ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ผู้หนีภัยการสู้รบ

ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ผู้หนีภัยการสู้รบ

| | Share

ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ผู้หนีภัยการสู้รบ

สิงหาคม 2564 ชาวบ้านมื่อตรอจำเป็นต้องหลบซ่อนเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ในบ้านตนเอง หากโชคร้ายก็จะถูกพบเจอโดยกองทัพพม่า หรือเหยียบกับระเบิดซึ่งฐานทัพพม่านำมาฝังไว้เป็นจำนวนมาก ล่าสุด 25 ส.ค. ชาวบ้านหมู่บ้านก้อปู อ.บูโธ จ.มื่อตรอที่เหยียบกับระเบิดใกล้บ้าน ต้องถูกส่งตัวมารักษาในโรงพยาบาลฝั่งไทยและสูญเสียขาข้างขวาไปตลอดกาล 

เมื่อฐานทัพพม่ากระจัดกระจายทั่วมื่อตรอ ก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัย  19 ส.ค. กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงได้บันทึกเหตุการณ์ที่ชาวบ้านหญิง 3 คนจากบ้านก้อปู ถูกจับตัวไปเป็นลูกหาบและโล่ห์มนุษย์ให้กับกองทัพพม่า พวกเธอโชคร้ายถูกพบเจอโดยหน่วยทหารที่เดินทางมายังฐานทัพใกล้หมู่บ้าน ทั้งหมดถูกซ้อม เตะ และกระทืบซ้ำโดยไม่มีการตั้งคำถามสอบสวนใด ๆ

หญิงทั้งสามถูกบังคับให้แบกของเดินนำหน้าหน่วยทหารไปจนถึงจุดหมายที่ลำห้วยแห่งหนึ่ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวโดยมีบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจติดตัวมา

การจับตัวชาวบ้าน บังคับใช้แรงงานเป็นลูกหาบแบกเสบียงและกระสุน โดยให้เดินนำหน้าเพื่อว่าหากทหารฝ่ายชาติพันธุ์พบเจอก็จะไม่กล้ายิงใส่ประชาชนตนเองนั้น เป็นยุทธการที่กองทัพพม่ากระทำตลอดมาหลายสิบปี และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการพลัดถิ่นฐาน หลบลี้หนีภัยเข้าป่า หรือขอข้ามมาหาที่ปลอดภัยในฝั่งไทย  

ดังนั้น เกณฑ์การรับผู้ลี้ภัยเฉพาะผู้ “หลบหนีการสู้รบ” ซึ่งหมายความอย่างแคบว่าจะต้องมี “การปะทะ” กันระหว่างทหารสองฝ่าย หรือการโจมตีทางอากาศดังที่ผ่านมา ตลอดจนถึงกำหนดว่าการสู้รบซึ่งจะเป็นเหตุให้ยอมรับผู้หนีภัยนั้นจะต้องอยู่ไม่ห่างจากชายแดนไทยเกิน 2 กม. จึงเป็นเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางมนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง

เพราะสิ่งที่โหดร้ายที่สุด ไม่ใช่การยิงปะทะกันระหว่างทหารสองฝ่ายซึ่งชาวบ้านสามารถหลบหนี หรือมักได้รับคำเตือนให้หลบหนีไปก่อนล่วงหน้าได้ หากคือ การที่กองทัพพม่าปฏิบัติต่อพลเรือนดังเช่นศัตรู 

เมื่อเป้าหมายของปฏิบัติการคือพลเรือนไร้อาวุธ สงครามจึงโหดร้ายได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอให้ได้ยินเสียงสาดกระสุน

ภาพประกอบ :
มื่อตรอในฤดูฝน โดยชาวบ้านสาละวิน และแผนที่มื่อตรอของกลุ่มสิทธิมนุษยยชนกะเหรี่ยง (KHRG) แสดงให้เห็นหมู่บ้านก้อปู

Related