ภัยสงครามไม่ใช่แค่เสียงปืน 

ภัยสงครามไม่ใช่แค่เสียงปืน 

| | Share

ภัยสงครามไม่ใช่แค่เสียงปืน 

แม้จะถูกจับกุมในฐานะ “แรงงาน” ที่แอบข้ามพรมแดนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ข้ามสาละวิน-เมยมายังจ.แม่ฮ่องสอนและตากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ก็คือผู้ลี้ภัยสงคราม

จากรายงานของสำนักข่าวท้องถิ่น และคำบอกเล่าของคนชายแดน กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ซึ่งปฏิบัติการภายใต้คำสั่งของกองทัพพม่า กำลังกวาดต้อน-เกณฑ์ทั้งลูกหาบและทหารจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงนับจากจ.มื่อตรอ (ตรงข้ามแม่สะเรียง-สบเมย) ลงมาจนถึงดูตาทู พะอัน และดูปลายา (ด้านตรงข้ามแม่สอด-พบพระ) 

Karen News ระบุว่า ชายหนุ่มในพื้นที่ซึ่งเคยสมัครเป็นยามรักษาการหน้าคาสิโนในอาณาจักรจีน “ฉ่วยก๊กโก่” อันเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ของ BGF เริ่มถูกพาตัวไปยังสนามรบที่มื่อตรอ โดยการเกณฑ์กำลังพลนี้ได้ขยายไปยังพื้นที่รอบฐานกำลัง BGF อื่น ๆ ในจ.ดูปลายา (27 เม.ย. 65) ขณะที่การกวาดต้อนชาวบ้านจาก 7 ชุมชนริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินในจ.ดูตาทู (ตะโถ่ง) นั้นน่าสะพรึงกลัวกว่า เมื่อ BGF ราว 50 นายนำรถกระบะ 6 คันพร้อมอาวุธครบมือปิดล้อมทางเข้าออกหมู่บ้านเพื่อกวาดต้อนผู้คนไปเป็นร้อย (1พ.ค. 65) โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานการจับกุมชาวบ้านไปเป็นลูกหาบอยู่เป็นระยะ ซึ่งลูกหาบจำนวนมากก็สูญหายขาดการติดต่อกับครอบครัวนับจากนั้น

การบังคับเกณฑ์คนหนุ่มจากชุมชนรอบเมืองเมียจีโง (ก้อตอ) ตอนเหนือของ จ.พะอัน อันเป็นฐานบัญชาการของ BGF ตรงข้ามอ.ท่าสองยาง เพื่อไปเป็นทหาร หรือแรงงานทำถนนขนส่งกำลังพลและเสบียงอาหารจากพะอันขึ้นสู่สนามรบที่มื่อตรอ ก็เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน 

เมียจีโง คือจุดหมายปลายทางของผู้พลัดถิ่นจากมื่อตรอจำนวนหนึ่ง ศูนย์อพยพที่นี่แต่เดิมอยู่ในความควบคุมดูแลของพระตูสะนะซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA โดยได้รับผู้หนีภัยจากการสู้รบระหว่าง BGF (ซึ่งแปรรูปจากDKBA) กับ DKBA กลุ่มที่ไม่ยอมเป็น BGFเมื่อปี 2561 มาก่อน ในปี 2565 ผู้พลัดถิ่นได้เพิ่มจำนวนจากราวสี่พันเป็นกว่าหมื่น เมื่อชาวบ้านมื่อตรอส่วนหนึ่งส่งเด็กและคนแก่ให้หนีภัยสงครามและความอดอยากมาพึ่งพาความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ

“ถึงตอนนี้ คนหนุ่มสาวก็ค่อย ๆ ทะยอยหนีเอาชีวิตรอดออกจากทุกพื้นที่ การถูกจับไปเป็นทหารกับลูกหาบก็คือความตายหรือความทุกข์ทรมาน  ไม่เว้นแต่ผู้ชาย ผู้หญิงก็ถูกจับไปแบกข้าวแบกกระสุนเหมือนกัน และผู้ชายที่หนีการเกณฑ์ทหารบางคนก็พาเมียหนีมาด้วยเพื่อความปลอดภัย ส่วนลูกอาจจะทิ้งไว้ให้พ่อแม่ที่แก่แล้วดูไปก่อนได้” 

การที่คนในวัยใช้แรงงานจะหนีข้ามแดนมาจึงอาจไม่ใช่ “การหาโอกาสทางเศรษฐกิจ” เมื่อการหลบหนีประกาศิตของกองกำลังติดอาวุธไม่มีเสียงระเบิดกับปืนใหญ่ ทางการไทยจึงไม่ได้มองผู้เขาเป็นผู้หนีภัยสงคราม

“ถ้าเราหนีมาโดยที่รู้ว่าจะไม่มีที่อยู่และไม่มีความช่วยเหลือ อย่างเดียวที่ทำได้ก็คือ มีมือมีเท้าก็ต้องหางานทำเลี้ยงตัวให้ไม่อดตาย มันคือการอยู่รอด”

9 พฤษภาคม 2565

Related