ประชาชนไทยเข้าใจสิ่งนี้ว่าอย่างไร
“เจ้าหน้าที่บอกว่า พวกเขาได้ประสานงานแล้ว ทหารพม่าบอกว่าจะไม่ยิง เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็ไม่ต้องกลัวไป ให้กลับไปอีตู่ท่าได้แล้วภายในพรุ่งนี้ การที่ยังอยู่แบบนี้เดี๋ยวคนจะเข้าใจไปว่าที่นี่ยังไม่สงบ มันไม่ดีกับเศรษฐกิจของประเทศ! …
…เขาบอกชาวบ้านว่าต้องกลับไป เพราะว่าการที่คนไทยจะต้องมาคอยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแบบนี้น่ะมันลำบากมาก… ถ้ายังอยู่กันแบบนี้ เขาก็ต้องมาคอยตรวจสอบดูแล ต้องเดินทางมาจากในเมืองแบบเนี้ย ถ้าเกิดมีโควิด ก็เอามาติดผู้ลี้ภัย หรือถ้าผู้ลี้ภัยมีโควิด ก็จะเอาไปติดพวกเขา …
…เจ้าหน้าที่บอกว่า พวกเขาพยายามจะเข้าใจชาวบ้าน และก็หวังว่า ชาวบ้านจะต้องพยายามเข้าใจพวกเขาด้วย ดังนั้น กลับไปซะ ข้าวของที่พักก็ทิ้งไว้แบบนี้แหละ ถ้ามีเครื่องบินมาโจมตีอีกก็ค่อยหนีมาใหม่ก็ได้…
… เขาบอกผู้ลี้ภัยว่า ถ้าคุณเข้าใจผม ผมก็จะเข้าใจคุณ ถ้าคุณไม่เข้าใจผม ผมก็จะไม่เข้าใจคุณ!”
สุ้มเสียงที่ส่งมาจากริมขอบแดนบอกเล่าเช่นนี้ ในฐานะที่ถือว่าประชาชนจากพม่าทุกชาติพันธุ์เป็นมิตรสหาย ตรรกะของประโยคสุดท้ายที่ว่า “ถ้าคุณเข้าใจผม ผมก็จะเข้าใจคุณ ถ้าคุณไม่เข้าใจผม ผมก็จะไม่เข้าใจคุณ” นั้น เป็นที่ยากยิ่งที่จะยอมรับและเข้าใจได้
สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านและประชาชนไทยเลยก็คือว่า เมื่อไม่ปรารถนาจะดูแลผู้ลี้ภัย..เมื่อการดูแลผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องยากลำบาก เหตุใดจึงไม่ยินยอมถ่ายโอนความรับผิดชอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรมนุษยธรรมที่มีประสบการณ์และทรัพยากร และเหตุใดจึงปิดกั้นความช่วยเหลือจากประชาชนไทย ?
8 พฤษภาคม 2564
ภาพประกอบ : การเข้าไป “ทำความเข้าใจ” ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากท่าตาฝั่ง ซึ่งรวมถึงการตรวจค้นกระเป๋าของชาวบ้าน ถ่ายโดย ชาวบ้านสาละวิน