พม่าที่พลิกผัน (ตอนจบ)

พม่าที่พลิกผัน (ตอนจบ)

| | Share

พม่าที่พลิกผัน (ตอนจบ)

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า ก็ด้วยเหตุที่รัฐไทยเคยประสบปัญหากับการจัดการค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งยังปิดไม่ได้ถึงทุกวันนี้อยู่ 9 แห่ง กับกรณีความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดกับผู้ลี้ภัยนักศึกษาพม่าศูนย์มณีลอย จึงทำให้ต้อง “พลิกผัน” กันใหม่จนนำไปสู่ “นโยบายที่ว่าไม่มีนโยบาย” 

ทว่า การแก้ปัญหาโดยเลิกจัดการกับปัญหาไปเสียเลยนั้น ก็ย่อมไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี เพราะการไม่จัดการ หรือทำไม่รู้ไม่ชี้ แสดงทีท่าราวกับว่าวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆภายในที่ไม่เกี่ยวกับใครนอกประเทศ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไป มีแต่จะทำให้ปัญหาธรรมดากลายเป็นวิกฤต และจากวิกฤตก็กลายเป็นมหาวิกฤต 

การรีบผลักดันให้ผู้ลี้ภัยกลับไปให้พ้นสายตาโดยเร็ว ไม่ได้สามารถทำให้ผู้ลี้ภัยหายตัวไป แต่กลับเกิดสภาวะที่ผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) และผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนเป็นคน ๆ เดียวกัน เดี๋ยวถูกผลักกลับไปเป็น IDPs อีกไม่นานก็จำต้องหนีกลับมาใหม่เป็นผู้ลี้ภัย วนไปเวียนมาอยู่เช่นนี้เป็นปี อีกส่วนหนึ่งก็ต้องต้องพยายาม “หายตัว” ไปให้ได้ในฝั่งไทยโดยกระจัดกระจายไปทั่ว เมื่อประกอบกับนโยบายรัฐที่กดดันให้การส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ต้องกระทำกันอย่างลับ ๆ ล่อ ๆราวกับเป็นปฏิบัติการผิดกฎหมาย ความช่วยเหลือก็ยากที่จะทั่วถึง หรือเข้าถึงคนที่มีความต้องการจำเป็นที่สุด 

ทั้งหมดทั้งมวลของ “การไม่มีนโยบายผู้ลี้ภัยเพราะไม่มีผู้ลี้ภัย” จึงได้ไปเพิ่มความรุนแรงให้แก่วิกฤตการการพลัดถิ่นฐาน ทำให้การแผ่ขยายของความสูญเสียและปัญหาไกล ลึก และซับซ้อนขึ้น ดังที่ได้กล่าวมา

หากเราลองใช้จินตนาการกันดู โดยเป็นจินตนาการที่ไม่เพ้อฝัน ทว่าตั้งอยู่บนความรู้ความเข้าใจต่อสังคม จิตวิทยา สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ตามสามัญสำนึกปกติว่า ณ บัดนี้ เรากำลังมีเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นประชากรของภูมิภาคเป็นหมื่น ๆ คนบนชายแดนไทยจากเหนือลงใต้ ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยการ “หนี” ตลอดเวลาไม่รู้จบ ทั้งหนีทหารตำรวจฝั่งพม่า และทหารตำรวจฝั่งไทย อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปบ้าง

จินตนาการนึกภาพถึงเขาเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งคนแก่ไปจนถึงลูกเด็กเล็กแดง ทั้งหมดล้วนไม่ใช่อาชญากร แต่ต้องใช้ชีวิตอยู่ กิน นอน แบบชั่วคราว เคลื่อนย้ายไปมาไม่รู้จบ อยู่ในความหวาดกลัว ตึงเครียด หลบ ๆ ซ่อน ๆ จนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล วัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับ ตลอดจนการเข้าถึงชีวิตทางวัฒนธรรม และการศึกษา เด็ก ๆ ที่ขอมานั่งเรียนหนังสืออย่างปลอดภัยในฝั่งไทยก็ถูกผลักดันกลับไปดังปรากฏเป็นข่าว และเด็กเหล่านี้บางคน สุดท้ายก็อาจหลุดจากระบบการศึกษาไปโดยถาวร

ณ วันนี้ เพียงปีกว่าผ่าน เราเริ่มเห็นการกลับมาระบาดของมาลาเรียที่ชายแดนอย่างรุนแรงหลังจากห่างหายไปนาน เราเริ่มได้เห็นการลักลอบขนส่งคนรวมผู้หญิงและเด็กจากพื้นที่อพยพเข้าสู่เมืองชั้นในของไทย หากสถานการณ์ยังถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไปวันแล้ววันเล่า ก็อาจคาดเดากันได้ไม่ยากว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้น 

การยอมรับความจริง และใช้ศาสตร์ด้านการจัดการเข้ามาแก้ปัญหา จะทำให้งานสาธารณสุข การศึกษา จัดระเบียบแรงงาน ตลอดจนงานความมั่นคงปลอดภัย การคุ้มครองเด็ก การกำจัดการค้ามนุษย์ ฯลฯ เป็นไปได้และเดินหน้าได้ ประชาชนเหล่านี้คือพลเมืองของภูมิภาค และรัฐไทยมีโอกาสอันดี ที่จะพลิกผันนโยบายกับวิธีการจัดการเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ และเพื่อบรรเทาปัญหาความมั่นคงทางสังคมของประเทศไทย และของภูมิภาค

ไทยมีโอกาสอันดีที่จะได้มีประชาชนเพื่อนบ้านที่รู้สึกเป็นมิตรกับเรา แทนที่จะขมขื่นกับประสบการณ์บนแผ่นดินของเรา และเราก็มีโอกาสอันดีที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันกับประชาชนจากพม่า แทนที่จะก้าวถอยหลังและล่มจมไปด้วยกัน 

ภาคประชาชนส่วนหนึ่งพร้อมก้าวไปข้างหน้าแล้ว

———-

7 ตุลาคม 2565 
เสวนา “พม่าที่พลิกผัน” ร่วมจัดโดยคณะนิติศาสตร์ ม.ช., RCSD, SEM, KPSN และเพื่อนไร้พรมแดน
ภาพประกอบ “ผู้ลี้ภัยสาละวิน” (มี.ค. 64)  โดย ชาวบ้านสาละวิน cr KPSN

Related