ผู้พลัดถิ่นกะเรนนีกำลังต้องการความช่วยเหลือ

ผู้พลัดถิ่นกะเรนนีกำลังต้องการความช่วยเหลือ

| | Share

ผู้พลัดถิ่นกะเรนนีกำลังต้องการความช่วยเหลือ

ขณะที่กองทัพพม่าระดมสรรพกำลังโจมตีพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง  จนส่งผลให้ชาวบ้านหลายหมื่นคนต้องพลัดถิ่นฐานทั้งในประเทศ และข้ามแดนมาประเทศไทยแล้ว สถานการณ์รัฐกะเรนนี (Karenni) ซึ่งอยู่ตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงก็เริ่มรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน 

ชาวกะเรนนี ซึ่งมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะยา กะยอ กะยัง ปะกู ฯลฯ หลายพันคน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในดินแดนของตนเอง และจำนวนไม่น้อยที่ทะยอยเคลื่อนย้ายมาใกล้ชายแดนไทย 

เช้านี้ (21 พ.ค.) นอกจากการสู้รบระหว่างกองทัพของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (Karenni National Progressive Party หรือ KNPP) กับกองทัพพม่า ที่พยายามจะเข้าโจมตีสถานที่ฝึกอบรมการป้องกันตัวสำหรับเยาวชนที่เข้าร่วม Civil Disobedient Movement (CDM) ที่เมืองปาซองแล้ว ยังมีการปะทะกันอย่างหนักระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองกะเรนนี (Karenni Defense Force หรือ KDF) กับทหารพม่าที่เดมอโซ-ลอยก่อ (เมืองหลวง)​ อีกด้วย

หลังจากที่หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้เข้ามาคุกคามชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วม CDM ข่มขู่จะเผาหมู่บ้านและลงโทษอย่างหนัก และจับกุมเยาวชนที่เข้าร่วม CDM เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช้าวันนี้ KDF หรือกลุ่มประชาชนติดอาวุธ ยิงตอบโต้และเผารถของทหารพม่าที่ระดมยิงใส่ชุมชนก่อน

การก่ออาชญากรรมของกองทัพพม่าในทั้งเขตเมืองและชนบทของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ผลักดันให้พลเรือนหลายหมื่นคนพลัดถิ่นฐาน ไม่ว่าจะภายในประเทศ หรือหลั่งไหลข้ามพรมแดนมาประเทศไทยเมื่อเหตุการณ์หนักหนาสาหัสเกินกว่าจะเสี่ยงชีวิตอยู่ต่อไหว

การให้พื้นที่พักพิงปลอดภัยแก่ผู้คนที่หลบหนีการประหัตประหารเป็นหน้าที่ของรัฐในโลกอารยะ  หากการรับผู้ลี้ภัยเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ตราบใดที่กองทัพพม่าไม่หยุดยั้งการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนของตนเอง  

คำถามที่สำคัญจึงคือ รัฐไทยจะสนับสนุนกองทัพที่ทำร้ายประชาชนจนประชาชนต้องหลบหนีตายมาพึ่งพิงไทยต่อไปเช่นนี้หรือ ผลประโยชน์ด้านการค้าระยะสั้นกับคณะรัฐประหาร คุ้มค่ากันกับมโนธรรมสำนึกที่ถูกกัดกร่อนจากการพยายามปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับปัญหา และการปฏิเสธมนุษยธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือ

21 พฤษภาคม 2564

ภาพประกอบ “อพยพ” โดย คนกะเรนนี, ภาพมุมสูงค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี #1 โดย Justin Michael, ภาพข่าวจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสำนักข่าวกะเรนนี

Related