“ปล่อยให้ชุมชนชายแดนเป็นชุมชนชายแดนอย่างที่เคยเป็นมา”
เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (4)
วันผู้ลี้ภัยโลก 2565
“จริงอยู่ว่ารัฐไทยมีแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จะใช้หรือไม่ใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่แผนที่ว่าก็ออกแบบให้กับสถานการณ์ที่คนไหลเข้ามากันเยอะ ๆ เท่านั้น เราไม่มีแผนรองรับการเคลื่อนย้ายในรูปแบบที่หลากหลายกว่านี้ ถามว่าไทยไม่รู้หรือว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร จริง ๆ แล้วมันไม่ได้คาดเดายากอะไร เพียงแต่ดูเหมือนรัฐบาลจะใช้อยู่แค่สองทางเลือก คือ ให้เข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ไม่รับแล้วผลักให้กลับไป เมื่อไม่มีการรองรับกับการย้ายถิ่นรูปแบบอื่น ๆ คนที่เข้ามาก็ต้องกระจายไปสถานะอื่น ๆ เหมือนที่คุยกันมาแต่ต้น
สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในปีที่ผ่านมาก็คือ ทำไมการจัดการของรัฐไทยมันดูไม่คงที่ไม่แน่ไม่นอน การจัดการค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่พอเป็นผู้ลี้ภัยใหม่กลับกลายเป็นการดูแลของทหาร ซึ่งเข้าใจได้ว่า กองทัพต้องเฝ้าระวังป้องกันเขตแดน แต่ว่าทหารไม่ควรมามีหน้าที่ในการจัดการผู้คน ที่สำคัญ นี่คือการจัดการผู้คนชายแดนที่เป็นเพื่อนข้างบ้าน คือทั้งเพื่อนทั้งญาติก็ว่าได้ เพราะในความเป็นคนชายแดน คนข้างบ้านเราก็เป็นญาติพี่น้องเรา วิธีคิดบางอย่างของทหารทำให้การจัดการมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เมื่อมองแต่มิติความมั่นคง พอเกิดสถานการณ์ขึ้นมา การตั้งรับก็เป็นไปอย่างขลุกขลักยากลำบาก
แต่เราก็ได้เห็นว่าการจัดการที่แม่สะเรียง แม่สอด อุ้มผางของคนในพื้นที่ ซึ่งมีความเข้าใจบริบทของการอพยพเคลื่อนย้ายนั้นน่าสนใจมาก ถ้าหากว่าเราปรับวิธีให้รัฐไม่ต้องเอาตัวเองไปเป็นศูนย์กลางทุกอย่าง แต่ให้กลไกการจัดการโดยชุมชนหรือพื้นที่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็น่าจะดี รูปแบบของแม่ฮ่องสอนที่จัดตั้งคณะทำงานที่มีภาคประชาชนเข้าร่วมด้วยนั้นน่าสนใจ เพียงแต่ว่าคณะทำงานมันยังไม่มีอำนาจหน้าที่จริง ประเด็นสำคัญจึงคือความกล้าหาญของจังหวัดนี่เอง ในความเป็นท้องถิ่นทำอะไรได้หลายอย่าง ผมไม่คาดหวังว่ารัฐบาลหรือสมช.จะคิดอะไรกับเรื่องผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่าเพราะเขามีตะขอเกี่ยวหลังอยู่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่พื้นที่ที่มีความเข้าใจจะสามารถจัดการได้ มันอาจจะมีช่องกฎหมายที่จังหวัดจะสามารถเปิดทางให้ขนส่งสินค้าจำเป็นต่อชีวิตคนเข้าไปได้ หรือวางกลไกการรับผู้ป่วยผู้บาดเจ็บจากสงครามเข้ามารักษาที่มีประสิทธิภาพชัดเจนขึ้นได้ด้วย
ชุมชนชายแดนตั้งแต่แม่สะเรียงลงมาถึงตากเป็นชุมชนที่อยู่ด้วยกันมานาน พึ่งพาอาศัยกันมาตลอด จริง ๆ แล้วช่วงระหว่างรอการกลับบ้าน มันก็เปิดโอกาสให้คนได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ อย่างเช่น ให้คนที่หนีภัยมาได้ทำงานระยะสั้นในช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวหรือเริ่มเพาะปลูกบางอย่าง เป็นต้น เพื่อที่เขาก็จะได้สามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องตกเป็นผู้พึ่งพามาก ขณะที่ฝ่ายชุมชนไทยก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ในพื้นที่อุ้มผางมาจนถึงแม่สอดมันมีการจ้างงานแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งก็คือ เราปล่อยให้ชุมชนชายแดนได้เป็นชุมชนชายแดนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมานั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
อดิศร เกิดมงคล
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
ภาพประกอบ ผู้พลัดถิ่นลี้ภัยต้นปี 2021 โดย KPSN และภาพถ่ายวิดีโอการประชุมโดย Lanner