มองไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี

มองไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี

| | Share

มองไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี

ข่าวรัฐบาลทหารพม่า (SAC) ประกาศเตรียมประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน คือหนึ่งในหลักฐานอันพิสูจน์ได้ชัดเจน ถึงภัยอันตรายอันเป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยการเมืองจำนวนมหาศาลต้องหนีเอาชีวิตรอดมาขอความคุ้มครองในประเทศไทย

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองแห่งพม่า (Assistance Association for Political Prisoners)  ระบุว่า นับจากรัฐประหาร 1 ก.พ. 2565 ศาลพม่าได้ตัดสินโทษประหารให้แก่นักโทษการเมืองไปแล้ว 113 คน จากการจับกุมทั้งหมด 14,032 ราย โดยปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองคุมขังอยู่อีกถึง 10,976 คน พวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิในการมีทนายความสู้คดีอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และคำอุทธรณ์โทษประหารที่ปกติต้องใช้เวลาหลายปีถูกปัดตกในทันควัน 

คนทั้งสี่ได้แก่ นาย ลา เมียว ออง และ ออง ทูรา ซอ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสังหารหญิงผู้หนึ่งที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นสายลับของทางการพม่า เปียว เซยา ตอ นักร้องวง ACID ผู้บุกเบิกเพลงฮิปฮอปต่อต้านเผด็จการและอดีตสส.นสส.พรรค NLD ในการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2558 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กำกับการโจมตีกองกำลังรัฐบาล และ จอ มิน ยู หรือ โก จิมมี่ อดีตนักศึกษาพม่ารุ่น 88 (พ.ศ.2531) ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาใช้โซเชียลมีเดียปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐ

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากพม่าหลบหนีการปราบปราม ไล่ล่า จับกุม คุมขัง และตัดสินโทษสถานหนักจากกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยและชีวิตที่ดีกว่า  ผู้ลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2564 ต่างจากนักศึกษาปัญญาชนที่หลบหนีมาหลังเหตุการณ์นองเลือดในปีพ.ศ. 2531 และ 2542  เนื่องจากประชาชนที่ลุกขึ้นไม่ยอมสยบให้แก่เผด็จการในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในหมู่คนหนุ่มสาวแล้ว หากเป็นคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงข้าราชการตำรวจ ทหาร ครู อาจารย์ พยาบาล แพทย์ พนักงานรถไฟ ฯลฯ 

พวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมากับครอบครัว เด็กเล็ก คนชรา และสมาชิกครอบครัวที่เจ็บป่วยหรือพิการช่วยตนเองไมได้  ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ โดยปราศจากสถานะทางกฎหมาย กระบวนการขอลี้ภัยไปประเทศที่สามไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายและทันกับความต้องการจำเป็นของคนทั้งหมด  ที่สำคัญ ความประสงค์ที่จะไปประเทศที่สามของหลายคนนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากไม่สามารถอยู่และทำมาหาเลี้ยงชีพในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย 

การเงียบเฉยโดยปราศจากนโยบายรับมือที่ต้องผสานทั้งหลักการสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้สลายหายตัวไป  การปราศจากการจัดการคัดกรองที่โปร่งใสและให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสม โดยปล่อยให้แต่ละคนดิ้นรนอยู่ในความตึงเครียด  ตกเป็นเหยื่อของการรีดไถรายสะดวกและขบวนการค้ามนุษย์เอาเอง ไม่เป็นผลดีทั้งกับผู้ลี้ภัย และความมั่นคงของรัฐและประชาชนไทย

เสียงกู่ร้องของพวกเขาในแต่ละวันดังอยู่ในความเงียบ ไม่มีใครเป็นผู้ลี้ภัยไปตลอดชีวิต  เมื่อวันหนึ่งพวกเขาได้กลับถิ่นฐานหรือไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในที่ใดในโลก เราต้องการให้พวกเขาคิดเห็นกับประเทศไทยอย่างไร

8 มิถุนายน 2565

ภาพประกอบ
1. นักโทษการเมือง โดย โก ซอ และซอ โหง่ อดีตผู้ลี้ภัยจากพม่าในไทย ปี 2535-2541
2-3. เปียว เซยา ตอ และโก จิมมี่ จาก trtworld.com
4. หลังปก “พม่าและข้าพเจ้า : สิบปีที่ผ่านพ้น” บันทึกนักโทษการเมือง โม เอ จัดพิมพ์โดยเพื่อนไร้พรมแดน พ.ศ.​2543

Related