พระสงฆ์ผู้ลี้ภัย
“ในฐานะสงฆ์ ก็เป็นหน้าที่ของอาตมาที่จะชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่จะเป็นการกระทำโดยทหารหรือโดยพระสงฆ์เองก็ตาม เมื่อประสบพบความไม่ถูกต้อง การจะเงียบเฉยอยู่ด้วยความหวาดกลัว ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง”
“ระบบการเมืองที่ฉ้อฉล ที่โยมเรียกว่า “เผด็จการ” นั่นแหละ จะทำลายทุกสิ่ง มีคำพังเพยพม่าที่ว่า เมื่อฟ้าถล่มลงมา ทุกชีวาย่อมไม่รอดพ้น” เราจะไม่มีทางมีเศรษฐกิจ การศึกษา สัมมาอาชีพ หรือศาสนาที่แข็งแกร่งได้เลย หากว่าระบบการเมืองนั้นฉ้อฉล”

27 ตุลาคม 2565 พฤหัสบดีที่ผ่านมา พระอาจารย์ อริยวันทา ภิวันทา อดีตเจ้าอาวาสวัดเมียวดีมิงจี มณฑลมัณฑะเลย์ ได้ถึงมรณภาพด้วยโรคหัวใจ หลังจากที่ได้มาเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในอ.แม่สอด จ.ตากอยู่กว่าปี
พระอริยวันทาเป็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กองทัพพม่า เผด็จการ และแนวคิดเหยียดชาติพันธ์ุศาสนาอย่างเปิดเผยเสมอมา ก่อนรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 ท่านยังอยู่ในระหว่างประกันตัวจากคดี “ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนต่อต้านรัฐ” อันเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่กองทัพมอบเงินราว 30 ล้านจั๊ตให้กลุ่มพุทธชาตินิยมสุดโต่งที่สนับสนุนความรุนแรงและความเกลียดชังระหว่างศาสนา
ไม่ถึง 48 ชั่วโมงหลังรัฐประหาร กองทัพพม่าบุกเข้าไปในวัด บังคับสึก และจับตัวพระอริยวันทาไปคุมขัง จากรายงานของสำนักข่าว Myanmar Now พระอริยวันทาในวัย 70 ปีขณะนั้น ได้กล่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้มาจับตัวท่านราวกับจะเทศนาว่า “เหตุที่ประเทศของเราลำบากยากแค้นก็เพราะว่ามีทั้งทหารและสงฆ์ที่ต้องการแต่จะกอบโกย …. จึงเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนที่จะต้องมาช่วยกันแก้ไข…”
เมื่อนักข่าวถามถึงสาเหตุที่ท่านถูกจับกุมตัว พระอริยวันทาได้กล่าวว่า “อาตมาคิดว่า พวกเขาเพียงแต่ไม่ต้องการให้คนอย่างอาตมากล่าวความจริงแท้ ซึ่งย่อมต่างจากความจริงในฉบับของพวกเขา หากจะมีสิ่งใดที่พวกเขาหวาดกลัว นั่นก็คือความจริง”
หลังจากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 6 เดือน พระอริยวันทาได้รับการปล่อยตัว และก็แทบจะทันทีที่ท่านได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำอันโหดเหี้ยมของกองทัพอย่างไม่เกรงกลัว จนลูกศิษย์ต้องช่วยคุ้มกันตัวให้ออกมาลี้ภัยก่อนจะถูกจับกุมอีกครั้งได้อย่างหวุดหวิด
พระอริยวันทาเป็นหนึ่งในประชาชนหลายพันคนจากประเทศพม่า ที่เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยหลังจากรัฐประหาร หากไม่เคยได้รับความคุ้มครองสถานะตามกฎหมาย ไม่ได้รับความช่วยเหลืออันเป็นทางการ และไม่มีตัวตนเป็นที่มองเห็นรับรู้ในระบบของรัฐไทย

“พระอาจารย์เป็นที่เคารพรักของประชาชนคริสเตียน คาธอลิค และมุสลิม ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมายาวนาน นับตั้งแต่การต่อสู้รุ่น 8888” ผู้ลี้ภัยหญิงชาวพม่ารายหนึ่งซึ่งไปร่วมพิธีศพในแม่สอดกล่าว
“มีอีกหลายคนที่อยากไปกราบหลวงพ่อในงานศพก็ไม่กล้าไป เพราะนั่นเป็นวันที่อันตรายมากอีกวันหนึ่งสำหรับพวกเราผู้ลี้ภัย มีคนรู้ว่าเราจะต้องออกมา ทั้งเจ้าหน้าที่พม่าและตำรวจไทย” ผู้ลี้ภัยจากพม่าอีกรายหนึ่งกล่าว เมื่อทั้งพระอริยวันทาและผู้ศรัทธาต่างเป็นผู้ลี้ภัยที่รัฐไทยไม่ยอมรับว่าดำรงอยู่ การปรากฏตัวของพวกเขาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“ผมเสียใจที่ท่านไม่ได้มรณภาพที่บ้านของท่าน และพวกเราไม่ได้จัดพิธีศพให้ท่านอย่างเหมาะสมที่บ้าน แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านไม่ใช่งานศพ มันคือคำสอนของท่านที่บอกให้พวกเราสามัคคีและมุ่งมั่นกับการสร้างประเทศ นำธรรมมะและประชาธิปไตยกลับเข้ามาแทนอธรรมและอยุติธรรมต่อไป”
1 พฤศจิกายน 2565
ภาพประกอบ
1. พระอริยวันทาหน้าศาลมัณฑะเลย์ โดย The Irrwaddy (English)
2. พระอริยวันทา ขณะถูกจับกุมหลังรัฐประหาร โดย Myanmar Now
3. งานศพพระอริยวันทา และภาพนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ โดย ชาวบ้านริมเมย
อ่านประกอบ : This dictatorship will ruin everything, Myanmar Now, 5.08.21, Beyond the Headlines : Monk who opposed military dies on Thai-Myanmar border, Three Saffron Revolution monks among those detained in February 1 raids, Myanmar Now, 3/02/21, Exiled Myanmar Buddhist Leader Dies Demanding Tolerence and Democracy, Irrawaddy English, 31/10/22