“พรรคการเมืองควรออกมาพูดเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (7)

“พรรคการเมืองควรออกมาพูดเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (7)

| | Share

“พรรคการเมืองควรออกมาพูดเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (7)

วันผู้ลี้ภัยโลก 2565

“เราอยู่ในโลกของการเคลื่อนย้ายข้ามแดน  ถ้าทุกคนไปยืนอยู่ตรงสามเหลี่ยมทองคำเชียงแสน หันซ้ายจะเจอสบรวกหรือแม่น้ำรวกแบ่งเขตแดนไทยกับเมียนมา จากจุดนี้ขึ้นไปทางแม่น้ำสาย แม่สลอง ดอยตุง ไปจนถึงฝาง ก็คือชายแดนไทย-พม่า 150 กว่ากม. มีทหารป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยอยู่ตลอด แต่การข้ามแดนก็เกิดขึ้นตลอดเวลาเหมือนกัน

หลังรัฐประหารเมียนมา กลางเดือนมี.ค. ทหารไทยที่แม่ฟ้าหลวงซ้อมแผนรองรับผู้หนีภัยการสู้รบ  รัฐไทยมีปฏิกิริยาที่เร็วมาก ที่เชียงรายเราไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน  ตอนนั้นมีการกำหนดว่า ถ้ามีคนข้ามมาจะรองรับยังไง จะคัดกรองยังไง แต่หลังจากนั้น คนกลับไม่ได้เข้ามาแบบที่เขาวางแผนไว้  ถ้าตามข่าว อาจเคยเห็นข่าวผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เป็นนางแบบมาถูกจับที่เชียงราย อันนี้ไม่มีการรองรับ ไม่มีการคัดกรอง ซึ่งโชคดีเขามีหมายจับมาตรา 505 ในเมียนมา และมีคนมาให้ความช่วยเหลือจนได้ไปประเทศที่สาม  ทางศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงรายของเราซึ่งตอนแรกเน้นช่วยผู้ประสบปัญหาจากโควิด ก็ได้พบเจอคนที่หนีมาด้วยเหตุผลทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเงียบ ๆ เหมือนกัน แม้จะไม่เยอะเท่าตากกับแม่ฮ่องสอนที่มีการสู้รบ 

ผู้ที่หนีความขัดแย้งทางการเมือง มีคนเคยเข้าร่วม CDM  มีคนเป็นครูที่ถูกหมายหัว และหลายคนก็หนีการเกณฑ์ทหารโดยกองกำลังแทบทุกฝ่าย  คนเหล่านี้บางคนถูกดำเนินคดี ซึ่งที่เชียงรายจะโดนสามข้อหา คือ พรบ.คนเข้าเมือง พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ และพรบ.ฉุกเฉิน  คนโชคดีหน่อยถูกส่งไปศูนย์กักตัวตามมาตรการโควิด อยู่ที่นั่น 14 วันถูกตรวจโควิด 3 รอบ พอมีเวลาติดต่อญาติเพื่อนฝูงได้ แต่บางคนก็ติดต่อใครไม่ได้ก็มี  ตั้งแต่ปลายปี 2564 มีคนหนีภัยเป็นเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น เด็กสิบขวบมากับพ่อแม่ บางทีพ่อแม่อยู่เมืองไทยฝากให้เด็กเข้ามากับญาติพี่น้อง  เวลาถูกจับถ้าเป็นเด็กเล็กจะให้ออกมาอยู่กับญาติพี่น้องได้ แต่พอเป็นวัยรุ่น 15-16-17 ปี เจ้าหน้าที่มักปัดอายุขึ้นให้เป็น 20 ปี ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ และขังเหมือนผู้ใหญ่ 

นี่คือสถานการณ์ปัญหาที่เกิดที่เชียงรายซึ่งรัฐยังไม่มีแผนการรับมือ โจทย์จากการพูดคุยเมื่อเช้าคือ เราอยากเห็นประเทศเราเป็นแบบไหน สำหรับผม นั่นคือเราจะสร้างชาติเรายังไงให้สัมพันธ์กับการย้ายถิ่นข้ามแดน เป็นไปได้ไหมที่จะพูดถึงคนข้ามแดนในฐานะที่เป็นพลเมืองแบบใหม่ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคการเมืองยังไม่เคยพูด 

พรรคการเมืองควรออกมาพูดเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติอนาคตเราต้องผลักดันให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายก้าวหน้า ออกมาพูดเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติได้แล้ว เรายังไม่เคยได้ยินจากปากของเขา ยังไม่เคยได้ยินเลยว่าเขามีจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องการข้ามชาติอย่างไร”

สืบสกุล กิจนุกร
สำนักวิชานวัตกรรมสังคม
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

Related