พม่าที่พลิกผัน (2)

พม่าที่พลิกผัน (2)

| | Share

พม่าที่พลิกผัน (2)

“วิกฤตสิทธิมนุษยชน” ของประเทศพม่า ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับที่รัฐไทยมักกล่าวถึงในเชิง แค่ ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับพรรค NLD หรือรัฐบาลพลัดถิ่น NUG หรือ ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์ 

ทว่า วิกฤตสิทธิมนุษยชนในพม่าที่เรากำลังพูดถึงกัน คือการที่กองทัพพม่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยุทธการปราบปรามตอบโต้ผู้ต่อต้านโดยมองพลเรือนเป็นศัตรู ปฏิบัติการโจมตีโดยไม่แยกแยะระหว่างผู้ถืออาวุธกับพลเรือนไร้อาวุธ การโจมตีสถานศึกษา โรงพยาบาล และสถานที่สำคัญทางศาสนาทุกศาสนา และการใช้ยุทธการปิดกั้นอาหารเพื่อให้คนอดอยาก ซึ่ง การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาอันรุนแรงมาก ว่าจะเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามหรือไม่นี้ ถือเป็นเรื่องที่รัฐไทยต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนระมัดระวังให้มาก 

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาด้วยว่า เหยื่อของปฏิบัติการที่กล่าวมาส่วนหนึ่งนั้นเป็นเครือญาติของประชาชนไทยชายแดน การดำเนินความสัมพันธ์ก็ยิ่งควรนำปัจจัยอันละเอียดอ่อนนี้มาพิจารณา 

นอกเหนือไปจากนั้น เมื่อเราพูดถึง “วิกฤตสิทธิมนุษยชน” ของประเทศพม่า ณ บัดนี้ เรายังหมายรวมถึงทุกสภาวะอันเป็นผลจากความรุนแรงทางการเมือง นับแต่วิกฤตสาธารณสุข อันได้แก่การขาดแคลนบุคลากรทางแพทย์ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง ไล่ล่า หลบหนี ลี้ภัย เสียชีวิต ฯลฯ ไปจำนวนมาก การขาดแคลนยารักษาโรค อันเนื่องมาจากนโยบายจำกัดการนำเข้าและขนส่ง การล่มสลายของงานควบคุมโรคติดต่อและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นต้น

เรายังหมายถึงวิกฤตด้านการศึกษา ที่เด็กและเยาวชนไม่ได้เรียนหนังสือมา 3 ปีตั้งแต่โควิด ไม่สามารถไปเรียนได้ในระบบของรัฐพม่า และในเขตชาติพันธุ์ก็ต้องคอยหนีสงคราม อพยพ พลัดถิ่นไม่รู้จบสิ้น

เรายังหมายถึงความรุนแรงทางเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ธุรกิจปิดตัว ไม่มีงานทำ เพาะปลูกไม่ได้ ปลูกได้ก็ขายไม่ได้ ขายได้ก็ขนส่งไม่ได้ กระทั่งการซื้ออาหารจำนวนมากเพื่อไปขายปลีกในชุมชนก็กระทำไม่ได้ เพราะกองทัพได้แต่กลัวว่าอาหารจะไปถึงมือฝ่ายต่อต้าน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ว่าจะเป็นความล่มสลายของกฎหมายและระบบยุติธรรมซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือกำจัดผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร การบังคับใช้แรงงานลูกหาบในสนามรบ การบังคับเกณฑ์ทหาร การใช้ทหารเด็ก และการผุดขึ้นของธุรกิจมืดสารพัดรูปแบบบนพื้นที่ชายแดน ล้วนเป็นปัญหาความมั่นคงของไทยและภูมิภาค อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

วิกฤตของพม่า จึงคือวิกฤตของไทยไปด้วย การพลิกผันของพม่า จึงควรคือการพลิกผันในเชิงความคิดและนโยบายของเราด้วย  ความพลิกผันนี้ได้เกิดขึ้นในพม่าไปแล้ว การดำเนินสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่พลิก ได้แต่ปักหลักที่ความเป็นมหามิตรระหว่างกองทัพทั้งสองแบบเดิม ไม่น่าจะทำให้ชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองไปได้แต่อย่างใด

(ยังมีต่อ)

7 ตุลาคม 2565
เสวนา “พม่าที่พลิกผัน” ร่วมจัดโดยคณะนิติศาสตร์ ม.ช., RCSD, SEM, KPSN และเพื่อนไร้พรมแดน
ภาพประกอบ โดย KPSN

Related