บันทึกนักสู้ในวันหลบภัย (ตอนจบ)

บันทึกนักสู้ในวันหลบภัย (ตอนจบ)

| | Share

บันทึกนักสู้ในวันหลบภัย (ตอนจบ)

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ความช่วยเหลือด้านอาหารที่โรงเรียนได้รับมาอยู่บ้างนั้น ครูกับพ่อแม่จะช่วยกันทำกับข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนการให้เด็กกินได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เท่านี้ทุกคนก็ดีใจมาก ๆ แล้ว เพราะข้าวปลาอาหารมีราคาแพงมาก หาไม่ได้ด้วยในหลาย ๆ แห่ง การเดินทางไปซื้ออาหารจากเมืองเป็นความเสี่ยงสูง ร้านค้าต่าง ๆ ปิดไปเยอะ ที่มีเปิดอยู่ก็ไม่มีกล้าขายให้เราในปริมาณมาก เพราะพวกเขาอาจถูกกองทัพพม่ากล่าวหาว่าแอบสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธได้

การเรียนการสอนที่ดำเนินอยู่นี้ บางโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนในชุมชนอยู่ในเขตที่มีการโจมตีน้อยหน่อย ชาวบ้านจากแห่งอื่นก็เลยตั้งค่ายพัก IDP อยู่ใกล้ ๆ และส่งลูกมาเข้าเรียนร่วมกับเด็กในชุมชน แต่บางโรงเรียนก็เป็นการจัดการเรียนการสอนขึ้นในค่าย IDPs เลย คือมีแต่เด็ก ๆ IDPs ทั้งหมด รัฐกะเรนนีมีขนาดเล็ก การสู้รบเรียกได้ว่าไม่ได้อยู่ห่างจากโรงเรียนเหล่านี้เท่าไหร่นัก แต่บางแห่งก็สามารถดำเนินการเรียนการสอนไปตลอดเทอมแม้จะต้องมีหยุดบ้าง หนีบ้าง ก็เป็นระยะไม่กี่วัน เด็กนักเรียนชายคนหนึ่งบอกว่า “พวกเรานักเรียนต้องพยายามปรับตัว ทำตัวให้พร้อมสำหรับการหนีอยู่ตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้เลยว่าปืนใหญ่จะมา  ถึงเรียนอยู่หากปืนใหญ่มาก็ต้องหนี ผมกลัวมาก ๆ แต่ผมเชื่อว่าทหารของเราจะสามารถดูแลความปลอดภัยเพื่อให้เราเรียนหนังสือต่อไปได้ ”  

ทุกคนต้องปรับตัวกันหมดในสภาพนี้ ครูจำนวนมากขณะนี้เป็นอาสาสมัครจากชุมชนที่ไม่เคยเป็นครูมาก่อน เพราะเมื่อครูผู้ชายต้องไปเป็นกองกำลังปกป้องตนเอง ชาวบ้านที่มีความรู้ก็ลุกขึ้นมาอาสาเป็นครูแทน แล้วก็ต้องมารับการอบรมทั้งทักษะการสอนและการพาตัวเองกับเด็ก ๆ ให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในสถานการณ์สู้รบ 

“เวลามีการโจมตีทางอากาศหรือยิงปืนใหญ่ เด็กนักเรียนกรีดร้อง เด็กเล็กจะร้องไห้ พวกเราต้องพากันวิ่งหนีเอาตัวรอด” ครูอาสาสมัครหญิงบอก ” ในสภาพอย่างนี้มันยากมากที่ฉันจะมีสมาธิกับการสอน และเด็กจะมีสมาธิกับการเรียน แต่เราก็ต้องสอน และก็ต้องเรียน เพื่ออนาคตของเราทุกคน” 

ทุกวันนี้ สถานการณ์มีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ แค่กันยายนเดือนเดียว มีชาวบ้านเสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่ทันทีไป 9 คน เป็นนักเรียนของเราสองคน และยังมีนักเรียนที่บาดเจ็บสาหัสอีกคน เขานั่งเรียนหนังสืออยู่ แล้วก็โดนกระสุนเข้าที่ช่องท้อง ลำไส้ของเขาทะลักออกมา  มีเด็ก ๆ บาดเจ็บอีกหลายคน  โรงเรียนและกระทั่งโบสถ์ซึ่งเคยเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา  เราไม่รู้เลยว่าวันไหน เมื่อไร ที่ไหน กระสุนปืนใหญ่จะตกลงมา หรือเครื่องบินรบจะมาโจมตีเมื่อไร  

แต่ การศึกษายังต้องเดินหน้า “หากเด็ก ๆ ได้หลบอยู่ในเพิงพัก พวกเขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรนอกจากความกลัว”  ครูคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ “การศึกษาช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทางความคิดได้มากขึ้น  และการมีความคิดอ่านนี้มีคุณค่ามาก มันเป็นสิ่งที่ใครก็เอาไปจากเราไม่ได้” 

4 ตุลาคม 2565
ภาพประกอบ : อาหารกลางวันที่โรงเรียนในป่าของเด็กพลัดถิ่น โดยชาวบ้านกะเรนนี

Related