ปรับตัว ..เมื่อเหตุ “ฉุกเฉิน”​ จะคือชีวิตประจำวันไปอีกตลอดทั้งปี

ปรับตัว ..เมื่อเหตุ “ฉุกเฉิน”​ จะคือชีวิตประจำวันไปอีกตลอดทั้งปี

| | Share

ปรับตัว ..เมื่อเหตุ “ฉุกเฉิน”​ จะคือชีวิตประจำวันไปอีกตลอดทั้งปี

หนึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า ก้าวไปสู่สภาพที่ความรุนแรง การเข่นฆ่า การทรมาน สังหารโหด เผาทำลาย ทิ้งระเบิด ฯลฯ กลายเป็นสิ่งที่เกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ชาวบ้านที่พลัดถิ่นฐานแถบนี้ซึ่งมีจำนวนรวมกันหลายแสน คือผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ หากเป็นความฉุกเฉินที่ ‘ยืดเยื้อ’ อีกทั้งภายในความฉุกเฉินนั้นก็ยังมีความ ‘ฉุกเฉินยิ่งกว่า’ หรือ ‘ฉุกเฉินในความฉุกเฉิน’ ซ้อนทับไปอีก เช่น เมื่อมีการทิ้งระเบิดลงพื้นที่พักพิงฯของผู้พลัดถิ่น หรือเมื่อมีการสู้รบหนักจนผู้พลัดถิ่นฯต้องข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย เป็นต้น

หลังรัฐประหาร กองกำลังของกลุ่มการเมืองทั้งกะเรนนีและกะเหรี่ยง เดินหน้ายุทธการการเรียกคืนพื้นที่ ตัดเส้นทางขนส่งเสบียง บุกโจมตียึดฐานทัพพม่าเพื่อผลักดันให้ออกไป ขณะที่ยุทธการของกองทัพพม่าก็คือการระดมกำลังเข้าชายแดน การยิงปืนใหญ่อย่างสุ่มเข้าหมู่บ้านนั้นใช้ทุกหนแห่ง โดยเชื่อว่าเป็นการทำลายที่หลบซ่อนและผู้สนับสนุนทหารกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อใดก็ตามที่กองทัพพม่าสูญเสียหรือใกล้จะสูญเสีย ก็มักระดมยิงปืนใหญ่เข้าชุมชนเพื่อแก้แค้น และอาจนำเครื่องบินรบกับเฮลิคอปเตอร์ออกปฏิบัติการทิ้งระเบิดกับกราดยิงปืนกล

ปี 2565 แนวโน้มจึงคือการที่ชาวบ้านชาติพันธุ์จะกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) อย่างยืดเยื้อ และเพิ่มจำนวนขึ้น ค่ายพัก IDPs ขนาดย่อมและใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่งแล้ว รวมถึงริมขอบแดนติดไทยสำหรับผู้ที่หวังจะวิ่งหนีข้ามพรมแดนมาเมื่อจำเป็น แม้ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยอาจลดลงจากปี 2564 มากก็ตาม ทั้งนี้ เพราะเป็นที่รู้ดีว่า รัฐไทย “ไม่ต้องการต้อนรับผู้ลี้ภัย”

“ปีก่อนที่ต้องไปอยู่แบบไม่มีน้ำ ไม่มีส้วม คนเอาอาหารเข้ามาช่วยก็ไม่ได้ แล้วเข้ามาปุ๊บก็จะให้กลับ มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ายังไม่ได้จะตายลงตรงนั้น ก็ไม่อยากข้ามไป” หญิงอดีตผู้ลี้ภัย 2564 กล่าว “เราแค่อยากขอให้รัฐบาลไทยรับเด็ก ๆ กับคนแก่ แล้วไม่ต้องรีบไล่ให้กลับ เพราะจะแบกหามข้ามสาละวินไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่สำหรับเราที่แข็งแรง ก็จะพยายามไม่ไปหรอก”

ถึงวันนี้ ในพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นหลายแห่ง ซึ่งแม้ที่หลับที่นอนจะเป็นเพียงเต็นท์ผ้าใบหรือเพิงกิ่งไม้ และในเพิงเหล่านั้นก็แทบไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย ก็ยังมีระบบโครงสร้างการจัดการ มีการจัดการเรียนการสอน (กระทั่งถึงการสอบ)ให้กับเด็ก ๆ อีกทั้งผู้คนก็ออกหาอาหารยังชีพ แม้พวกเขาจะยังต้องการการสนับสนุนอยู่เพราะไม่ได้ทำไร่ทำนา ก็จะเรียกร้องความช่วยเหลือแบบ ‘เต็มที่’ เฉพาะในภาวะ ‘ฉุกเฉินในความฉุกเฉิน’ เท่านั้น 

ดังนี้  ผู้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็อาจจำเป็นต้องปรับเป้าหมายและวิธีการด้วยเช่นกัน  ผลลัพธ์ระยะยาว อาจเป็นที่ควรต้องคาดหวังมากกว่าผลหรือ output ระยะสั้น (เช่น จำนวนผู้ที่ได้รับอาหารแจก) งานพัฒนาอาจเป็นที่ต้องคิดถึง เสริมเติมไปจากการสงเคราะห์ช่วยเหลือเร่งด่วน และการเคารพในศักยภาพกับการมีส่วนร่วมของผู้พลัดถิ่นฯรวมถึงองค์กรชุมชน (CBOs) ก็มีความสำคัญยิ่ง 

ส่วนสำหรับรัฐบาลไทยนั้น ขอเพียงยอมรับความจริงก่อนเป็นการเบื้องต้น  จึงจะก้าวต่อไปได้ 

31 มีนาคม 2565

Related