโพดก็ยังรอส่งของยาวเหยียด ที่สำคัญ มีมายาคติเยอะมาก ถ้ามาง่ายเลี้ยงดูอยู่ดีจะอยู่นาน ให้ทหารทำฝ่ายเดียวคนอื่นไม่ต้องยุ่ง เป็นต้น

สำหรับพวกเรา เราทดลองหลายวิธี เขาบอกให้ไปทางกาชาดก็ไป แต่มันก็ไม่เป็นจริง ไปถามอำเภอ อำเภอก็ยังเข้าไม่ได้ต้องไปขอทหาร เราจึงเจรจากับผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนขอให้แต่งตั้งคณะทำงานเพราะรอกลไกข้างบนไม่ไหว แต่เราก็เจอยุทธศาสตร์สองหน้า ระหว่างประชุมเจรจา ผู้ลี้ภัยก็ถูกผลักดันกลับไปอยู่ฝั่งรัฐกะเหรี่ยงแล้ว ในที่สุด ก็ต้องไปเสนอขอเปิดจุดผ่อนปรนแทน เพราะตอนนั้นมันปิดด้วยเหตุผลโควิด ข้าวสารกระป๋องเดียวก็ไม่ให้ส่ง พอมีการเปิดจุดผ่อนปรน ก็เลยมีช่องทางสำหรับทั้งค้าขายและบริจาคได้บ้าง 

ในการนำเสนอนโยบายเราก็ต้องตั้งเป้าให้ถูก  เจ้าภาพงานนี้คือทหาร มหาดไทย ส.ม.ช. ซึ่งมีทหารนั่งหัวโต๊ะ และยุคนี้ก็มักให้มหาดไทยคือสำนักกิจการความมั่นคงภายในออกมาพูดรับหน้ามากกว่า นอกจากนี้เราคงต้องหาเครื่องมือในการกำกับ เช่น ในประเด็นเด็ก คืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 22 หรือปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น”

สันติพงษ์ มูลฟอง

มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล
ภาพประกอบ “แผ่นดินแห่งมิตรภาพ” โดย ด.ญ.​ณัฏฐนันท์ เรียนเป็น ผลงานส่งประกวดงานศิลปะ “เพื่อนไร้พรมแดน” ธันวาคม 2564

Related