ผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย
แม้การโจมตีทางอากาศอย่างหนักในช่วงปลายเมษายนจะห่างหายไปด้วยเหตุที่กองทัพพม่าหันไปให้ความสำคัญกับรัฐคะฉิ่น ปฏิบัติการทางทหารในมื่อตรอก็มิได้ถูกยกเลิก โดยเฉพาะเมื่อกองทัพพม่าเรียกกำลังเสริมจากทหารกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) 500 นายเข้ามาในเขตจังหวัดตะโถ่ง (กองพลที่ 1) ต่อเนื่องถึงมื่อตรอซึ่งติดกัน
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลชาวกะเหรี่ยง (KIC) ระบุว่า นับแต่ 27 มี.ค. เป็นต้นมา มีการโจมตีทางอากาศ (ทิ้งระเบิดและกราดยิง) รวม 27 ครั้ง ทิ้งระเบิดไปทั้งหมด 47 ลูก ปะทะกันระหว่างทหาร 407 ครั้ง และยิงปืนใหญ่เข้าชุมชน 575 ครั้ง นอกจากบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาลจะเสียหายแล้ว ยังมีพลเรือนไร้อาวุธเสียชีวิต “โดยตรง” 14 คน บาดเจ็บ 28 คน
นอกจากการเสียชีวิตโดยตรงจากอาวุธสงคราม ยังมีผู้เสียชีวิตจากผลพวงของสงครามและการพลัดถิ่นฐานอีกไม่ทราบจำนวน ทั้งนี้ เนื่องจากความหิวโหย ความป่วยไข้ที่ไม่ได้รับการเยียวยารักษาหรือดูแลอย่างเหมาะสม ร่างกายที่อ่อนแอจากการขาดอาหาร ที่พัก การพักผ่อนขณะอยู่ในความเครียด รวมถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตตากแดดตากฝนอยู่เกือบตลอดเวลา
นอกจากรายงานข่าวของสื่อมวลชนถึงหญิงครรภ์แก่ที่เสียชีวิตระหว่างทางขอมาคลอดที่โรงพยาบาลฝั่งไทยแล้ว ล่าสุด ยังเด็กพิการที่เสียชีวิตระหว่างการหนีภัยมาประเทศไทยอีก 1 ราย และคาดว่ายังมีที่เราไม่ทราบอีกจำนวนหนึ่ง
ถึงวันนี้ ชาวบ้านมื่อตรอกว่าสามหมื่นยังคงเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศตนเอง พวกเขาไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตน และกำลังขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะข้าวสารอย่างหนัก ที่ผ่านมา ยุ้งฉางถูกทำลาย ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้ข้าวสารที่พกติดตัวไปเปียกปอนเสียหาย ขณะที่กองทัพพม่าปิดเส้นทางขนส่งอาหารจากเขตเมืองเข้าพื้นที่ และความช่วยเหลือจากทางฝั่งไทยก็เข้าไปได้ยากลำบาก หรือล่าช้ามากด้วยการปิดพรมแดน รวมถึงการยิงข่มขู่ ดังเช่นรายงานข่าวถึงฐานทัพพม่าที่ยิงเรือชาวบ้านแม่สามแลบ ซึ่งกำลังพยายามขนความช่วยเหลือไปให้ผู้พลัดถิ่นซึ่งอยู่ตอนใต้ลงไป เมื่อวันที 4 พ.ค.นี้
ท่ามกลางความอดอยาก ยังมีรายงานถึงทหารพม่าซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเช่นเดียวกัน ได้เข้าปล้นหรือหยิบฉวยอาหารของชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่สามารถแม้แต่จะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก จึงหมายความว่าจะไม่มีข้าวให้เก็บเกี่ยวได้ในปลายปี
สัญญาณสำคัญของความอดอยากก็คือ ผู้พลัดถิ่นและชาวบ้านทั่วไปเริ่มต้มข้าวแทนการหุง เพื่อจะได้ปริมาณเยอะให้อิ่มท้อง สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้ว การกินข้าวต้มเละ ๆ แทนข้าวสวยหุงสุก คือความหมายของความยากแค้นที่แท้จริง
วิกฤตมนุษยธรรมในมื่อตรอไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับความรุนแรงทั้งหมดในประเทศพม่า หากเส้นพรมแดนที่มองไม่เห็น ย่อมไม่สามารถปิดกั้นให้ความเดือดร้อนจำกัดอยู่ในเฉพาะจังหวัดหรือประเทศหนึ่งได้
อาเซียนและรัฐไทย ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องพยายามดำเนินบทบาทในการสนับสนุนสันติภาพและประชาธิปไตยให้กลับคืนมาสู่ประเทศพม่าแล้ว บทบาททางมนุษยธรรม ในการรับผู้ลี้ภัย และอำนวยความสะดวกให้แก่การเดินทางความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็สำคัญยิ่ง
6 พฤษภาคม 2564
ภาพประกอบ : ผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยง ถ่ายภาพโดย ชาวบ้านสาละวิน